ปชป.เตรียมรื้อโครงสร้างรับศึกเลือกตั้งเต็มสูบ จับตา “มาร์ค-เสี่ยต่อ” เกาะเก้าอี้เหนียว “กรณ์” ส่อปิ๋วรองหัวหน้าพรรคภาค กทม. เหตุ “หล่อเล็ก” อาจเสียบแทน ลือ ทาบ “สุรินทร์” นั่งรองด้านต่างประเทศ ส่วน “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” เสริมภาพลักษณ์ด้านเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากพรรคประชาธิปัตย์เลื่อนกำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อพิจารณาข้อบังคับพรรคตามโครงสร้างการปฏิรูปพรรคใหม่ จากวันที่ 23-24 ธ.ค. มาเป็น 16-17 ธ.ค.นี้ เพราะเนื่องจากกำหนดเดิมไปตรงกับวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศให้เป็นวันแรกในการส่งรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
ทั้งนี้มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวแคนดิเดตตัวบุคลที่จะเข้ามาสับเปลี่ยนบางตำแหน่งเพื่อรองรับข้อบังคับพรรคใหม่ เช่น รองหัวหน้าพรรคภาค กทม.ที่ปัจจุบันนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคภาค กทม.ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น จะมีการผลักดันให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาค กทม.แทน เนื่องจากพรรคเห็นว่านายอภิรักษ์มีประสบการณ์ด้าน กทม.มากกว่า ขณะที่นายกรณ์มีความถนัดด้านเศรษฐกิจมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนจำนวนของตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค หลังจากแก้ข้อบังคับพรรคใหม่จะกำหนดให้มีรองหัวหน้าพรรคทั้งหมด 10 ตำแหน่ง แบ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคทั้ง 5 ภาค และรองหัวหน้าพรรคด้านฟังก์ชันต่างๆ อีก 5 ตำแหน่ง ซึ่งแคนดิเดตรองหัวหน้าภาคทั้ง 5 ภาค ประกอบไปด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นรองหัวหน้าพรรคภาค กทม. น.ส.ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคอีสานยังมีความคลุมเครืออยู่ เนื่องจากนายอิสสระ สมชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคอีสานได้ลาออกไปร่วมต่อต้านรัฐบาลกับกลุ่ม กปปส.
นอกจากนี้ รองหัวหน้าพรรคด้านฟังก์ชันมีแคนดิเดตที่น่าสนใจ เช่น มีการทาบทามนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน นั่งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคด้านต่างประเทศ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท.เข้ามาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คนที่จะตัดสินใจเลือกสรรตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคด้านฟังก์ชันจะให้สิทธิ์ขาดกับหัวหน้าพรรคเป็นผู้เลือกทั้งหมด ดังนั้น ต้องจับตาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่
นอกจากนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ความเห็นของสมาชิกพรรคเรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค และเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แยกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าศึกเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเดิมพันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นควรจะยังคงให้ตำแหน่งสำคัญในพรรคชุดเดิมนั้น ไม่ควรเปลี่ยนตัวแม่ทัพกลางศึก อีกทั้งประเมินจากมวลมหาประชาชนที่ออกมาต่อต้านขับไล่ระบอบทักษิณในครั้งนี้ มั่นใจว่าพรรคจะได้ฐานเสียงมากขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าพรรคควรใช้โอกาสการปฏิรูปพรรคในครั้งนี้ โดยการทาบทามบุคคลที่มีชื่อเสียงและภาพลักษณ์ดีเข้ามาทำหน้าที่บริหารขับเคลื่อนพรรค เช่น อดีตเลขาธิการอาเซียน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม บางเสียงวิพากว่า
อย่างไรก็ตาม มีการพูดคุยกันภายในพรรคว่า การแสดงท่าทีเรื่องการคัดสรรตัวบุคคลของ ส.ส.พรรคต้องระมัดระวังและคำนึงถึงท่าทีของของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ด้วย เนื่องจากกลุ่ม กปปส.ต้องการให้มีการตั้งสภาประชาชน แตกต่างจากพรรคที่ต้องเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น เชื่อว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะยังมี ส.ส.กลุ่มของก๊วนของนายสุเทพรวมอยู่ในคณะกรรมการใหม่ด้วย เพราะไม่สามารถตัดกันได้ขาด แม้นายสุเทพจะประกาศตัดขาดแล้วก็ตาม