xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"ปู"จะรักษาการไปถึงไหน !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การชุมนุมขับไล่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของมวลมหาประชาชน ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เริ่มก่อตัวที่สถานีรถไฟสามเสน เมื่อปลายเดือนตุลาคม จากกรณีคัดค้าน การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พัฒนาต่อเนื่องมา จนกระทั่งส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกการเป็นส.ส.ยกพรรค และนัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 9 ธ.ค.56

ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจชิงยุบสภา ในเช้าวันที่ 9 ธ.ค.56 ก่อนที่กลุ่มมวลชนจะเคลื่อนไปกดดันที่ทำเนียบรัฐบาล หากนับถึงวันนี้ การต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ก็เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง และทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะ พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (รักษาการ) จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ (2 ก.พ.) มีปัญหา อุปสรรคมากมายดังที่ทราบกันดี จนทำให้ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งทั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขตเลือกตั้งได้ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะประกาศได้เมื่อไร รวมทั้งเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งรอบใหม่แล้ว จำนวนส.ส.ที่ได้จะเพียงพอต่อการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้หรือไม่

คือต้องได้ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ซึ่งจำนวนส.ส.ทั้งหมดมี 500 คน อย่างน้อยต้องมีส.ส.ทั้งสองระบบรวมกัน 475 คน จึงจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ จากนั้นถึงจะเป็นขั้นตอนของการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ทำหน้าที่รักษาการอยู่ จะมีอายุเวลารักษาการไปได้นานเท่าไร หรือจะรักษาการไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดจนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้

ปัญหานี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ได้บัญญัติว่า ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อจะให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172

ดังนั้น เมื่อเลือกตั้งวันที่ 2ก.พ. ระยะเวลาที่จะต้องเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก จึงอยู่ในช่วงที่ไม่เกินวันที่ 2 มี.ค.

ถ้ามีการเลือกตั้งรอบใหม่แล้ว ไม่ว่าจะอีกกี่ครั้งก็ตาม ก็ยังไม่ได้จำนวนส.ส.ถึง 475 คน ก่อนวันที่ 2 มี.ค. แล้วการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกจะเปิดได้หรือไม่ เพราะการเปิดประชุมรัฐสภา หมายถึงการประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับ วุฒิสภา

แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ระบุว่า ในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ให้วุฒิสภา ทำหน้าที่รัฐสภา

ดังนั้น ถ้ายึดตามหลักนี้ การประชุมรัฐสภาครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ก็สามารถทำได้ แต่จะมีเพียงสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้นที่เข้าประชุม ไม่มีส.ส.

ซึ่งตรงจุดนี้ ถือว่าเป็นเจตจำนงที่รัฐธรรมนูญ ประสงค์ให้มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง แม้จะยังมีจำนวนส.ส.ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็ตาม

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ได้บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก

หมายความว่า จะต้องมีนายกรัฐมนตรีตัวจริง ที่ไม่ใช่รักษาการ ภายในช่วงวันที่ 2 มี.ค. ถึง 1 เม.ย.57 ซึ่งการจะเลือกตัวนายกรัฐมนตรีนั้นมาจากการโหวตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น วุฒิสภา ไม่เกี่ยว

เท่ากับว่า เจตนารมย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และมาตรา 127 ต้องการให้รัฐบาลรักษาการ มีอายุไม่เกิน 60 วัน หลังจากวันเลือกตั้ง ซึ่งก็คือไม่เกินวันที่ 1 เม.ย. 57

ดังนั้นรัฐบาลรักษาการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอยู่ได้อย่างมากที่สุดถึงวันที่ 1 เม.ย.เท่านั้น

คราวนี้ลองมาพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน การเลือกตั้งที่จะให้ได้ ส.ส. จำนวน 95 % ของทั้งหมด เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 30 วันนั้น ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการให้สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ก็ไม่อาจกระทำได้

อีกทั้งการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็มีปัญหามากมาย มีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าเป็นโมฆะหรือไม่ การจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ จะทำได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 กำหนดให้วันเลือกตั้ง ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ที่ผ่านมาการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ก็เห็นกันอยู่แล้ว

โอกาสที่การเลือกตั้งครั้งนี้ จะโมฆะ จึงสูงยิ่ง

หากยิ่งลักษณ์ ยังจะดึงดัน เดินหน้าให้มีการเลือกตั้งต่อไป ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังเคลีย์กันไม่ได้ เช่นนี้ ภาพที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าคือ ประชาชน ออกมาปะทะ ออกมาสู้รบกันเองให้บาดเจ็บล้มตาย จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจล่มสลาย ประเทศชาติย่อยยับ

ลาออกเถอะ ยิ่งลักษณ์ รีบตัดสินใจอย่าได้ชักช้า อย่าได้ทำบาป ทำกรรมให้กับเพื่อนร่วมชาติไปมากกว่านี้อีกเลย ที่ผ่านมามันก็หนักหนา สาหัสเกินพอแล้ว เดี๋ยวตายไปจะไม่ได้ไปผุดไปเกิด !!



กำลังโหลดความคิดเห็น