xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"หัวหน้าปชป.ไร้คู่แข่ง ยังอุบบอยคอตหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์เริ่มขึ้น เมื่อเวลา 09.45 น. วานนี้ (17ธ.ค.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานการประชุม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รองเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่เลขานุการการประชุม โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมถึงบุคคลสำคัญ ของพรรคอาทิ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรค และนาย มารุต บุนนาค
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวรายงานวาระการประชุมต่อสมาชิก โดยชี้แจงว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรค ซึ่งตามข้อบังคับพรรคได้มอบหมายให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รักษาการแทน และกล่าวขอบคุณนายเฉลิมชัย ที่ทุ่มเททำงานให้กับพรรคมาอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการรับรองการประชุม โดยกล่าวถึงการแก้ไขระเบียบข้อบังคับพรรคว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้เห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับพรรค ฉบับปี 2551 โดยเป็นการแก้ไขครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการปฏิรูปพรรค โดยมีหลักการสำคัญคือ ต้องการมีช่องทางในการเปิดกว้างให้บุคคลต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมกับการทำงานของพรรค จึงได้มีการกำหนดองค์กรใหม่ขึ้นมา คือ คณะกรรมการกลาง โดยประกอบด้วย อดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค เปิดโอกาสให้มีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก18 คน ที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งจะสามารถติดตามการทำงานของพรรค และให้ข้อเสนอแนะให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคได้ ซึ่งโครงสร้างนี้จะสอดคล้องกับกระแสสังคมปัจจุบัน ที่อยากเห็นการปฏิรูปประเทศ จึงหวังว่าผู้ที่มีแนวความคิด ความตั้งใจ ความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ จะสามารถใช้ช่องทางนี้เข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนโยบายปัจจุบันของเราก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศต่อไป
ส่วนการมีส่วนร่วมบุคคลภายนอกตามข้อบังคับใหม่ จะเน้นการเพิ่มบทบาทสมัชชาประชาชน หรือสมัชชาประชาธิปัตย์ ที่เคยจัดมาหลายครั้ง โดยครั้งใหญ่ในปี 48 และถือได้ว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมาหลายหน่วยงานก็นิยมจัดทำรูปแบบสมัชชาเพื่อระดมความเห็นของประชาชนที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม
นอกจากนี้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า และที่ประชุมส.ส. เห็นว่าสมควรขยายจำนวนกรรมการบริหาร จาก 19 คน เป็น 35 คน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนรองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค ตัวแทนจากสาขาพรรค ตัวแทนจากสมาชิกสภา หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ และเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจาก 2 ปี เป็น 4 ปี
และยังมีการจัดระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในพรรค มีคณะกรรมการเพิ่มขึ้นมา 2 คณะ คือ กรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ เพื่อต่อสู้กับการเลือกตั้ง เพราะการแข่งขันต่อสู้ทางการเมืองการเลือกตั้ง เดิมยึดระบบภาคเป็นสำคัญ แต่ขณะนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการแข่งขันทางการเมืองอีกต่อไป แต่จะให้การทำงานละเอียดมากขึ้น โดยการยึดระบบเขตพื้นที่ หรือโซน โดยจะมีผู้รับผิดชอบแต่ละเขตพื้นที่ในทุกเรื่อง ตั้งแต่มองหาผู้สมัคร สำรวจความเห็นของประชาชน การดูแลสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ โดยกรรมการที่ดูแลโซนจะประกอบกันเป็นกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ โดยมีหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค กำกับอีกชั้นหนึ่ง และจะมีคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีที่เรามีโอกาสเสนอชื่อคนเข้าไปทำงาน ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในนามของพรรค ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบสอดคล้อง มีประสิทธิภาพ ดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งอาจจะต้องรอ 2-3 สัปดาห์ แต่กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าเห็นว่า สามารถดำเนินการปรึกษาหารือกันได้เลย และคณะกรรมการรบริหารพรรคชุดใหม่ จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เห็นสมควรเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค แม้จะมีปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่มั่นใจจะสามารถที่จะทำความเข้าใจกับกก.ชุดใหม่ ให้ราบรื่นได้

** แกนนำพรรคไม่รับข้อเสนอ"เสี่ยจ้อน"

ทั้งนี้ การประชุมเริ่มตึงเครียดขึ้น เนื่องจากนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ ให้มีการเพิ่มสัดส่วนของประธานสาขา เพิ่มเติมเข้าไปอีก 5 คน จากเดิมที่มีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ 5 ข้อ คือ 1. หัวหน้าพรรคเป็นประธาน 2. เลขาธิการ เป็นเลขานุการ 3 . ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน 4 ตัวแทน จากคณะกรรมการกลางซึ่งเลือกกันเอง 5 คน และ 5 ตัวแทนจากประธานเขตพื้นที่ ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน ทำให้เกิดข้อถกเถียงในที่ประชุมว่า หากเพิ่มข้อ 6 ให้มีตัวแทนจากประธานสาขาพรรคเข้าไปอีก ก็จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เพราะในสัดส่วนเดิมมีสาขาพรรครวมอยู่แล้ว
ทำให้ นายอัศวิน วิภูศิริ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปพรรค แย้งว่า ข้อเสนอของนายอลงกรณ์ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการบริหารพรรค จึงอยากถามว่า มีการนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ นายอลงกรณ์ จึงลุกขึ้นชี้แจงว่า ไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าว แต่เห็นว่าสามารถนำเสนอความเห็นนี้ต่อที่ประชุมใหญ่ในวันนี้ และยังยืนยันที่จะเดินหน้าให้มีการพิจารณาตามข้อเสนอของตัวเอง จากนั้นมี ส.ส.หลายคนแสดงความเห็นโต้แย้งนายอลงกรณ์ อาทิ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ท้วงติงว่า หากดำเนินการตามข้อเสนอของนายอลงกรณ์ ก็จะทำให้มีการเสนอตัวแทนจากสัดส่วนอื่นไม่รู้จบ จนเกิดความซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ซึ่งแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ควรจะมีการลงมติได้แล้ว เนื่องจากเสียเวลา และพรรคได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายขั้นตอน จึงควรดำเนินการตามโครงสร้างที่มีการเสนอมา
แต่นายอลงกรณ์ ยังคงยืนยันที่จะเสนอโครงสร้างตามแนวทางใหม่ของตัวเอง ในขณะที่ประธานสาขาพรรค ได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนแนวคิดของนายอลงกรณ์ เพื่อให้ประธานสาขาพรรคได้มีที่นั่งในการเป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย นายอภิสิทธิ์ จึงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคมาก่อน หากจะให้มีการพิจารณา ก็ต้องรื้อโครงสร้างใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีการเสนอขอให้มีตัวแทนจากส.ส. จากพื้นที่มาเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่องค์ประกอบเดิม ก็จะมีตัวแทนจากสาขาเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้านายอลงกรณ์ ยังยืนยันที่จะให้พิจารณา ก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาเรื่องนี้ ทำให้มีประธานสาขาพรรคเพชรบุรี คือ นางอวยพร พลบุตร ได้เสนอให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติตามแนวทางที่ นายอลงกรณ์ เสนอ แทนที่จะให้เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา จนนายอภิสิทธิ์ เสนอแนวทางประนีประนอมว่า ให้มีการรับเป็นข้อสังเกตไว้ แล้วไปพิจารณาเพิ่มเติมในครั้งหน้า แต่นายอลงกรณ์ ก็ยังไม่ยอม จะขอให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ตามที่นางอวยพร เสนอ
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่าไม่อยากให้การแก้ไขข้อบังคับเลอะเทอะ จนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน เพราะองค์ประกอบในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีตัวแทนของสาขาพรรคอยู่แล้ว หากจะมีเพิ่มเป็นตัวแทนจากสาขาพรรคเข้ามา ก็จะมีคำถามว่า ไม่มีตัวแทนจากส.ส. ถ้าส.ส.เสนอ ก็จะมีตัวแทนจากอดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตสาขาพรรค ทั้งนี้ยืนยันว่า พรรคให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจอยู่แล้ว จึงอยากให้สาขาพรรคเข้าใจด้วยว่า ในปัจจุบันสาขาพรรคได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ข้อบังคับสำเร็จได้ด้วยดี อย่าทำให้เลอะ เพิ่มเติมอะไรมาก เพราะยืนยันว่า องค์ประกอบที่มีอยู่ มีสาขาพรรคเป็นตัวแทนอยู่แล้ว แม้นายอลงกรณ์ จะมีความหวังดี แต่ตนคิดว่าจะทำให้ปัญหาไม่จบ จะมีคนเสนอตัวแทนเพิ่มเข้ามาใหม่ จนข้อบังคับไปไม่ได้ จึงอยากให้รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่จะรับเป็นข้อสังเกตนำไปพิจารณา อย่าลงมติเพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็น
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ จึงได้ขอมติจากที่ประชุม เพื่อให้รับรองข้อบังคับพรรค ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีการโต้แย้งให้ใช้ข้อบังคับพรรค ตามที่กรรมการบริหารพรรคเสนอมา โดยไม่มีการเพิ่มสัดส่วนสาขาพรรค ในคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่นายอลงกรณ์ พยายามผลักดัน
ต่อมาเวลา 11.30 น. ได้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมการเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ประกอบด้วย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายเจริญ คันธวงศ์ นายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายนิพนธ์ วิศิษฐยุทธศาสตร์ ก่อนที่จะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ได้เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และไม่มีการเสนอชื่อผู้ใดอีก จากนั้นได้ดำเนินการลงคะแนนลับ โดยสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ทยอยหย่อนบัตรลงหีบบัตรเลือกตั้งจนครบ

**"นิพิฏฐ์" เฉือนเด็กเทือก นั่งรองหน.ใต้

ภายหลังจากที่เสร็จสิ้น กระบวนการคัดเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอผู้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคส่วนกลาง ที่มาจากการคัดเลือกโดย นายอภิสิทธิ์ เอง จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายเกียรติ สิทธีอมร ดูแลงานต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ดูแลงานด้านสภาและนโยบาย นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ งานด้านการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ดูแลบริหารงานส่วนท้องถิ่น และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดูแลงานการสื่อสาร และยุทธศาสตร์ ทั้งนี้มีรายงานว่า นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบประเทศไทย ได้ขอถอนตัวก่อนที่จะมีการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งรองหน้าพรรคส่วนกลาง
จากนั้นมีการคัดเลือกรองหัวหน้าพรรค ตามภาคต่างๆ โดยเริ่มที่ นายนคร มาฉิม ได้เสนอ ชื่อนายอัศวิน วิภูศิริ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ ไม่มีผู้ใดเสนอชื่อเพิ่มเติม นายวิทูรย์ นามบุตร เสนอชื่อคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ตัวแทนประธานสาขาพรรค จ.กาฬสินธุ์ เสนอ นายศุภชัย ศรีหล้า ต่อมา นายศุภชัยได้ถอนตัว ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ตัวแทนประธานสาขาสมุทรปราการ เสนอชื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร ขณะที่ตัวแทนประธานสาขาเชียงใหม่ เสนอนายสาธิต ปิตุเตชะ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก เสนอชื่อ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค กทม. แต่นายสามารถ มะลูลีม เสนอนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ เสนอชื่อ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โดยมี นายอาคม เอ่งฉ้วน เสนอนายชิณวรณ์ บุญยเกียรติ จากนั้นสมาชิกได้ทยอยทำการลงคะแนนลับด้วยการหย่อนบัตรคะแนนลงในหีบเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก
ต่อมานายไตรรงค์ สุวรรณคิรี ประกาศผลว่า รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ คือ นายอัศวิน วิภูศิริ มีคะแนน 89.97% , รองหัวหน้าพรรคภาคกลางคือ นายสาธิต ปิตุเตชะ ได้คะแนน 63.14 %, รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ คือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ได้คะแนน 56.73 %, รองหัวหน้าพรรคกทม. คือ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ได้คะแนน 55.84 % และรองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้คะแนน 90.36% สำหรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้คะแนน 91.51 %
ส่วนรองเลขาธิการพรรค 5 คน ประกอบด้วย นายศิริโชค โสภา นายนราพัฒน์ แก้วทอง นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายเทพไท เสนพงศ์ และนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ เหรัญญิก คือ นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นายทะเบียนพรรค คือนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ ส่วนโฆษกพรรค ยังเป็นนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต นั่งต่ออีกสมัย
ส่วนกรรมการทั่วไปมี นางขนิษฐา นิมาเกษม นายสมชาญ ศรีสองชัย นายสมบัติ ตั้งธนไพบูลย์ นายชูศักดิ์ จึงพานิช นางกัลยาณี ประสพสุข นายตรีสิทธิ์ ศิริวรรณ นายคำรณ บำรุงรักษ์ นายนิพนธ์ บุญทองชุ่ม นายวิรัช ร่มเย็น นายสรรเสริญ สมะลาภา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก นายอรรถพร พลบุตร นายธนิตพล ไชยนันท์ นางนาตยา แดงบุหงา และ นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง

**"จุติ"ชี้ลงเลือกตั้งก็ตาย ไม่ลงก็พิการ

นายจุติ ไกรฤกษ์ ว่าที่เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการหารือกับนายอภิสิทธิ์ ถึงการตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัคร ส.ส.พรรค ลงเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ หรือไม่ โดยจะมีการหารือเรื่องดังกล่าว ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายในวันที่ 23 ธ.ค.นี้
เมื่อถามว่า ระหว่างการตัดสินใจส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กับไม่ส่งลงสมัคร วิธีการใดตัดสินใจยากกว่ากัน นายจุติ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่า ไม่ควรส่งลง เพราะรัฐบาลยังครอบงำระบบอยู่ แต่ถ้าจะไม่ส่งลง รัฐบาลจะนำไปอ้างความชอบธรรม "ง่ายๆ ประโยคเดียว จะส่งลงก็ตาย ไม่ส่งลง ก็พิการ" นายจุติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น