อดีต กกต.เชื่อสุดท้ายต้องชงศาล รธน.วินิจฉัยเลือกตั้งเพิ่ม 28 เขตอำนาจใครจัด ก่อนจัดเลือกตั้งทดแทนอื่นๆ พ่วงถามเลือกตั้งต่อจะโมฆะหรือไม่ แนะหาคนกลางเจรจา กปปส.-รัฐบาล
วันนี้ (7 ก.พ.) นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า กรณีที่กกต.มีมติให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้มีวันเลือกตั้งใหม่ ใน 28 เขต จังหวัดทางภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร ยังเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย ซึ่ง กกต.ก็ต้องส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไปพิจารณาดูว่าจะออกเห็นตาม กกต.ในการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่หรือไม่ แต่เห็นว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลก็ได้ออกมาระบุชัดเจนแล้วว่า ไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ยังมีผลบังคับใช้อยู่ และอาจบอกว่าเป็นอำนาจของกกต.ที่จะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ในเมื่อหากออกมาเป็นเช่นนี้ กกต.ก็ต้องยื่นเรื่องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 กรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ว่าอำนาจในการจัดเลือกตั้งใหม่เป็นของ กกต. หรือรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหา 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครเลือกตั้ง เพราะอย่างไรปัญหาเรื่อง 28 เขตนี้ต้องได้ข้อยุติก่อนที่จะไปจัดเลือกตั้งทดแทนอื่นๆ
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า ในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ก็ควรระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยว่า กระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมา กรณีไหนที่ดูแล้วเป็นปัญหาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ภายหลังวันที่ 2 ก.พ. หรือเรื่องการนับคะแนนที่อาจมีความไม่โปร่งใส ก็ต้องให้ศาลชี้ชัดมาเลยว่า ตรงนี้จะเป็นปัญหาและอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหา 28 เขตต้องออกเป็น พ.ร.ฎหรือประกาศ กกต. ซึ่งจะได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วเป็นอำนาจของใคร
“ในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้นน่าจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ ได้ข้อยุติ เพราะขณะนี้ทั้ง กกต.และรัฐบาล ต่างฝ่ายต่างยันกันในเรื่องความรับผิดชอบ ส่วนในข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ต้องได้รับการแก้ไขให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแม้ว่ากรณีนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถือว่ากฎหมายมีจุดอ่อน ไม่สามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเลือกตั้งได้ โดยเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นแนวทางที่ดี” อดีต กกต.กล่าว
นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีมูลเหตุที่จะร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้หรือไม่ อาทิ วันเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะ กกต.จะให้ทั้ง 28 เขตออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ จะเกิดความไม่เท่าเทียมกันของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่สามารถใช้สิทธิได้ และประชาชน 1 หมื่นกว่าหน่วยที่ไม่ได้ลงคะแนน แต่มีการยื่นขอลงคะแนนไปแล้ว ขณะนี้ผลคะแนนเลือกตั้งเป็นที่รู้กันโดยทั่วจึงเกรงว่าจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ตนจึงอยากให้ใช้เหตุนี้เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปเลย ถ้าได้ข้อยุติเชื่อว่าสามารถทำให้สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายลงได้ โดยเฉพาะแนวทางการเจรจาระหว่างรัฐบาล และกปปส.ถ้ามีคนกลางพูดคุยก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้