xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เคาะเลือกตั้งล่วงหน้าย้อนหลัง 20 และ 27 เม.ย.“สมชัย” อ้างไม่อยากกระทบเลือก ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
มติ กกต.กำหนด 20 และ 27 เม.ย.จัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตรอบ 2 และชดเชยวันเลือกตั้งใน 21 จังหวัด เชื่อสถานการณ์ขัดแย้งคลี่คลาย จัดเลือกตั้งได้ “สมชัย” ชี้ไม่อยากให้กระทบเลือกตั้ง ส.ว.ขณะที่หนังสือถึงรัฐบาลออก พ.ร.ฎ.กำหนดเลือกตั้งใหม่ 28 เขต ยังไม่ส่งถึงรัฐบาล

วันนี้ (11 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุม กกต.และการประชุมประธาน กกต.จังหวัด และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่มีปัญหาในการจัดการเลือกตั้งว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการรับฟังปัญหาและประเมินสถานการณ์การขัดขวางการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และมีมติคือ กรณีการกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.และการกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ถูกปิดในวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.รวม 21 จังหวัดนั้น ทาง กกต.จังหวัดได้ให้ข้อมูลความพร้อมในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง การได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

โดยสถานการณ์การขัดขวางการเลือกตั้งพบว่ามีเพียง 2 จังหวัด คือ เพชรบุรี ระยอง ที่มีความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนนี้ ส่วนประจวบคีรีขันธ์ มีความพร้อมจัดเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตที่ 1 และ 2 ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งติดกับชุมพร มีการประเมินว่าหากจัดเลือกตั้งการขัดขวางการเลือกตั้งใน จ.ชุมพร จะขยายตัวลุกลามมากถึง ขณะเดียวกัน เมื่อประเมินถึงภารกิจที่ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่ง กกต.มีแผนที่จะรับสมัครในวันที่ 4-8 มี.ค.และเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค.กกต.จึงมีมติเบื้องต้นว่าในส่วนของการเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัดชดเชยวันที่ 26 ม.ค.รวม 16 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธุ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช ตรัง กทม. สมุทรสาคร สุมทรสงคราม เพชรบูรณ์ ให้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 เม.ย.

ส่วนกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ถูกปิดในวันที่ 2 ก.พ.รวม 18 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต พัทลุง สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช ตรัง กทม. ระยอง เพชรบุรี นราธิวาส ยะลา ปัตตานี นั้นให้มีการจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 เม.ย.ซึ่งกรณีกำหนดวันขึ้นใหม่นี้ ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ณ เขตเลือกตั้งกลางในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ 20 เม.ย.ได้โดยไม่ต้องยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดดังกล่าว ที่ในวันที่ 2 ก.พ.ไม่ได้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้เพราะหน่วยเลือกตั้งถูกปิด ก็สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 27 เม.ย.ได้ โดยคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.จะถูกนำมานับรวมกับคะแนนที่จะได้ในวันที่ 27 เม.ย.

“จากการประเมินของจังหวัดเชื่อว่าการคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะระบาดไปสู่การเลือกตั้ง ส.ว.โดยทุกจังหวัดมีแนวโน้มแบบเดียวกัน ดังนั้นถ้าเอาการเลือกตั้ง ส.ส.ไปผนวกจัดระหว่างการเลือกตั้ง ส.ว.เชื่อว่าจะยิ่งทำให้การคัดค้าน ขัดขวางการเลือกตั้งรุนแรงขึ้นและอาจทำให้การเลือกตั้งทั้ง ส.ว.และ ส.ส.เสียหาย รวมทั้งโดยข้อเท็จจริงหลังการเลือกตั้ง ส.ว.น่าจะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แทนที่มีปัญหาได้ แต่เมื่อไปดูวันแล้ว ก็เห็นว่าหลังการเลือกตั้ง ส.ว.คือ 30 มี.ค.ต้นเดือน เม.ย.วันที่ 6 เม.ย.เป็นวันจักรี อาจมีงานพระราชพิธี จากนั้นเป็นวันที่ 13 เม.ย.เป็นเทศกาลสงกรานต์ จึงไม่อาจกำหนดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเวลานั้นได้ เร็วที่สุดถัดก็ไปก็คือวันที่ 20 เม.ย.และ 27 เม.ย. ซึ่ง กกต.ก็เชื่อว่าเมื่อเวลาทอดยาวไปออกไปสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ น่าจะคลี่คลายได้ ถ้าคลี่คลายไม่ได้ ประเทศชาติก็น่าจะอยู่ยากแล้ว” นายสมชัย กล่าวพร้อมกับตอบแบบติดตลกเมื่อถูกถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเดือน เม.ย.สถานการณ์คลี่คลายให้สามารถจัดการเลือกตั้งว่า “หมอดูบอก”

ส่วนกรณี 28 เขต 8 จังหวัดภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร และ กกต.จะเสนอให้รัฐบาลว่าต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น ขณะนี้หนังสือที่จะส่งถึงนายกรัฐมนตรียังไม่แล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างการปรับแก้ ซึ่ง กกต.จะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (12 ก.พ.)

ด้าน นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำนักงาน กกต.จะจัดเตรียมความพร้อมที่จะจัดการลงคะแนนในวันที่ 20 เม.ย.และวันที่ 27 เม.ย.ส่วนบัตรเลือกตั้งที่มีคนสอบถามกันมากนั้นขอเรียนกว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ถูกปิดล้อม ณ ที่ทำการไปรษณีย์ 3 แห่งในจังหวัดภาคใต้ จะทำลายตามระเบียบ กกต.ส่วนกรณีที่รัฐธรรมนูญระบุว่า จะต้องเรียกประชุมรัฐสภา ภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.นั้น จากตัวบทรัฐธรรมนูญนั้น ได้เร่งรัดให้ดำเนินการภายใน 30 วันจริง แต่หากดำเนินการไม่ทันก็ไม่มีบทลงโทษ ตนขอเทียบเคียงการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2543 ในตอนนั้น กกต. ยังไม่ประกาศ ส.ว.ได้ครบทั้งหมด โดยเหลือ 1 คนต้องใช้เวลาเลือกตั้งใหม่อีก 3 เดือน

ส่วนที่ กกต.อาจถูกมองว่าถ่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้งรอบ 2 นั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า วันนี้ ประธาน กกต.จังหวัด และ กกต.จว.ได้มาบอกเล่าให้ทราบสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้มีปัญหามากๆ โดยเฉพาะภาคใต้ สำนักงาน กกต.ยังถูกปิดอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานที่บ้านพัก ศาลากลางจังหวัดก็ถูกปิด อีกทั้งความคิดเห็นของประชาชนยังเห็นไม่ตรงกัน ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อน และบางจังหวัดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) หายากยิ่งกว่าทอง ดังนั้นจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจจนกว่าจะถึงวันที่ 20 เม.ย.และ 27 เม.ย.เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในระดับหนึ่ง ถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายจะทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งในการเลือกตั้ง ส.ว.จะต้องเตรียมการให้พร้อมหากใกล้เคียงกัน หรือปะปนกับการเลือกตั้ง ส.ส.โอกาสจะดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

รายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า สำหรับหนังสือที่ประธาน กกต.จะทำถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตนั้น มีจำนวน 2 หน้า ระบุตอนหนึ่งว่า เนื่องจาก กกต.ไม่สามารถออกประกาศ กกต.ได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 7 ระบุว่า กกต.จะต้องออกประกาศการรับสมัครภายใน 20 วัน นับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.แต่ขณะนี้ได้ล่วงเลยเวลามาแล้ว ดังนั้น กกต.ไม่สามารถออกประกาศได้ จึงเสนอให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต


กำลังโหลดความคิดเห็น