“อภิสิทธิ์” เปิดประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ดินหน้าโครงสร้างใหม่ ปรับองคาพยพรับเลือกตั้ง พร้อมเปิดช่องคนนอกช่วยงานพรรค
การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.45 น. โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานการประชุม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รองเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่เลขานุการการประชุม โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง พร้อมถึงบุคคลสำคัญ เช่น นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรค และนายมารุต บุนนาค
นายอภิสิทธิ์กล่าวรายงานวาระการประชุมต่อสมาชิก โดยชี้แจงว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรค ซึ่งตามข้อบังคับพรรคได้หมายให้นายจุติรักษาการแทน และกล่าวขอบคุณนายเฉลิมชัยว่าเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลักดันการปฏิรูปพรรคให้เสร็จ แต่สถานการณ์ทางการเมืองมีความผันผวนตลอดเวลา ต้องยอมรับว่าการผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะจังหวะเวลาที่จะระดมเพื่อนสมาชิกมาช่วยคิด และช่วยทำในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ง่าย แต่นายเฉลิมชัยก็ได้ผลักดันภารกิจดังกล่าวจนเสร็จสิ้น จนนำมาสู่การประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคในวันนี้ นายเฉลิมชัยต้องการเจตนาที่ชัดว่าเมื่อมีการดำเนินการแก้ไขข้อบังคับพรรคและโครงสร้างพรรคเรียบร้อยก็ควรจะให้มีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการในการปรับโครงสร้างและการปฏิรูปทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายเฉลิมชัยที่มีบทบาทสำคัญ และถือโอกาสนี้ขอบคุณนายเฉลิมชัยที่ทุ่มเททำงานให้กับพรรคมาอย่างต่อเนื่อง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลายคนมักจะถามตนว่าไม่ค่อยเห็นนายเฉลิมชัยมีบทบาทตามหนังสือพิมพ์มากนัก ตนก็ขอบอกว่าตั้งแต่วันแรกที่นายเฉลิมชัยรับตำแหน่ง ก็บอกกับตนว่าบทบาทการทำหน้าที่มีงานหลายอย่าง ทางด้านการจัดการ การสนับสนุนพรรค การสร้างเครือข่าย การจัดระบบที่เป็นงานหลักที่นายเฉลิมชัยต้องการจะผลักดัน ส่วนบทบาทที่จะไปแสดงต่อสื่อมวลชนนั้น นายเฉลิมชัยเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้แล้ว วันที่นายเฉลิมชัยมายื่นหนังสือลาออกได้บอกกับตนอย่างหนักแน่น และท่านก็ขอยืนยันคำพูดคำไหนคำนั้นว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ จะไม่เป็นเงื่อนไขและอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้นในการทุ่มเทให้กับพรรค
นายอภิสิทธิ์ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการรับรองการประชุม โดยกล่าวถึงการแก้ไขระเบียบข้อบังคับพรรค ว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้เห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับพรรคฉบับปี 2551 โดยเป็นการแก้ไขครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการปฏิรูปพรรค โดยมีหลักการสำคัญ คือ ต้องการมีช่องทางในการเปิดกว้างให้บุคคลต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมกับการทำงานของพรรค จึงได้มีการกำหนดองค์กรใหม่ขึ้นมา คือ คณะกรรมการกลาง โดยมีองค์ประกอบด้วยอดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค เปิดโอกาสให้มีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 18 คน ที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งจะสามารถติดตามการทำงานของพรรคและให้ข้อเสนอแนะให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคได้ ซึ่งโครงสร้างนี้จะสอดคล้องกับกระแสสังคมปัจจุบันที่อยากเห็นการปฏิรูปประเทศ จึงหวังว่าผู้ที่มีแนวความคิด ความตั้งใจความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ จะสามารถใช้ช่องทางนี้เข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนโยบายปัจจุบันของเราก็คือพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศต่อไป
ส่วนการมีส่วนร่วมบุคคลภายนอกตามข้อบังคับใหม่ จะเน้นการเพิ่มบทบาทสมัชชาประชาชน หรือสมัชชาประชาธิปัตย์ ที่เคยจัดมาหลายครั้ง โดยครั้งใหญ่ในปี 48 และถือได้ว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมาหลายหน่วยงานก็นิยมจัดทำรูปแบบสมัชชาเพื่อระดมความเห็นของประชาชนที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า และที่ประชุม ส.ส.เห็นว่า สมควรขยายจำนวนกรรมการบริหาร จาก 19 คน เป็น 35 คน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนรองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค ตัวแทนจากสาขาพรรค ตัวแทนจากสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่และเพิ่มวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจาก 2 ปี เป็น 4 ปี
และยังมีการจัดระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในพรรค มีคณะกรรมการเพิ่มขึ้นมา 2 คณะ คือ กรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ เพื่อต่อสู้กับการเลือกตั้ง เพราะการแข่งขันต่อสู้ทางการเมืองการเลือกตั้ง เดิมยึดระบบภาคเป็นสำคัญ แต่ขณะนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการแข่งขันทางการเมืองอีกต่อไป แต่จะให้การทำงานละเอียดมากขึ้น โดยการยึดระบบเขตพื้นที่ หรือโซน โดยจะมีผู้รับผิดชอบแต่ละเขตพื้นที่ในทุกเรื่องตั้งแต่มองหาผู้สมัคร สำรวจความเห็นของประชาชน การดูแลสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ โดยกรรมการที่ดูแลโซนจะประกอบกันเป็นกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ โดยมีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค กำกับอีกชั้นหนึ่ง และจะมีคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีที่เรามีโอกาสเสนอชื่อคนเข้าไปทำงานในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในนามของพรรค ทั้งนี้เพื่อให้ระบบสอดคล้อง มีประสิทธิภาพ ดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งอาจจะต้องรอ 2-3 สัปดาห์ แต่กรรมการบริหารพรรคชุดเก่าเห็นว่าสามารถดำเนินการปรึกษาหารือกันได้เลย และคณะกรรมการรบริหารพรรคชุดใหม่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เห็นสมควรเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค แม้จะมีปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านแต่มั่นใจจะสามารถที่จะทำความเข้าใจกับ กก.ชุดใหม่ให้ราบรื่นได้