"สมชัย" แจงกกต.ถกหาคำตอบปัญหาเลือกตั้ง ชี้ 28 เขตไร้ผู้สมัคร จัดเลือกตั้งหลัง 2 ก.พ.ส่อโมฆะหรือไม่ เผยมุมมองกกต.เลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกไทย ถือว่าลงคะแนนจริงเพราะยังไม่เปิดหีบ ถ้าเลือกตั้ง 28 เขตต้องไม่นับ ไม่งั้นถือว่าเลือกตั้งอีกวัน รับเรื่องใหญ่ยังไม่ชัดเจน พร้อมปรึกษารัฐ หรืออยู่ที่ศาล ส่วนหน่วยที่เลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ได้ แย้มคุยฝ่ายมั่นคงหากจัดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ ยันบ่ายโมงมีข้อสรุป
วันนี้ (7ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงประเด็นในการหารือของ กกต.ในวันนี้ว่า มีประเด็นการจัดการเลือกตั้งใหม่กรณีการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่เสียไป ซึ่งต้องพิจารณาว่า การจัดภายหลังวันที่ 2 ก.พ.ถือว่าเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ และแม้จัดเลือกตั้งได้ แต่ข้อกำหนดตามกฎหมาย คือ คะแนนดังกล่าวต้องส่งมาที่หน่วยเลือกตั้งภายในเวลา 15.00 น.วันที่ 2 ก.พ.หากส่งหลังจากนั้นถือว่าเป็นบัตรเสีย ดังนั้นกรณีนี้ต้องหาคำตอบให้ได้
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร กกต.ต้องพิจารณาว่าการจัดการเลือกตั้งต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.หรือประกาศ กกต.ถ้า กกต.เห็นว่าต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. ทาง กกต.จะทำหนังสือไปถึงรัฐบาล แต่ถ้าเห็นว่า กกต.ออกประกาศได้เองในวันนี้ กกต.จะออกประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขต ทั้งนี้อีกประเด็นที่ต้องพิจารณากรณี 28 เขต คือหากจัดเลือกตั้งหลังวันที่ 2 ก.พ.จะถือว่ามีวันเลือกตั้งทั่วไป 2 วันหรือไม่ เพราะอาจเป็นเหตุทำให้มีการฟ้องร้องการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้
“ประเด็นที่หลายคนถกเถียงกันคือวันเลือกตั้งกับวันลงคะแนนแตกต่างกันและมีการกล่าวอ้างว่า วันที่ 26 ม.ค.และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรถือเป็นวันลงคะแนน ดังนั้นหากจะจัดเลือกตั้ง 28 เขตภายหลังก็คิดว่าจะเป็นวันลงคะแนน ไม่ใช่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้มีมุมในทางกฎหมายของ กกต.ชี้ให้เห็นว่าประเด็นดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่ว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 ม.ค.หรือการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทั้งหมดถือว่าเป็นวันลงคะแนนจริง เพราะยังไม่มีการเปิดหีบบัตรเพื่อนับคะแนน แต่วันที่ 2 ก.พ.มีการลงคะแนนและเปิดหีบบัตรนับคะแนนที่หน่วยแล้ว ผลการเลือกตั้งส่วนหนึ่งเผยแพร่ออกสู่สาธารณะแล้ว ถ้าการจัดเลือกตั้ง 28 เขตภายหลังถ้าเป็นการลงคะแนนอย่างเดียวจะต้องไม่มีการนับ ถ้ามีการนับคะแนนถือว่าเป็นวันเลือกตั้งอีก 1 วัน ตรงนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องคิดพิจารณาว่า 28 เขตจัดมาภายหลังได้หรือไม่ ถ้าต้องออก พ.ร.ฎ. จะต้องออก พ.ร.ฎ.เพื่อเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดหรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่พอสมควรที่ต้องพิจารณา กรณีที่มีความไม่ชัดเจน กกต.จะปรึกษาหารือไปยังรัฐบาล หรือศาลรัฐธรรมนูญถ้าเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอว่ามีความเห็นต่างในประเด็นข้อกฎหมายเพียงพอแล้ว ก็อาจจะทำเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญทันที”
นายสมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยเลือกตั้งกว่า 1 หมื่นหน่วยใน 18 จังหวัด ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 ก.พ. ทาง กกต.คงพิจารณาจัดการเลือกตั้งโดยใช้อำนาจตามมาตรา 78 โดยกำหนดวันเลือกตั้งใหม่หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆสงบลงแล้ว หาก กกต.ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเป็นเมื่อใด กกต.อาจปรึกษาฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้ช่วยประเมินวัน เวลาที่เหมาะสม การเร่งรีบจัดการเลือกตั้งทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่สงบไม่ประสบความสำเร็จและสิ้นเปลืองงบประมาณ วันนี้ กกต.คงต้องต้องตัดสินใจคงไม่ยืดออกไปแล้ว คาดว่าก่อนเวลา 13.00 น.วันนี้จะมีคำตอบ.