สภาที่ปรึกษาฯ ชงทางออกประเทศ คู่ขัดแย้งร่วมตกลงตั้ง “กรรมการกลาง” ยกร่างประเด็นปฏิรูปประเทศ ก่อนทำประชามติ ถามความเห็น ปชช.พร้อมกำหนดรัฐบาลใหม่เข้ามาต้องดำเนินการตามแนวทางให้เสร็จภายในไม่เกิน 2 ปี แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่
วันนี้ (18 ธ.ค.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง “กุญแจสู่ความสำเร็จในการร่วมมือปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ และสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ร่วมแถลง
นายโอกาส กล่าวว่า สภาวะวิกฤตของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความห่วงใยเป็นอย่างมากต่อวิกฤตของประเทศดังกล่าว และเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางออกสำหรับการคลี่คลายและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการปฏิรูปประเทศอย่างรีบด่วน และขอเสนอ “กุญแจสู่ความสำเร็จในการร่วมมือปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยเห็นว่ากลุ่มผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุม จำเป็นที่จะต้องมาร่วมเจรจากัน เพื่อให้ได้ข้อตกลงซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้
สำหรับข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมนำเสนอบุคคลฝ่ายละ 5 คน มาคัดเลือกคณะกรรมการกลาง โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการกลาง จะต้องมาจากองค์กรที่มีกฎหมายรับรอง หรือเป็นองค์กรที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน ดำเนินการเลือกผู้แทนขององค์กรแล้วส่งมา หรือมาจากกลุ่มสื่อมวลชน/นักวิชาการ/นักกฎหมาย/องค์กรวิชาชีพ/องค์กรอิสระ และอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้โดยไม่จำกัดจำนวน โดยให้ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเรียกร้องนำเสนอรายชื่อผู้ที่แต่ละฝ่ายเห็นว่าเหมาะสมจากผู้สมัครตามข้อ ฝ่ายละไม่เกิน 200 คน
ส่วนผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการกลาง คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาทั้งสองฝ่าย กล่าวคือต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการสรรหาทั้งสองฝ่ายเสนอที่ตรงกัน ทั้งนี้ในกรณีที่มีรายชื่อตรงกันเกินกว่า 50 คน ให้ใช้วิธีการจับสลากให้เหลือ 50 คน
ส่วนหน้าที่ของคณะกรรมการกลาง คือการกำกับดูแลให้การนำเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศของแต่ละกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลที่นำเสนอให้เป็นไปตามหลักการ เงื่อนไข กติกาที่ได้ตกลงร่วมกัน รวบรวมประเด็นและคัดเลือกประเด็นการปฏิรูปประเทศที่กลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลเห็นตรงกัน 5-10 ประเด็น เพื่อนำไปทำประชามติ
นอกจากนี้ ประเด็นที่มาของการปฏิรูปประเทศ ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอต้องมีกรอบเงื่อนไขในการกำหนดกติกาที่เหมาะสม เช่น เป็นองค์กรที่กฎหมายรับรอง กลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน ที่มีระยะเวลาดำเนินงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี และข้อกำหนดของ “ประเด็นของการปฏิรูปประเทศ” ที่สามารถนำไปให้ประชาชนลงประชามติ ต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อ คือ 1.อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ถูกต้องตามกฎหมาย 3.สามารถปฏิบัติได้จริง 4.เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เช่น มีการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน การสร้างระบบนักการเมืองอาชีพและการดำเนินคดีนักการเมือง การกระจายอำนาจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น โดยประเด็นของการปฏิรูปประเทศที่ได้รับเลือก ก็คือ ประเด็นที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการลงประชามติ (ต้องเกินกึ่งหนึ่งของประชาชนที่มาลงประชามติ)
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การดำเนินการแต่ละขั้นตอนต้องมีกรอบเวลาชัดเจน เช่น ระยะเวลาในการเลือกคณะกรรมการกลาง, ระยะเวลาในการเปิดให้มีการนำเสนอ “ประเด็นของการปฏิรูปประเทศ”, ระยะเวลาในการพิจารณา “ประเด็นของการปฏิรูปประเทศ” ที่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อ, ระยะเวลาในการเปิดให้มีการประชาสัมพันธ์ และระยะเวลาการกำหนดวันลงประชามติเลือก “ประเด็นของการปฏิรูปประเทศ” ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งคณะกรรมการกลางนำประเด็นเหล่านี้ไปกำหนดรูปแบบ การปฏิรูปประเทศในแต่ละประเด็น ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการกลางปิดรับประเด็น โดยก่อนการเลือกตั้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเจ้าภาพจัดให้ทุกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ร่วมกันแสดงสัตยาบัน/ทำสัญญาประชาคม เพื่อทำการปฏิรูปประเทศตามรูปแบบฯ ที่คณะกรรมการกลางจัดทำขึ้นตามประเด็นจากการทำประชามติ ซึ่งอาจภายใน 1 ปี หรือไม่เกิน 2 ปี และให้รัฐบาลใหม่ที่ได้รับเลือกตั้ง ดำเนินการทางรัฐสภาเพื่อให้รูปแบบฯ ที่ได้รับเลือกเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จให้รัฐบาลในขณะนั้นยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามรูปแบบฯ ที่ได้รับประชามติแล้ว โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนรัฐจะต้องจัดหางบประมาณสนับสนุนการดำเนินการจนแล้วเสร็จ