ปธ.กกต.ถก ผอ.กต.จว.ทั่วไทย ฟังปัญหาเลือกตั้ง ขอบคุณร่วมจัดจนเรียบร้อย แม้โหวตไม่ได้บางจุด เชื่อเลือก ส.ว.ไม่น่าต่างกัน คาดโหวตล่วงหน้าได้ 23 ก.พ. จ่อชงศาล รธน.วินิจฉัยเขตที่ไร้ผู้สมัคร โยนตุลาการตีความโมฆะหรือไม่ “บุญส่ง” เผยมี 9 คำร้องโวยโกง “สมชัย” รับการเมืองไม่เจรจาก็ไร้ทางออก เล็งออกคำสั่งช่วย ปชช.อดลงคะแนนหน่วยที่ถูกปิด ย้ำ 6 ก.พ.เคลียร์ทุกปม จ่อนมัสการ “หลวงปู่” ขอใช้พื้นที่พรุ่งนี้
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่โรงแรมเอเชียพัทยา จ.ชลบุรี นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นประธานเปิดการประชุมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จว.) 77 จังหวัดทั่วประเทศ รับฟังปัญหาอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. และเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.รอบใหม่ โดยก็มี กกต.อีก 4 คนเดินทางมารับฟังด้วยตัวเอง
นายศุภชัยกล่าวว่า เป้าหมายของการจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ กกต.ทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย แม้บางพื้นที่ไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้และถูกกดดันแต่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าทุกคนใช้น้ำอดน้ำทนอย่างถึงที่สุด หากสถานการณ์การเมืองของประเทศยังเป็นแบบนี้เชื่อว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ว.ที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 30 มี.ค.นี้จะมีสภาพไม่ต่างกัน ดังนั้นก่อนจัดเลือกตั้ง ส.ว. กกต.จะมีการประชุมชี้แจงภาพรวมอีกครั้ง
“กกต.รับทราบสภาพปัญหาตลอดเวลาว่า กกต.จังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้ถูกคุกคามหนัก บุกถึงบ้าน จึงขอเป็นกำลังใจให้ กกต.ทุกคน และบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งทุกระดับ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งให้กับผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ในการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 23 ก.พ. ที่กำหนดให้ยาวไปถึง 23 ก.พ.เพื่อให้มีความพร้อมในการเตรียมการบัตรเลือกตั้ง การแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ถ้าเร็วกว่านี้จะเร่งรัดมากเกินไป ที่สำคัญการจัดการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่ขัดกฎหมาย” นายศุภชัยกล่าว
สำหรับกรณีของ 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจถึงต้องออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ หรือใช้เพียงประกาศ กกต.โดยจะให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนของเงินเดือนอัตราใหม่ที่มีการตกเบิกนั้นในสิ้นเดือนนี้รับรองว่า กกต.จะได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาสำนักงาน กกต.ถูกปิดล้อมหลายครั้งจึงยังไม่ได้ดำเนินการ และแม้ว่าตอนนี้จะมีที่อยู่กันอย่างไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ก็ดำเนินการให้แล้ว
ส่วนกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดย กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งใหม่หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ
นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า เรื่องร้องเรียนที่ได้รับในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นใน จ.ชลบุรี ปทุมธานี อุบลราชธานี สระบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ 2 เขต เป็นของพรรคพลังชล 2 คำร้อง พรรคเพื่อไทย 4 คำร้อง พรรครวมใจไทย 1 คำร้อง และพรรคชาติไทยพัฒนา 2 คำร้อง ดังนั้นขอให้ ผอ.กกต.จังหวัดเหล่านี้พยามดูแลการสืบสวนสอบสวนด้วย
นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การเลือกตั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของไทย เป็นการเลือกตั้งที่สับสนมากที่สุด แต่วีรบุรุษสงครามจะเกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวาย ทุกคนมีโอกาสเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้ กกต.จังหวัดถือเป็นผู้จัดการเลือกตั้งที่แกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์
นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ระบุว่า อยากให้ทุกคนมีแนวทางร่วมกัน เพราะถ้ามีหลักร่วมกันมั่นใจว่าในการเดินไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้ 1. มีความสุจริตและเที่ยงธรรม 2. หลีกเลี่ยงการปะทะ 3. เป็นอิสระ ทำงานตามใจใครไม่ได้ โดยยึดมั่นการรักษาสิทธิของประชาชน 4. ต้องทำการสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน และ 5. ทุกปัญหาที่สะท้อนมาวันนี้จะได้รับการพิจารณา ทั้งหมดนี้ให้ทุกคนยึดหลักด้วยความมั่นคง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ถ้าการเมืองไม่นิ่ง ไม่คุยกัน ไม่เจรจา คงหาทางออกยาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คนจะประกาศได้อย่างไร หากการเลือกตั้งไม่ครบทุกหน่วย ตอนนี้ขาด 1 หมื่นกว่าหน่วย กกต.จัดการเลือกตั้งได้แต่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ดังนั้นฝ่ายการเมืองต้องไปพูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ให้สถานการณ์เย็นลง จุดยืนของ กกต. คือ ระมัดระวังจัดการเลือกตั้งที่ยังมีปัญหาโดยไม่ผิดกฎหมาย เราจะไม่ทำให้การเลือกตั้งส่วนที่เหลือเสียไป โดย กกตทำผิดกฎหมายเอง หากยังมีประเด็นข้อกฎหมายเราจะหาคำตอบจากฝ่ายกฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมาย ถ้าแตกต่างจากคำตอบฝ่ายรัฐบาลก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งถูกฟ้องร้องเป็นโมฆะ ขอให้กำลังใจทุกคนที่ทำงานกันเต็มที่ ไม่ใช่ 100% แต่ทุกคนทำงาน 200-300% ขอให้ยืนหยัดทำงานต่อไป
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งได้เสนอปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยส่วนใหญ่ต่างแสดงความกังวลว่าการจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกและในเขตจังหวัดทดแทนที่เบื้องต้น กกต.มองว่าจะจัดในวันที่ 23 ก.พ.นั้น ไม่สามารถใช้มาตรา 78 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งที่กำหนดให้ กกต.เขตประกาศงดการลงคะแนนได้ หากเกิดเหตุสุดวิสัย และกำหนดให้มีการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นใหม่โดยเร็ว มาเป็นหลักในการจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทดแทนได้ เพราะมองมาตราดังกล่าวใช้ได้เฉพาะกับกรณีวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่มีการงดการลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้งมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.เดียวกันก็ได้กำหนดถึงกรณีที่ต้องการมีการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าว่าก็เพื่อให้คนที่ติดธุระไม่สามารถใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้ให้บุคคลนั้นขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง
ดังนั้น การจะจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทดแทน จึงน่าจะเรียกเป็นการลงคะแนนล่วงหลังมากกว่า และมาตรา 102 ของพ.ร.บ.เดียวกันยังกำหนดว่าบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าให้นำมานับที่สถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งหากมาภายหลังเริ่มนับคะแนนแล้วให้ถือว่าบัตรนั้นเสียไป แต่ขณะนี้มีการนับคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งไปแล้วเหลือเพียงการรวมเขตของแต่ละเขต นอกจากนี้การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทดแทน ยังอาจกลายเป็นการทำให้คะแนนของพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ที่ทราบผลคะแนนในวันเลือกตั้งแล้วเปลี่ยนไป ซึ่งก็อาจมีการกล่าวหาในภายหลังว่าเกิดจากการกระทำของกกตๆ ทำให้ กกต.เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องและอาจต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา
นอกจากนี้ยังเห็นว่า กรณีที่ กกต.กำหนดให้มีการแจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. - 9 ก.พ. แต่ในข้อเท็จจริงยังจะต้องมีการเลือกตั้งในบางเขต บางจังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องการจะลงสมัคร ส.ว.จะต้องแจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิตามระยะเวลาที่กกต.กำหนดหรือไม่ ส่วนการจะจัดการเลือกตั้งทดแทนที่จะเกิดขึ้น เห็นว่าหากปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยังไม่คลี่คลาย การจัดการเลือกตั้งก็จะยังคงเผชิญกับปัญหาการปิดล้อม การไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการให้ใช้สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง และการเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ขณะเดียวกันการให้ กกต.จังหวัด กกต.เขต ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้งในขณะนี้จะยิ่งเป็นการเติมฟืนในไฟ เพราะยังจะต้องมีการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ กกต.กลางจะเป็นผู้รับหน้าที่ในการไปแจ้งความเอง หรือรอให้สถานการณ์คลี่คลายแล้วจึงค่อยดำเนินการ
ด้านนายสมชัยกล่าวว่า มีประชาชนจำนวนมากสงสัยว่าไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ขอชี้แจงว่า 1. ถ้าหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ถ้าไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ต้องไปแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ 2. ถ้าหน่วยเลือกตั้งงดการลงคะแนนไม่ว่าด้วยสาเหตุใด จะงดการลงคะแนนกี่โมงก็แล้วแต่ก่อน 15.00 น. ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งว่า ไม่ได้ไปใช้สิทธิ เพราะในเรื่องนี้ กกต.จะพยายามออกเป็นมติเพื่อรักษาสิทธิให้ เนื่องจากไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่ไปใช้สิทธิ
“กกต.จะคุยกันและพิจารณาออกเป็นมติหรือคำสั่งเพื่อรักษาสิทธิให้กับประชาชนที่ไม่สามารถไปลงคะแนนได้ ในวันพฤหัสฯที่ 6 ก.พ.นี้ โดยให้ ผอ.กต.เขตแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิแทน ยกเว้นในคนที่ตั้งใจจะลงสมัคร ส.ว.หรือลงสมัครสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือใช้สิทธิเข้าชื่อถอดถอน หรือยื่นเสนอกฎหมายต่าง ๆต้องแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม กกต.จะจัดการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ ส.ว.เมื่อไปใช้สิทธิ ก็จะได้สิทธิกลับคืนมาอยู่ดี” นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นายสมชัยกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยผูกพันกับทุกองค์กร โดยรัฐบาลต้องเสนอ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งไปคิดถึงขั้นนั้น ควรรอก่อน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา กกต.ได้พยายามดำเนินการตามกฎหมาย แต่มีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และกกต.ได้พยายามให้ข้อมูลรัฐบาลแล้วว่าผลที่จะตามเป็นอย่างไร
นายสมชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีประเด็นกรณีผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. และวันที่ 2 ก.พ. แต่หน่วยเลือกตั้งไม่สามารถเปิดจนครบเวลาได้ การไปใช้สิทธิมีต้นทุน ค่าใช้จ่าย และถือเป็นความหาญกล้าด้วยซ้ำ ซึ่งหน่วยที่ไม่สามารถจัดการลงคะแนนได้ครบเวลาจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นคนที่ไปใช้สิทธิแล้วต้องมาใช้สิทธิใหม่ กรณีนี้เราก็เห็นใจ เพราะขัดกับความรู้สึก เนื่องจากไปใช้แล้วครั้งหนึ่ง แล้วต้นทุนค่าใช้จ่ายใครจะรับผิดชอบ แต่ข้อกฎหมาย ถ้าหากยอมให้เอาคะแนนที่มีการเปิดหน่วยเลือกตั้งแล้วไม่ครบเวลา มารวมกับการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่ ก็กลายเป็นวันมีการเลือกตั้ง 2 วันซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียว ดังนั้นถ้าจะให้เอาคะแนนส่วนแรกมารวมด้วยอาจมีปัญหาได้
นายสมชัยกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ที่เสียไปจะต้องจัดเลือกตั้งภายหลังวันเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ.ได้หรือไม่ และบัตรลงคะแนนที่ต้องส่งไปนับที่เขตก่อนเวลา 15.00 น.วันที่ 2 ก.พ. ถือเป็นบัตรเสียหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ กกต.พยามหาทางออก และความชัดเจนในแง่มุมกฎหมาย ถามทั้งสำนักกฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ดังนั้นอาจทำให้การตัดสินใจล่าช้า แต่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ กกต.ทำผิด และถูกฟ้องร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังนั้นในวันพฤหัสฯ ที่ 6 ก.พ.นี้ กกต.จะตัดสินใจในปัญหาต่างๆ ทั้งหมด เช่นเดียวกับการเลือกตั้งล่วงหน้ารอบ 2 ทดแทนวันที่ 26 ก.พ.ที่ยังไม่นิ่ง เช่นเดียวกับการเลือกตั้งใน 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร ก็จะตัดสินใจวันดังกล่าว ตอนนี้รอให้สำนักกฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นที่เป็นเอกภาพ โดยในวันที่ 6 ก.พ. กกต.จะมีคำตอบทุกประเด็นลงมติซึ่งเป็นมติที่สำคัญต่อทางออกของการเมืองไทย
นายสมชัยกล่าวต่อว่า ในวันที่ 5 ก.พ. เตรียมประสานเพื่อไปนมัสการหลวงปู่พุทธะอิสระด้วยตัวเอง โดยจะเจรจาขอเข้าไปใช้พื้นที่สำนักงาน กกต.ในศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยการเดินทางไปในนามส่วนตัว เพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกขึ้น