xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.โหวตเลือก “มาร์ค” หน.ไร้คู่แข่ง - “จ้อน” โผล่ขอเพิ่มโควตาเจอสวนยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมประชาธิปัตย์เริ่มเครียด “อลงกรณ์” ชงเพิ่มโควตา ปธ.สาขาเข้า กก.สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งการทางเมืองอีก 5 คน ด้าน ปธ.ปฏิรูปแย้งไม่ได้ชงใน กก.บห.ก่อน “รัชฎาภรณ์” โวยเดี๋ยวเสนอกันไม่รู้จบ “รังสิมา” บ่นจบได้แล้ว เสียเวลา “อภิสิทธิ์” ขอไว้คราวหน้า เจ้าตัวไม่ยอม “ชวน” บอกไม่อยากให้แก้เลอะเทอะ หวั่นปัญหาไม่จบ ชี้แบบเดิมก็กระจายอำนาจอยู่แล้ว ก่อนโหวตเอกฉันท์รับรองข้อบังคับเดิม ล่าสุดลงคะแนนลับเลือกหัวหน้า “บัญญัติ” ชู “มาร์ค” คนเดียว

วันนี้ (17 ธ.ค.) โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตึงเครียดขึ้นเนื่องจากนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ ให้มีการเพิ่มสัดส่วนของประธานสาขาเพิ่มเติมเข้าไปอีก 5 คน จากเดิมที่มีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ 5 ข้อ คือ 1. หัวหน้าพรรคเป็นประธาน 2. เลขาธิการเป็นเลขานุการ 3. ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเลือกกันเอง 4 คน 4. ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางซึ่งเลือกกันเอง 5 คน และ 5. ตัวแทนจากประธานเขตพื้นที่ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน ทำให้เกิดข้อถกเถียงในที่ประชุมว่าหากเพิ่มข้อ 6. ให้มีตัวแทนจากประธานสาขาพรรคเข้าไปอีกก็จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เพราะในสัดส่วนเดิมมีสาขาพรรครวมอยู่แล้ว

ทำให้นายอัศวิน วิภูศิริ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปพรรค แย้งว่า ข้อเสนอของนายอลงกรณ์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการบริหารพรรค จึงอยากถามว่ามีการนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ นายอลงกรณ์จึงลุกขึ้นชี้แจงว่าไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าว แต่เห็นว่าสามารถนำเสนอความเห็นนี้ต่อที่ประชุมใหญ่ในวันนี้และยังยืนยันที่จะเดินหน้าให้มีการพิจารณาตามข้อเสนอของตัวเอง จากนั้นมี ส.ส.หลายคนแสดงความเห็นโต้แย้งนายอลงกรณ์ อาทิ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ท้วงติงว่าหากดำเนินการตามข้อเสนอของนายอลงกรณ์ก็จะทำให้มีการเสนอตัวแทนจากสัดส่วนอื่นไม่รู้จบจนเกิดความซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ซึ่งแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะมีการลงมติได้แล้ว เนื่องจากเสียเวลาและพรรคได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายขั้นตอนจึงควรดำเนินการตามโครงสร้างที่มีการเสนอมา

แต่นายอลงกรณ์ยังคงยืนยันที่จะเสนอโครงสร้างตามแนวทางใหม่ของตัวเอง ในขณะที่ประธานสาขาพรรคได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนแนวคิดของนายอลงกรณ์ เพื่อให้ประธานสาขาพรรคได้มีที่นั่งในการเป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย นายอภิสิทธิ์จึงชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคมาก่อน หากจะให้มีการพิจารณาก็ต้องรื้อโครงสร้างใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีการเสนอขอให้มีตัวแทนจาก ส.ส.จากพื้นที่มาเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่องค์ประกอบเดิมก็จะมีตัวแทนจากสาขาเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้านายอลงกรณ์ยังยืนยันที่จะให้พิจารณาก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาเรื่องนี้ ทำให้มีประธานสาขาพรรคเพชรบุรี คือ นางอวยพร พลบุตร ได้เสนอให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติตามแนวทางที่นายอลงกรณ์เสนอ แทนที่จะให้เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา จนนายอภิสิทธิ์เสนอแนวทางประนีประนอมว่าให้มีการรับเป็นข้อสังเกตไว้แล้วไปพิจารณาเพิ่มเติมในครั้งหน้า แต่นายอลงกรณ์ก็ยังไม่ยอม จะขอให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ตามที่นางอวยพรเสนอ

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่อยากให้การแก้ไขข้อบังคับเลอะเทอะจนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน เพราะองค์ประกอบในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีตัวแทนของสาขาพรรคอยู่แล้ว หากจะมีเพิ่มเป็นตัวแทนจากสาขาพรรคเข้ามาก็จะมีคำถามว่าไม่มีตัวแทนจาก ส.ส. ถ้า ส.ส.เสนอก็จะมีตัวแทนจากอดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตสาขาพรรค ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจอยู่แล้ว จึงอยากให้สาขาพรรคเข้าใจด้วยว่าในปัจจุบันสาขาพรรคได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ข้อบังคับสำเร็จได้ด้วยดีอย่าทำให้เลอะ เพิ่มเติมอะไรมาก เพราะยืนยันว่าองค์ประกอบที่มีอยู่มีสาขาพรรคเป็นตัวแทนอยู่แล้ว แม้นายอลงกรณ์จะมีความหวังดี แต่ตนคิดว่าจะทำให้ปัญหาไม่จบ จะมีคนเสนอตัวแทนเพิ่มเข้ามาใหม่จนข้อบังคับไปไม่ได้ จึงอยากให้รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่จะรับเป็นข้อสังเกตนำไปพิจารณาอย่าลงมติเพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็น

จากนั้นนายอภิสิทธิ์จึงได้ขอมติจากที่ประชุมเพื่อให้รับรองข้อบังคับพรรค ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีการโต้แย้ง ให้ใช้ข้อบังคับพรรคตามที่กรรมการบริหารพรรคเสนอมา โดยไม่มีการเพิ่มสัดส่วนสาขาพรรคในคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่นายอลงกรณ์ พยายามผลักดัน

ต่อมาเวลา 11.30 น. ได้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ประกอบด้วย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายเจริญ คันธวงศ์ นายเทอดพงษ์ ไชยนันท์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ก่อนที่จะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และไม่มีการเสนอชื่อผู้ใดอีก จากนั้นได้ดำเนินการลงคะแนนลับ โดยสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ทยอยหย่อนบัตรลงหีบบัตรเลือกตั้งจนครบ



กำลังโหลดความคิดเห็น