“เสรี สุวรรณภานนท์” อดีต ส.ส.ร.ปี 40 โฟสต์เฟซบุ๊ก ระบุ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จะหมดอายุรัฐบาลรักษาการ 1 เม.ย.นี้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แม้จะยังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ เรียกร้อง “ปู” เห็นแก่ประเทศชาติ ควรลาออกจากตำแหน่งรักษาการ ไม่ควรให้ประชาชนออกมาปะทะกันจนมีผู้บาดเจ็บ ล้มตายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง และยังจะทำให้เศรษฐกิจประเทศล่มสลาย
นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เสรี สุวรรณภานนท์ วันนี้ (4 ก.พ.) ระบุว่า รัฐบาลรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหมดอายุรัฐบาลรักษาการในวันที่ 1 เม.ย. 2557 นี้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ที่ต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มตามตำแหน่งเพื่อบริหารประเทศ ดังนั้น ทางออกของรัฐบาลเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ คือ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการ ดีกว่าปล่อยให้ประชาชนออกมาปะทะออกมาสู้รบกันเองให้บาดเจ็บล้มตาย ซึ่งจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด และดีกว่าปล่อยให้เศรษฐกิจของประเทศต้องล่มสลายพังพินาศเสียหาย เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอยู่ในปัจจุบัน
เนื้อหาในเฟซบุ๊กระบุว่า “ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ทำให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 และทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เท่ากับคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน คงทำหน้าที่รักษาการตามที่พูดกัน
แต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ทำหน้าที่รักษาการอยู่ จะมีอายุเวลารักษาการเท่าใดนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ได้บัญญัติว่า ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ก็เพื่อจะให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ทำให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญก็มีเจตนาที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว และไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปนานๆ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ดังกล่าว
ซึ่งหลังจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตอนนี้ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ายังไม่สามารถเลือกตั้งให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครบจำนวน 95% ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 หากมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 คงมีได้เฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่ทำหน้าที่รัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 เท่านั้น เพราะยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่ถือว่าเป็นเจตจำนงที่รัฐธรรมนูญ ประสงค์ให้มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 มีนาคม 2557
การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาก็มีปัญหามากมาย ที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะหรือไม่?
ส่วนการจัดการเลือกตั้งต่อไปได้หรือไม่นั้น ก็ยังเป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 กำหนดให้วันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ที่ผ่านมาการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ได้บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้ว เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ตามมาตรา 127 โดยจะครบกำหนดเวลาในวันที่ 1 เมษายน 2557
เท่ากับว่า ตามมาตรา 172 และมาตรา 127 ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลรักษาการย่อมมีอายุอยู่ได้ถึงวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น และในที่สุด นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2557 ประเทศไทยก็จะไม่มีรัฐบาลรักษาการอีกต่อไป และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน การเลือกตั้งที่จะให้ได้ ส.ส.จำนวน 95% ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 เพื่อจะให้เปิดประชุมรัฐสภา ภายใน 30 วันนั้น ไม่อาจกระทำได้แน่นอน และการให้สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกดังกล่าว ก็ไม่อาจกระทำได้ อายุของคณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะสิ้นสุดในวันที่ 1 เมษายน 2557
รัฐบาลรักษาการ ก็คงทำหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ทำให้เกิดปัญหาการบริหารประเทศมากมาย ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานมากกว่านี้อีกต่อไป เศรษฐกิจของประเทศก็จะล่มสลาย ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบัน รัฐบาลรักษาการ ควรลาออกจากตำแหน่งในช่วงเวลานี้ ก็จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ซึ่งน่าจะดีกว่ารอไปให้ถึงวันที่ 1 เมษายน 2557 อย่างแน่นอน ดีกว่าปล่อยให้ประชาชน ออกมาปะทะออกมาสู้รบกันเองให้บาดเจ็บล้มตาย ซึ่งจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด และดีกว่าปล่อยให้เศรษฐกิจของประเทศต้องล่มสลายพังพินาศเสียหาย เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอยู่ในปัจจุบัน”