xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลดชนวนระเบิดเลือกตั้ง คำตอบสุดท้ายอยู่ศาลรธน.จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การถูลู่ถูกังจะเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ทั้งที่รู้ว่านี่เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้ตายกันยกเข่ง สุดท้ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ตัดสินใจยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดชนวน และเป็นคำตอบสุดท้าย โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้พิจารณาและลงมติวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 2557 ออกมาทันการณ์ก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. 2557 และการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. 2557

แต่ถึงแม้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้ปลดชนวนระเบิด แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น การวิเคราะห์มองไปข้างหน้าของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ก่อนที่ศาลรธน.จะมีมติออกมานั้น ได้มองไปใน 2 ทาง คือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นอำนาจของรัฐบาล ทางรัฐบาลจะใช้หรือไม่ใช่ก็ได้ เมื่อมีอำนาจไม่ทำก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ารัฐบาลยอมรับก็ต้องทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ใหม่เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งก็เคยทำมาแล้ว
 
แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด กกต.ก็ต้องมาดูว่าตนเองมีอำนาจแค่ไหน ตามมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจจะเลื่อนวันลงคะแนนออกไปได้ ท้ายที่สุด กกต. ต้องใช้มาตรา 78 แน่นอนก่อนวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะเขตที่ไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)

ย้อนกลับไปถึงการตัดสินใจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เป็นมติเอกฉันท์ของ กกต. โดย กกต. มอบหมายให้ นางสาวสุรณี ผลทวี ผู้อำนวยการสำนักเลขานุการ กกต. เป็นตัวแทนเข้ายื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

หนึ่ง หากมีเหตุจำเป็นจะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่

และสอง อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เป็นอำนาจขององค์กรใดระหว่าง กกต.กับคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี เพราะตามกฎหมายนายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ฯ และมีหน้าที่ในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

โดยก่อนหน้าที่ กกต.จะมีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ขอหารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า กกต.ควรจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยกรณีที่รัฐบาลยืนยันว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ขณะที่กกต. เห็นว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 กกต.จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลื่อนการเลือกตั้งด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เป็นอำนาจของใคร
 
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายความเพิ่มเติมว่า คณะที่ปรึกษากฎหมาย เห็นว่า สถานการณ์ในขณะนี้ กกต. สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะใน 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าการเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวทั่วประเทศ คำถามคือ 28 เขตไม่มีผู้สมัครจะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งวันเดียวได้อย่างไร ซึ่งหากไม่มีเลือกตั้งใน 28 เขตก็จะได้ ส.ส.ไม่ครบ 95% ที่จะเปิดสภาฯ ได้ การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเปล่าประโยชน์และผลาญเงินถึง 3,800 ล้านบาท
      
“ปัญหาคือ 28 เขตในภาคใต้นอกจากจะไม่มีผู้สมัคร ยังขาดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) อีกประมาณ 5 หมื่นคน ไปขอใช้สถานที่ราชการก็ไม่ให้ใช้ ถามว่าในวันที่ 2 ก.พ.จะแจกบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้มาใช้สิทธิ์กี่ใบ ถ้าแจกใบเดียวเฉพาะบัตรลงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะถือว่าการเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ คนส่วนใหญ่อาจจะยอมรับแจกบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่คนส่วนน้อย คือ กปปส. อาจจะไม่ยอม อาจมีการฟ้องร้องกันอุตลุดว่าขาดหลักความเสมอภาค สถานการณ์วันนี้ไม่ปกติ จัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่ได้หรอก เพราะ28 เขตไม่มีผู้สมัคร กปน. ไม่ครบ พอถึงวันเลือกตั้งแม้ตั้ง กปน.ได้ก็ยังขาดอยู่ดี กกต.หาที่นั่งทำงานยังลำบาก ไม่มีใครอยากให้ใช้สถานที่แล้วจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไร”
 
การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นงานหินและยากที่สุดนับตั้งแต่มีกกต.ดังที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านการบริหารงานเลือกตั้ง ว่าไว้เนื่องจากมีความขัดแย้งโดยความเชื่อที่รุนแรงของแต่ละฝ่ายที่พร้อมจะทำทุกวิถีทางให้สำเร็จ ทำให้ กกต.อยู่ใต้แรงกดดันของการต้องทำตามหน้าที่ และการอยู่ร่วมกับคนในสังคม บางครั้งการเดินหน้าของ กกต.กลับถูกมองว่าเป็นศัตรู ดังนั้นสิ่งที่เป็นหลักของ กกต.ยึดมั่นคือเดินทางกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และทำตามหน้าที่เต็มที่เท่าที่จะทำได้

“วันนี้โจทย์ใหญ่ที่สุดยังไม่ใช่ปัญหาวันเลือกตั้งลงคะแนนไม่ได้ แต่คือการฟ้องเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะวันนี้พบว่าการเลือกตั้งไม่สามารถจัดเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศแล้ว และเชื่อว่าจะต้องมีคนหาเหตุร้องแน่”

กกต.จัดการเลือกตั้ง ยังอ่านเกมของรัฐบาลขาดว่ารัฐบาลอยากให้กกต.ออกเป็นประกาศเลื่อนวันเลือกตั้ง เพราะถ้าผิดกกต.จะเป็นฝ่ายผิด และรัฐบาลก็ชิ่งหนีไม่พูดคุยหาทางออกร่วมกับกกต. ดังนั้นจึงไม่รู้ว่า 28 เขตจะมีส.ส.เมื่อไหร่ ส่วนอีก 22 เขตที่มีผู้สมัครรายเดียว และหลายเขตทางภาคใต้อาจมีกรณีโหวตโนมากกว่า แต่โจทย์ใหญ่กว่าคือ บัญชีรายชื่อ 125 คน ผู้รู้บอกว่าจะนับคะแนนได้ต้องรวมทุกหน่วย คะแนนขาดหน่วยเดียวก็ประกาศไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงดูเหมือนจะไม่ได้ขาดแค่หน่วยเดียว จะขาดแค่ไหนก็ไม่รู้

ที่กกต.ไม่รู้เพราะแต่ละพื้นที่จะมีการคัดค้านการเลือกตั้งมากน้อยและรุนแรงขนาดไหน แต่ฟังเสียงสะท้อนจาก นายศักดิ์สฤษฏ์ ศรีประสาท ตัวแทน กปปส.ตรัง ซึ่งเป็นนักวิชาการก็น่าจะมีคำตอบล่วงหน้า เพราะเขาบอกตรงๆ กับกกต.สมชัยว่า วันที่ 26 ม.ค. และ 2 ก.พ. กกต.อย่าเสี่ยงเลย เพราะไม่มีทางจัดการเลือกตั้งใน จ.ตรัง ได้

กปปส. ตรัง ประกาศชัดว่า ใครก็เอาไม่อยู่ ต่อให้เอาทหารทั้งกองทัพมาก็เอาไม่อยู่

ป่านฉะนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ยังเสี่ยงเลือกเดินเข้าสู่หนทางมิคสัญญี คอนเฟิร์มแรงแค้นจากดูไบ ถ้ากูไม่ได้ พวกมึงก็ต้องไม่ได้ จุดชนวนความรุนแรง ล้มทั้งกระดาน ไม่สนว่าสังคมจะแตกแยก ประเทศชาติจะเสียหายย่อยยับ


กำลังโหลดความคิดเห็น