xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

22 ม.ค. 57

เรื่อง อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง
เรียน คณะกรรมการการเลือกตั้ง

เนื่องจากอำนาจในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 , 236 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ ฯลฯ ได้บัญญัติให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมเป็นที่ชัดเจนได้ว่า อำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งนั้o เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ก่อนที่จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น ได้เกิดวิกฤติศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐสภาเพราะได้ร่วมรู้เห็นสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาอันเป็นช่องทางให้มีการคุมอำนาจในทางรัฐสภาให้เป็นสภาเผด็จการได้ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อให้ฝ่ายบริหารทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพื่อล้างความผิดให้แก่ผู้กระทำความผิดอาญา ในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554อันเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้มีการบริหารราชการแผ่นดินที่มิใช่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเท่านั้น แต่เป็นการออกกฎหมายโดยปราศจากซึ่งศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมของความเป็นผู้ปกครองคนอย่างร้ายแรงการบริหารราชการแผ่นดินมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ในการรับจำนำข้าวซึ่งไม่อาจให้ผู้ปกครองดังกล่าวยังคงสถานภาพการเป็นผู้ปกครองได้อีกต่อไป ประชาชนได้ร่วมกันชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและรัฐสภาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่า การกระทำดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ก็ได้มีการกระทำของสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีในรัฐบาลไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่าบุคคลซึ่งเป็นชนชั้นปกครองนั้นมิได้มีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและประเทศชาติเลยแม้แต่น้อยขาดไร้ซึ่งศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นผู้ปกครองใช้อำนาจในการเป็นผู้ปกครองโดยไม่มีหลักนิติธรรมและนิติรัฐ อาศัยเพียงโครงร่างของรัฐสภาเพื่อยกมือเพราะมีเสียงข้างมากมาแสวงหาอำนาจเบ็ดเสร็จ ผลประโยชน์และความไม่ชอบธรรมให้แก่ตนเองและพรรคพวกเท่านั้น

จากการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลและรัฐสภา มหาประชาชนได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจการปกครองประเทศของประชาชนกลับคืนมาจากผู้ปกครอง มีผู้ชุมนุมได้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพื่อให้มีการปฏิรูประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะเห็นว่าการปกครองโดยผ่านการเลือกตั้งที่ได้มีอยู่ในปัจจุบัน มิใช่เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่เป็นระบอบทุนนิยมสามานต์หรือระบอบทักษิณ อันเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ในทุกมิติ เช่น การทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ( ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ) การทุจริตเพื่อให้ได้มาในแหล่งทรัพยากรของรัฐ (ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล) การทุจริตด้วยวิธีการผลาญเงินของรัฐ (นโยบายประชานิยม) ผู้ชุมนุมได้ประกาศยึดอำนาจปกครองในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และในวันดังกล่าวนั้นเอง นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนเพื่อให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันใหม่ โดยได้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ชุมนุมยังคงมีการชุมนุมและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกโดยไม่ต้องรักษาการอีกต่อไป เพราะเป็นการชุมนุมให้รัฐบาลลาออกเพื่อการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เป็นการชุมนุมเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา โดยจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ดังกล่าว

มูลเหตุที่ก่อให้เกิดการชุมนุมเกิดจากการกระทำของรัฐบาลและรัฐสภาที่ได้ใช้อำนาจในฐานะตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างฉ้อฉลและทุจริต และไม่อาจใช้วิธีการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนซึ่งเป็นตัวการได้ด้วยวิธีเดิมอีกต่อไปจำต้องมีการปฏิรูปวิธีการเลือกตัวแทนกันใหม่ การเลือกตั้งที่ได้กำหนดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้นไม่เป็นที่ประสงค์และตรงกับความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นตัวการเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ได้แสดงออกด้วยการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ตัวแทน(ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ) ต้องการให้ตัวการ ( ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ) ไปเลือกตัวแทนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ในขณะที่ตัวการไม่ต้องการเลือกตัวแทนในวันดังกล่าว และไม่พร้อมที่จะไปเลือกตัวแทนของตน จนกว่าจะมีการปฏิรูปประเทศโดยปรับปรุง แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสียก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเป็นปัญหาวิกฤติทางรัฐธรรมนูญ ( Constitutional Crisis ) เพราะมีปัญหาว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคสองนั้นจะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่
และจะดำเนินการต่อไปอย่างไรที่กกต.จะกระทำต่อไปได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์นองเลือดที่จะเกิดขึ้นเช่นที่ได้เกิดมาแล้ว ในวันจับสลากเบอร์พรรคเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 กกต.ไม่ต้องเสี่ยงกับการที่จะใช้เงินของรัฐจำนวน 3,800 ล้านบาท เพื่อความสูญเปล่าในการเลือกตั้ง กกต.ไม่ต้องเสี่ยงกับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นเป็นสงครามระหว่างรัฐบาลรักษาการกับประชาชนในการจัดการเลือกตั้งไนวันเลือกตั้ง กกต.ไม่ต้องเสี่ยงกับการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และไม่ต้องเสี่ยงกับการที่ กกต.จะต้องถูกฟ้องถูกดำเนินคดีในอนาคต คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องวิเคราะห์พินิศจัยปัญหาวิกฤติทางรัฐธรรมนูญให้ถ่องแท้ เพื่อให้ทราบถึงพื้นฐานแห่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ชัดเจนเสียก่อน

ประเด็นแรก ต้องเป็นที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง

ในประเด็นนี้ไม่มีข้อสงสัยเพราะรัฐธรรมนูญ 235 ได้บัญญัติไว้ให้กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดการหรือจัดให้มีการเลือกตั้งได้เลย และจะเข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินการใดๆไม่ได้นอกจากจะต้องให้ความร่วมมือในฐานะเป็นฝ่ายบริหารเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องตรากฎหมาย เพราะกกต.สามารถกระทำได้โดยออกประกาศ หรือออกระเบียบ หรือ ออกคำสั่งได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236

ประเด็นที่สอง พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 มาตรา 5 บัญญัติว่า ให้นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา จะมีผลในทางรัฐธรรมนูญอย่างไร

ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯมาตรา 2 บัญญัติว่า พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนั้นเมื่อพระราชกฤษฎีกาฯได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นั้น ได้ก่อให้เกิดผลเกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ในทางรัฐธรรมนูญทันที เพราะการเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นผู้ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบและมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรให้การรับรอง ผลแห่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการรับรองให้นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สิ้นสุดลงด้วย การยุบสภาจึงทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีโดยขาดคุณสมบัติทางสถานภาพของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 , 171 วรรคสอง ,172 , 180 คงเหลือแต่เฉพาะพระบรมราชโองการแต่งตั้ง “ คณะรัฐมนตรี ” โดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคแรกเท่านั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 181 จึงได้บัญญัติให้ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ต้องอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะมีการยุบสภาตามมาตรา 180 (2)รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ “ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ” ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 181 เท่านั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติมาตราใดที่ได้บัญญัติถึงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 181 หรือมาตราอื่นเลย เพราะนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสภาพไปแล้วเมื่อยุบสภาแล้วจึงไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทางรัฐธรรมนูญ คงมีแต่ “คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี”เท่านั้น โดยได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งในมาตรา 181 ว่า “ คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ” จะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและในฐานะ “ คณะรัฐมนตรี ” ได้ตามมาตรา 181และไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีในทางกฎหมาย ไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีได้ การกระทำใดๆของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ได้กระทำโดยเข้าใจว่าตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ย่อมเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำตามคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติราชการงานในหน้าที่แต่อย่างใด

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนโดยมาตรา 5 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีการ่วมกับประธานกรรมการการเลือกตั้งนั้น เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงแล้วตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลกระทบต่อมาตรา 5 ว่ายังมีนายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรอยู่หรือไม่
ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง การที่มาตรา 5 บัญญัติไว้เช่นนั้น ทำให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเข้ามามีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดการให้มีการเลือกตั้งได้ จึงเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกรณีจึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ดังนั้นพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯมาตรา 5 ย่อมเข้าข่ายมีผลเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ประธานกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯมาตรา 5 เป็นบทบัญญัติที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะทำให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีอำนาจในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่อาจดำเนินการไปได้ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม จึงเป็นเรื่องที่กรรมการการเลือกตั้งจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มาตรา 5 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 หรือไม่

พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯมาตรา 5 ได้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นต่อสาธารณะชนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับนางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” เพราะมวลมหาประชาชนที่มาร่วมชุมนุมซึ่งเป็นตัวการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ไม่ต้องการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา 4 ซึ่ง “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ไม่ยินยอมและยืนยันให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว มีการข่มขู่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้อขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 เพราะไม่อาจดำเนินการเลือกตั้งได้ต่อไป หากดำเนินการต่อไปย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการที่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235

ประเด็นที่สาม คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะเป็นองค์กรการเลือกตั้ง จะต้องทราบเป็นอย่างดีว่า เมื่อมีการยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งนั้น มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 72 โดยรัฐธรรมนูญได้บังคับให้เป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 15- 18 /2556 ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง โดยมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ในขณะที่ประชาชนมาชุมนุมให้รัฐบาลลาออกตั้งแต่ก่อนยุบสภา การยุบสภาจึงมีพื้นฐานมาจากการกระทำผิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ตลอดจนมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ การเรียกร้องของมวลมหาประชาชนที่ขอระยะเวลาเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้มีโอกาสที่ดีกว่าในการได้เลือกคนดีมาเป็นผู้ปกครองนั้นจึงเป็นเหตุผลอันจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในทางรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องใช้พินิศจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ได้กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ดังกล่าว เพราะการใช้อำนาจของกกต.ต้องให้หลักประกันในฐานะเป็นองค์กรของรัฐที่จะต้องยอมรับและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตลอดจนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งด้วย กกต.จึงมีความผูกพันในการใช้อำนาจของกกต.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 การใช้อำนาจของกกต.จะต้องตระหนักว่า ประชาชนเป็นเป้าหมายของการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ใช่เป็นเครื่องมือของการเลือกตั้งการดำเนินการเลือกตั้งของกกต.ซึ่งเป็นการดำเนินการของรัฐ จะต้องเป็นการเลือกตั้งเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ใช่ดำเนินการเลือกตั้งโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือของการเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาชนเป็นปัจจัยของการเลือกตั้งประชาชนไม่ใช่เป็นวัตถุแห่งการเลือกตั้ง การดำเนินการเลือกตั้งโดยมุ่งหวังจะใช้ประชาชนเป็นวัตถุแห่งการเลือกตั้งแล้วการดำเนินการเลือกตั้งของ กกต.ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสอง กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่และความจำเป็นของกกต.ที่จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มาตรา 5 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 235 มีผลใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 หรือไม่ และจะมีผลใช้บังคับได้ หรือ ใช้บังคับไม่ได้ เพียงใดเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น