xs
xsm
sm
md
lg

ข้ออ้างดันเลือกตั้ง 2 ก.พ. กกต.ตอบไม่เคลียร์เลื่อนแล้วม็อบหยุด-กลัว “ปู” โดนฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กับรัฐบาล เรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง ที่สโมสรกองทัพบก วันนี้(28 ม.ค.)
เผยเหตุไม่เลื่อนเลือกตั้ง รัฐบาลอ้าง กกต.ตอบไม่ได้เลื่อนแล้ว กปปส.หยุดชุมนุมหรือไม่ เลื่อนไปนานแค่ไหน ชี้ กกต.คาดการณ์เอง เลื่อนเลือกตั้งทำนายกฯ ผู้ทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.เสี่ยงถูกฟ้อง ท่องคาถาคนค้านเลือกตั้งแค่ส่วนน้อย ชี้หากเลือกตั้ง 2 ก.พ.ถูกฟ้องเป็นโมฆะ ยังมีทางออกตามกฎหมายมากกว่า ยืดเยื้อ 4-5 เดือนก็รับได้

รายงานข่าวแจ้งว่าในการหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับรัฐบาลเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง ที่สโมสรกองทัพบก วันนี้ (28 ม.ค.) นั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกกต.ต่างก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในมุมของตนเอง โดย กกต.เห็นว่าหากเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จะทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และได้มีการนำเสนอปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่ากรณี 28 เขตภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร การที่ไม่สามารถประกาศรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อได้

ขณะที่รัฐบาลมองว่าสิ่งที่ กกต.นำนั้นเป็นการคาดการณ์ที่มองภาพที่จะเกิดขึ้นน่ากลัวเกินไป และตั้งคำถามว่า การเลื่อนการเลือกตั้งจะทำให้การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.จบ และสงบลงหรือไม่ และถ้าเลื่อนแล้วจะเป็นเมื่อไร ซึ่งทาง กกต.ก็ไม่สามารถที่จะให้คำยืนยันในเรื่องเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลระบุว่า การที่ กกต.จะให้รัฐบาลเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น รัฐบาลไม่มีปัญหา ถ้าการออกพระราชกฤษฎีกานั้นไม่ขัดกฎหมาย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็บอกเพียงแต่ว่าการเลื่อนวันเลือกตั้งนั้นทำได้ โดยไม่ได้กำหนดว่าให้เลื่อนเป็นวันใด แต่ให้เป็นการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และประธาน กกต.เท่านั้น

รัฐบาลได้หยิบยกกรณีปี 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะมาเป็นตัวอย่าง ชี้ให้ กกต.เห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้รัฐบาลรักษาการในขณะนั้น และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องสามารถที่เสนอร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ เพราะถือว่าการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 สิ้นสุดไปแล้ว แต่สถานการณ์ในขณะนี้ การเลือกตั้งยังดำเนินอยู่ ไม่สิ้นสุด และที่ลงคะแนนล่วงหน้าไม่ได้ก็ยังไม่ได้มีผลให้การเลือกตั้งเสียไป สิ่งที่ กกต.สะท้อนเป็นการคาดการณ์ และในข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีเฉพาะคนที่คัดค้านการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง โดยจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัดที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา มี 66 จังหวัด หรือ 300 กว่าเขตเลือกตั้งที่การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้เป็นไปอย่างเรียบร้อย และมีแค่ 83 เขตเลือกตั้งเท่านั้นที่มีปัญหา ดังนั้นจะเอาส่วนน้อยเป็นจุดที่บอกว่าการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ และควรต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ไม่น่าจะถูกต้อง รวมถึงถ้าเลื่อนการเลือกตั้งก็มีแนวโน้มผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ 66 จังหวัด ซึ่งได้หาเสียงเลือกตั้งไปแล้วเต็มที่ ก็อาจจะฟ้องรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในฐานะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ และคนที่จะเจ็บตัวที่สุดเพียงคนเดียวก็คือนายกรัฐมนตรี เพราะต้องเป็นผู้ทูลเกล้าฯร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

“รัฐบาลเห็นว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งจะเกิดความเสียหายมากกว่าการเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง เพราะโดยเงื่อนไขของกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบเต็มๆ ในฐานะผู้ทูลเกล้าฯและผู้รับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่ กกต.กลับเห็นว่าถ้าเดินหน้าจัดเลือกตั้งจะเสียหายกว่าการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ กกต.เสนอเป็นเรื่องของการคาดการณ์ว่าจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็เห็นว่า กกต.ควรจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งไปแล้วมีปัญหาอะไร เช่น ในเรื่องกำลังคน ในเรื่องความปลอดภัย ก็จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถภายในใต้กรอบของกฎหมาย และไม่ใช้ความรุนแรง โดยรัฐบาลก็ยอมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เช่น เลือกตั้งแล้วมีมวลชนปิดล้อมก็ยุติการลงคะแนน หรือเลือกตั้งแล้วประกาศ ส.ส.ไม่ได้ครบร้อยละ 95 ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ ระยะเวลาที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ จนกว่าจะได้ ส.ส.อาจต้องล่วงเลยไปเป็น 4-5 เดือน รัฐบาลก็ยอมรับได้ เพราะถ้าถึงจุดนั้นแล้วมีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เสียใหม่ ก็มีหลักประกันทางกฎหมายที่จะทำให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีสามารถเสนอร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดการเลือกตั้งใหม่ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

“รัฐบาลก็พูดว่าเลือกตั้งแล้วก็ไม่ได้หวังว่าจะได้เป็นรัฐบาลต่อไปหรือไม่ เข้าใจสถานการณ์ในขณะนี้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น และโดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ไม่ได้อยากจะเป็นรัฐบาลรักษาการไปนาน เพราะทำอะไรในเชิงการบริหารประเทศไม่ได้ และรู้สึกอึดอัด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 50 ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 40 ที่เขียนห้ามแค่รัฐบาลรักษาการต้องไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อเอื้อต่อการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญ 50 กลับเขียนเงื่อนไขห้ามรัฐบาลรักษาการดำเนินการต่างๆ มากมาย ซึ่งไม่เอื้อต่อการให้รัฐบาลรักษาการบริหารประเทศเลย”

ขณะเดียวกัน ก็มองว่าการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ กกต.ทบทวนการเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้สูญงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ 3,800 ล้านบาทนั้น รัฐบาลก็เห็นว่า การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายก็กำหนดให้ กกต.ต้องทำ เพราะขณะนี้มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง ถ้าไม่ทำ กกต.ก็อาจะถูกฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน ดังนั้น การปฏิบัติตามกฎหมายหากที่สุดแล้วมีการฟ้องร้อง กกต.ก็ยังได้รับการคุ้มครองให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อรัฐบาลสะท้อนมุมมองเหล่านี้ และเป็นผู้มีอำนาจในการที่จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เห็นควรไม่เลื่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ออกไป รวมทั้งตั้งคำถามที่ กกต.เองก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ก็ทำให้ กกต.ต้องเดินจัดการเลือกตั้งตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดต่อไป แต่ที่ทำให้กกต.รู้สึกอุ่นใจขึ้น ก็คือรัฐบาลยืนยันจะสนับสนุนเรื่องกำลังคน อุปกรณ์ในการช่วยจัดการเลือกตั้ง และการรักษาความปลอดภัย โดยจะพยายามไม่ให้เกิดความรุนแรง

กำลังโหลดความคิดเห็น