รายงานการเมือง
สัปดาห์ก่อนยังเห็นภาพอี๋อ๋อควงคู่กันไปตรวจน้ำท่วมที่ จ.ปราจีนบุรี ด้วยกันอยู่หมาดๆ สำหรับ “เดอะมาร์ค -อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค กับ “บักจ้อน -อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค ใครได้เห็นภาพวันนั้นก็พลันนึกไปว่า “รอยร้าว” ภายในพรรคประชาธิปัตย์ประสานกันสนิทแล้ว
เรื่องที่ “ปีนเกลียว” กันเมื่อครั้งที่ “บักจ้อน” จุดพุลแนวคิดปฏิรูปพรรคคงสะสางเคลียร์ใจกันไปแล้ว ที่ไหนได้มาสัปดาห์นี้ “อลงกรณ์” ก็จู่ๆขุดประเด็น “ปฏิรูป ปชป.”ขึ้นมาอีกครั้งผ่านทางทวิตเตอร์ @alongkornpb เช่นเคย ขอดันวาระ “ยกเครื่อง ปชป.” ยก 2 เข้าสู่การประชุมพรรคเมื่อวันก่อน (7 ต.ค.)
มาหนนี้ “บักจ้อน” อ้างผ่านทวิตเตอร์ว่า “ประชาชน” ต้องการเห็นพรรคเปลี่ยนแปลงสู่ทางเลือกที่ดีกว่า ไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพรรคให้ทันสมัยก้าวหน้ายึดมั่นประชาธิปไตย จะสร้างความเชื่อถือศรัทธาใหม่
“...ประชาชนต้องการเห็นพรรคเปลี่ยนแปลงสู่ทางเลือกที่ดีกว่า ไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพรรคให้ทันสมัยก้าวหน้ายึดมั่นประชาธิปไตย จะสร้างความเชื่อถือศรัทธาใหม่ เพื่อลบล้างภาพทุจริต, ดีแต่พูด และอิงแอบเผด็จการ น่าจะคิดได้แล้วว่าทำไม 2-3 เดือนมานี้รัฐบาลบริหารผิดพลาดหลายเรื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจปากท้องของแพง แต่ความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ดีขึ้น”
ถือว่าเหตุผลของ “บักจ้อน” พอฟังขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์นับวันวาละวันเตี้ยลงๆ เดินเข้าสู่ยุคตกต่ำจริงๆ ไม่สามารถเป็นคู่ต่อกรกับพรรคเพื่อไทยได้เลย ทั้งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีผลงานดีเด่อะไร หนำซ้ำยังสอบตกชัดๆในหลายเรื่อง
แต่ ปชป.ก็ไม่มีน้ำยากระหน่ำเปิดแผลรัฐบาล กู้เรตติ้งตัวเองขึ้นมาได้
แม้เหตุผลในการเสนอปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์จะฟังขึ้น มีเสียงตอบรับจากหลายฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติแทบจะเป็น “ศูนย์” เพราะรู้กันอยู่ว่าในพรรคเก่าแก่แห่งนี้มีเพียง “น้องมาร์ค” ภายใต้ร่มเงาของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคเท่านั้น ที่กดปุ่มขวาหัน-ซ้ายหันได้
แนวคิดของ “พี่ชวน - น้องมาร์ค” ในตอนนี้คือทำอย่างไรก็ได้เพื่อขัดขวาง “ระบอบทักษิณ” ไม่ให้โตไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยไปเลยตามเลย อาจจะทำให้ประชาชนเสพติดจนโงหัวไม่ขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลให้คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์โงหัวไม่ขึ้นไปด้วย
ขัดขวางทุกวิถีทางถึงขนาดที่คนอยู่ในกรอบ อ้างหลักการอย่าง “พี่ชวน - น้องมาร์ค” ยอมเสียภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่ที่สั่งสมมาช้านาน ยอมที่จะถูกสังคมก่นด่า เพราะเห็นว่าวีรกรรมที่ลูกพรรคประชาธิปัตย์ทำในสภาฯ ทั้งลากกเก้าอี้ประธานรัฐสภา ขว้างแฟ้ม เขวี้ยงเก้าอี้ ตะโกนด่า หรือวอล์กเอ้าท์ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
พูดง่ายๆ “พี่ชวน - น้องมาร์ค” ยอมเสียภาพมากกว่าจะปรับปรุงตัวเองตามที่ “บักจ้อน” เสนอ
ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อกันว่า พลพรรคประชาธิปัตย์สาย“ชวน - มาร์ค” ยังหวังว่า “อำนาจพิเศษ” จะเข้ามาจัดการบ้านเมือง เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้น โดยเฉพาะ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ส.ส.สุราษฎร์ธานี แกนนำพรรค ที่ยังคอยออกมาปราม “ลูกพรรค” อยู่หลายครั้ง หากพูดพาดพิง “กองทัพ” ในทางที่เสียหาย
ถึงขนาดพูดกันว่า “พี่เทพยังต่อสายคุยกับ ผบ.ทบ.อยู่ตลอด”???
แต่ทุกอย่างก็ต้องรอพิสูจน์ว่า “อำนาจพิเศษ” ยังเลือกที่จะใช้ “ปชป.” เป็นหมากตัวสำคัญหรือไม่ หากมีการล้มล้างรัฐบาลจริงๆ และที่สำคัญจะมีใครหาญหล้าออกมาทำอีกหรือไม่ ในเมื่อ “นารีปู” ก็ถ่างขามานั่งคุมกลาโหมด้วยตัวเอง อีกทั้ง “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังเป็น “เด็กดี” อยู่ในโอวาทตลอด
เมื่อมองแนวคิดของพรรคยังหมกหมุ่นกับ “ทางลัดพิเศษ” ที่ยากจะเกิดแล้ว การที่ “บักจ้อน” คัมแบ็กมาเสนอ “ปฏิรูป ปชป.” เพื่อแต่งตัวเตรียมพร้อมสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็มีเปอร์เซ็นต์ประสบความสำเร็จน้อยเหมือนเดิม
ความน่าสนใจในการผลักดันการปฏิรูปพรรคยก 2 ของ “อลงกรณ์” คือท่อนท้ายในทวิตเตอร์ที่ว่า “...แม้การประชุมคณะ กก.บริหารพรรคเดือนก่อน จะสรุปผลเห็นชอบในหลักการต่อรายงานการปฏิรูปพรรคที่คณะทำงานฯเสนอ แต่ก็ทำเอา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เกือบลาออก”
แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมามีความขัดแย้งกันหนักจนถึงขนาด “เสี่ยต่อ - เฉลิมชัย ศรีอ่อน” แม่บ้านพรรคมีแนวคิดที่จะไขก๊อกลาออกไป
ไม่เท่านั้น “บักจ้อน” ยังแถมท้ายด้วยถ้อยคำที่ส่งสัญญาณท้าทายไปถึงผู้มีอำนาจในพรรค เมื่อบอกว่า“...การประชุมกรรมการบริหารพรรค วันที่ 7 ต.ค. จึงเป็นยก 2 ของการปฏิรูปพรรค แต่ก็อาจเป็นยกสุดท้ายของผม ของเลขาพรรค ของกลุ่มปฏิรูป หรือของคนบางคนบางกลุ่มในพรรคเก่าแก่แห่งนี้” ตีความได้ไม่ผิดว่า หากทางพรรคไม่ตอบรับแนวคิดปฏิรูปก็อาจจะการแยกทางกัน โดยหัวหอกก็นำโดย “อลงกรณ์ - เฉลิมชัย” รวมไปถึง ส.ส.ที่อยู่ในคอนโทรลอีกจำนวนหนึ่ง
พูดง่ายๆว่างานนี้มีแตกหักแน่
คงต้องถามว่าอำนาจต่อรองในมือของ “อลงกรณ์ - เฉลิมชัย” มีมากน้อยเพียงใด สามารถกดดันให้ “ผู้ใหญ่” ในพรรคเงี่ยหูฟังได้บ้างหรือไม่
เพราะหลังจากที่ขึ้นเถลิงอำนาจในตำแหน่งเลขาฯพรรค “เฉลิมชัย” ก็พยายามสร้างฐานอำนาจเพิ่มเติมจากที่คุมเฉพาะ ส.ส.ภาคกลางที่มีไม่ถึง 20 คน แต่ดีลไม่สำเร็จ ติดขัดตรงที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังเกรงใจ “หัวหน้ามาร์ค - พี่เทพ” อยู่ อีกหลายคนก็ออกลูกกั๊กชั่งใจกันอยู่ เพราะคำนวณแล้วว่าหากแทงหวยผิด อาจจะดับสูญทางการเมืองได้ ทำให้ “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย” ยังไม่แน่นปึ้กเท่าที่ควร
ส่วน ส.ส.ที่เคยประกาศตัวเป็น “กลุ่มปฏิรูป” หนุนหลัง “อลงกรณ์” อยู่ห่างๆ ก็เอาเข้าจริง คงไม่กล้าลาออกตามที่ขู่เอาไว้ ดังนั้นหากดูในเรื่องปริมาณจำนวน ส.ส.คงไม่น่าหวั่นไหวเท่าไร เพียงแต่หากมีการแตกหักจริง ภาพลักษณ์ของ ปชป.ก็จะยิ่งเสียหายหนัก จนคนนึกย้อนไปถึงสมัย “กลุ่ม 10 มกรา” เมื่อ 20 กว่าปีก่อน
ซุบซิบกันทั่วพรรคว่า คนที่เปิดตัวออกมายื่นคำขาดกับพรรคทั้ง “บักจ้อน - เสี่ยต่อ” นั้นไม่เท่าไร แต่น่ากลัวตรงคนที่สวมบท “อีแอบ” อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะช่วงนี้เริ่มมีข่าวหนาหูว่า “กรณ์ จาติกวณิช” เพื่อนซี้เพื่อนเลิฟของ “เดอะมาร์ค” แอบหวังลึกว่า ใช้จังหวะนี้ยึดหัวหาดนั่งแท่น “หัวหน้า ปชป.” เพราะมีเสียงเชียร์จาก “คนนอกพรรค” ว่ามีความเหมาะสม-ความสามารถ แถมภาพลักษณ์ดี ไม่เป็นรอง “อภิสิทธิ์”
แถมยังมีการมองว่า หาก ปชป.จะลองของใหม่ตอนนี้นอกจาก “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่ยังไม่ลงมาเต็มตัวแล้ว ก็มีเพียง “กรณ์” เท่านั้น ที่พอจะดันให้เป็น “ตัวชูโรง” ได้ แต่เพราะยามนี้ “เสี่ยกรณ์” ยังไม่มั่นใจว่า “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย” มีความแข็งแกร่งพอ จึงไม่ออกหน้าเชียร์มากนัก แต่ในทางลับนั้นเห็นด้วยกับการ “ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ในพรรคแน่นอน
ก็มีคำถามไปถึง “อภิสิทธิ์” ว่า แท้จริงแล้วรับไอเดียการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์มากน้อยเพียงใด เพราะไม่ว่า “จ้อนแอนด์เดอะแก๊งค์” เสนอเรื่องใดเข้าไป ก็จะใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเล่นแร่แปรธาตุ จนผิดเพี้ยนไปจากเป้าประสงค์ของกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปพรรค
แน่นอนว่า เมื่อข้อเสนอ “กลุ่มปฏิรูป” ไม่ได้การผลัดกันจนสุดซอยเหมือนที่วางแผนกันไว้ ก็เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้ยัง “คาใจ” อยู่ และก็คงไม่ต่างจากแผลอักเสบเรื้อรัง ที่นำมาใช้เป็นข้ออ้างเปิด “ศึกในมุ้ง” ครั้งใหม่ในอนาคต
หาก “อภิสิทธิ์” ยังไม่เร่งสะสางให้เกิดความชัดเจนภายในพรรคโดยเร็ว ก็เท่ากับปล่อยให้ “ศึกในมุ้ง” ยืดเยื้อ และทำให้ตัวเองต้องตกกระป๋องแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว