“ธีระชัย” ส่ง จม.เปิดผนึกเตือนคลังโยกเงินลงทุน 2 ล้านล้าน โดยไม่รอผลการวินิจฉัยของศาล รธน. เพื่อนำไปอุ้มโครงการ “จำนำข้าว” เสี่ยงต่อการขัด รธน. มาตรา 181 (4) ใช้เงินผิดประเภท แฉมีนัยแอบแฝง และเป็นการดำเนินการที่รีบร้อนอาจหวังผลในการเลือกตั้ง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงข้าราชการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับเงินกู้รับจำนำข้าว เรื่อง การตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เนื้อหาระบุว่า เรียน 1.ปลัดกระทรวงการคลัง 2.ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชน ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาเรื่องโครงการจำนำข้าวมาที่รัฐบาล โดยพิจารณาเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ไม่ถือเป็นโครงการใหม่ เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวของรัฐบาล ดังนั้น ถือเป็นหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินมาบริหารหนี้ที่เกิดจากโครงการดังกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีความเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 จึงอยู่ในเงื่อนไขมาตรา 181 (3) นั้น
ผมขอเรียนว่า ในการพิจารณาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะยังมิได้คำนึงอย่างครบถ้วน และรอบคอบในประเด็นต่อไปนี้
1.การโอนวงเงินกู้ที่มีไว้เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (เงินกู้สองล้านล้านบาท) น่าจะไม่ถูกต้อง
วงเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ที่โอนจากโครงการคมนาคม ไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวแทนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินรวม 3,316,330.84 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวงเงินที่เตรียมไว้รองรับการก่อหนี้ตามร่าง พ.ร.บ.ข้างต้น จึงเป็นวงเงินอนาคต ดังนั้น การโอนวงเงินอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงน่าจะไม่ถูกต้อง
2.การโอนวงเงินกู้จากโครงการคมนาคมไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว น่าจะมีผลเป็นการรอนสิทธิคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ทั้งในการดำเนินการโครงการคมนาคมดังกล่าว และในการกำหนดนโยบายการคลังหาแหล่งเงินเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว
เนื่องจากโครงการคมนาคมดังกล่าวน่าจะได้รับการพิจารณามาแล้วอย่างรอบคอบ โดยกระทรวงคมนาคม ดังนั้น เมื่อมีการโอนวงเงินสำหรับโครงการดังกล่าวออกไป คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ย่อมจะไม่สามารถเลือกที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าวได้อีกต่อไป หรือหากจะดำเนินการก็ต้องมีภาระหาเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อการนี้
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่อาจจะประสงค์ที่จะใช้แหล่งเงินจากการขายข้าวให้เป็นแหล่งเงินหลักเสียก่อน แล้วค่อยใช้แหล่งเงินจากการกู้เป็นแหล่งเพิ่มเติมถ้าหากไม่พอเพียง ดังนั้น การโอนวงเงินกู้ดังกล่าวจึงเป็นการรอนสิทธิของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะกำหนดนโยบายการคลังจัดลำดับก่อนหลังของแหล่งเงิน
3.การโอนวงเงินกู้ดังกล่าว น่าจะผิดวัตถุประสงค์ในการกำหนดวงเงินรับจำนำข้าวเป็นวงเงินหมุนเวียน
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้กำหนดวงเงินสำหรับโครงการรับจำนำข้าวในลักษณะที่เป็นวงเงินหมุนเวียน ก็เพื่อกระตุ้นให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดการจำหน่ายข้าว อันจะเป็นการลดความเสี่ยงข้าวเสื่อมสภาพ และป้องกันการทุจริต มิให้มีการชะลอการขายข้าวแบบผ่านคอขวด โดยให้ผ่านผู้ซื้อเพียงไม่กี่รายไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ดังนั้น การโอนวงเงินดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการที่ผิดวัตถุประสงค์เดิม ที่ต้องการลดความเสี่ยงข้าวเสื่อมสภาพ และป้องปรามการทุจริต
4.การที่คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะฯ มีมติโอนวงเงิน และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ดังกล่าวนั้น เป็นมติที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภา จึงน่าจะเข้าบทบัญญัติของมาตรา 181 (3) ด้วย
ถึงแม้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ก็ตาม แต่คณะรัฐมนตรีมิได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ การค้ำประกันหนี้ปรากฏภายหลังในมติของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภา
เรื่องนี้ต้องพิจารณา 2 ประเด็น หนึ่ง มติของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะฯ มีอำนาจที่จะบังคับคณะรัฐมนตรีรักษาการ ให้ต้องไม่คัดค้านการค้ำประกันหนี้ ตามมติของคณะกรรมการดังกล่าวได้จริงหรือไม่ และสอง หากมีอำนาจที่จะบังคับคณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ได้จริง การดำเนินการของคณะกรรมการหนี้สาธารณะฯ น่าจะต้องอยู่ในบทบัญญัติของมาตรา 181 (3) ด้วย
5.การโอนวงเงิน และขั้นตอนการอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติที่เคยใช้เดิม จึงอาจจะมีเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 181 (4)
เนื่องจากการชำระเงินให้แก่เกษตรกรที่ค้าง จะทำให้เกิดผลดีแก่พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องจะมีหลายล้านคนทั้งตัวเกษตรกรเอง และบุคคลในครอบครัว รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการรับจำนำข้าวด้วยดังนั้น ผู้ดำเนินการจึงต้องระมัดระวังมิให้เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 181 (4)
แต่กรณีนี้มีการดำเนินการที่ไม่ค่อยจะปกติอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ
หนึ่ง การโอนวงเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในระหว่างการเลือกตั้ง โดยไม่รอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เป็นการดำเนินการที่รีบร้อน อาจจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง
สอง การโอนวงเงินจากโครงการลงทุนเพื่อสร้างทรัพย์สินวัตถุถาวรให้แก่ประเทศ อันเป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มความสะดวก และลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง อันเป็นโครงการที่สำคัญต่อกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง แต่เปลี่ยนไปเป็นโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นการใช้สิ้นเปลือง และมีโอกาสจะขาดทุน และไม่ได้สร้างวัตถุถาวรใดๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการโอนวงเงินข้ามประเภทเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเป็นปกติ และเมื่อมีการเร่งดำเนินการในช่วงที่มีการเลือกตั้ง จึงอาจจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง
สาม การอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ แทนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเช่นเดิม กลับไปดำเนินการอย่างไม่เปิดเผยผ่านคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ และเป็นการมีมติในช่วงที่มีการเลือกตั้ง จึงอาจจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง
ดังนั้น ผมจึงขอแนะนำให้ท่านใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการดังกล่าว