รอง หน.ปชป.พร้อมจับมือเลขาฯ ปชป.สู้ยกสุดท้ายปฏิรูปพรรค ยันพรรคเอาให้ชัดปฏิรูปหรือไม่ ปัดพูดถึงเปลี่ยน หน. แต่ไม่ยึดตัวบุคคลเพื่อชัยชนะ ทั้งหมดอยู่ที่ประชุมพรรค เชื่อทางที่ดี ย้ำต้องได้ข้อสรุปปฏิรูปโดยองค์รวม ปัดขู่พรรค แต่ต้องบริหารความเห็นต่างไม่แตกแยก โบ้ยสื่อตีความเองขู่ลาออก ยังอุบไต๋ ย้อนการบริหารไม่ประสบผล ต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น ขออย่าเปรียบกบฏ 10 มกรา ชี้เป็นระบบปิดควรเปิดให้ ปชช.รู้ อ้างแค่บางกลุ่มไม่หนุน
วันนี้ (7 ต.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคกลาง กล่าวถึงกรณีที่ทวิตเตอร์เกี่ยวกับการปฏิรูปพรรคว่าจะเป็นการต่อสู้ยกสุดท้ายของตนเองและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ว่า หลังจากกรรมการบริหารพรรครับหลักการแล้วก็จะประชุมครั้งที่สองเพราะถึงเวลาปฏิรูปพรรคไม่มีเวลาซื้ออีกต่อไป จะเอาปฏิรูปหรือไม่ก็ให้ชัดเจนออกมา ทั้งนี้ข้อตกลงที่หารือกันในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ตามขั้นตอนที่หารือตามระบบจนเมื่อมีความเห็นชอบข้อบังคับใหม่เข้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ซึ่งก็กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันต้องลาออกและมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
เมื่อถามว่า การปฏิรูปที่ต้องการคือการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า ไม่เคยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคแต่ว่าไม่อยากให้ยึดติดกับบุคคล แต่ต้องปฏิรูปพรรคเพื่อให้ได้รับชัยชนะ และไม่ขอตอบว่านายอภิสิทธิ์ยังมีความเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะไปไกลเกินไป เราไม่เคยพูดถึงตัวบุคคล หากสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพก้าวหน้า ได้ใครไปใครมาไม่สำคัญ อย่าติดยึดเรื่องตัวบุคคล โดยทั้งหมดอยู่ที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคจะตัดสินใจ ที่ผ่านมาการปฏิรูปไม่พูดถึงตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า หรือเลขาฯ ให้เป็นการตัดสินของสมาชิกพรรคทั้งหมด
นายอลงกรณ์กล่าวว่า การปฏิรูปจะทำให้พรรคกลับมาเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งด้านโครงสร้าง ข้อบังคับพรรค วันนี้เป็นการประชุมกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ใช่พิจารณาแค่ร่างข้อบังคับกับโครงสร้างเท่านั้น แต่ต้องหาข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการพรรคเพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่ตกลงกันไว้ คือ ปฏิรูปโดยองค์รวมทั้งหมด
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะยอมรับมติกรรมการบริหารพรรค เหตุใดจึงมีการข่มขู่ว่าจะต่อสู้เป็นยกสุดท้ายหมายความว่าจะลาออกหรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ข่มขู่ เพียงแต่ว่าได้อธิบายย้อนหลังว่าเคยมีเหตุการณ์ความเห็นต่างที่ทำให้นายเฉลิมชัย คิดจะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องการปฏิรูป และตนจะไม่เอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ต้องบริหารความเห็นที่แตกต่างโดยไม่แตกแยก
อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ไม่ยอมพูดให้ชัดเจนว่าจะลาออกจากกรรมการบริหารพรรคหรือ ส.ส.พรรคพร้อมกับนายเฉลิมชัย ตามที่มีการทวิตขู่หรือไม่ โดยอ้างว่าไม่เคยพูดถึงเรื่องลาออกสื่อตีความกันไปเอง ถ้าผลการประชุมไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปกลุ่มส.ส.ปฏิรูปจะดำเนินการให้สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยนำเสนอแนวทางปฏิรูปผ่านสาขา ส.ส. อย่าคิดว่าถ้าไม่เห็นด้วยแล้วจะลาออกอยู่มา 22 ปี มีหน้าที่ทำให้พรรคกลับมาชนะ เพราะการบริหารที่มาไม่ประสบความสำเร็จ แม้รัฐบาลผิดพลาดเราก็ไม่กระเตื้องขึ้น ตนในฐานะรองหัวหน้าพรรคจึงคิดว่าต้องปฏิรูปให้ดีขึ้นไม่ใช่เพื่อให้เกิดความแตกแยก เราต้องอดทนในฐานะสถาบันการเมืองความแตกต่างไม่ใช่แตกแยก เพราะการเสนอความเห็นแตกต่างหากกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วยพวกตนก็จะประชุมกลุ่ม ส.ส.ปฏิรูปซึ่งมีทุกภาคไม่ใช่แค่ภาคกลางเท่านั้น และตนเห็นว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคเพื่อดุลอำนาจกับรัฐบาล ในระบบสองพรรคการเมือง แต่ถ้าอ่อนแอจนเสียงในสภาต่างกันมากขึ้นจะเป็นผลเสียมากกว่า
“ไม่อยากให้นำเรื่องนี้ไปเทียบกับกรณี 10 มกรา เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว พรรคจะต้องเข้มแข็งไปสู่ความเป็นเอกภาพบริหารความแตกต่างให้ได้อย่าเอามาเปรียบเทียบกัน และการทวิตเตอร์ของผมอย่าใช้คำว่าขู่ เพราะเราเป็นระบบปิดมานานแล้วจึงต้องเปิดให้กว้างเพื่อให้ประชาชนรับทราบ มีแค่คนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนถ้าการปฏิรูปไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการจะลาออกหรือไม่นั้นยังไม่ขอตอบอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้” นายอลงกรณ์กล่าว
มีรายงานว่า สำหรับแผนสรุปการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมกก.บห.พรรค มีสาระสำคัญคือ เหตุผลที่ปฏิรูป เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้พรรคเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งได้ มีระบบการบริหารจัดการที่กระชับ รวดเร็ว ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1.เพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล 2.เปิดโอกาสให้ผู้เหมาะสมได้เข้ามาทำงาน 3. มีเอกภาพ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 4.ดูแลสมาชิกทั่วประเทศ 5.ให้เกิดการยอมรับในระดับสากล ซึ่งที่น่าสังเกตคือจะมีการตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้น 3 ชุดที่เปลี่ยนโครงสร้างเดิมของพรรค จากเดิมที่ทุกเรื่องจะให้ กก.บห.พรรคเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย โดยคณะกรรมการ 3 ชุด คือ 1. คณะกรรมการพรรค (บอร์ดพรรค) จะมีกรรมการทั้งชุดมากกว่า 27 คน โดยหัวหน้าพรรค จะเป็นเลขานุการบอร์ด ขณะที่เลขาธิการพรรคจะเป็นรองเลขานุการบอร์ดโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณาวุติอีก 12 คน ที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการที่หัวหน้าและเลขาฯ พรรคตั้งขึ้น คัดเลือกส.ส.จากที่ประชุมใหญ่อีก 10 คน และอาจมีการแต่งตั้งอดีตหัวหน้าหรืออดีตเลขาฯพรรคเข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่งโดยทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า เป็นอำนาจซ้อนอำนาจ ที่หัวหน้าและเลขาฯพรรค บริหารและตรวจสอบตัวเอง 2. คณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งชุดรวม 15 คน คือหัวหน้าพรรคตั้งก.ก. 9 คน เลขาฯ พรรคตั้งก.ก.อีก 3 คน และอีก 2 คน เลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรค 3. คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ ซึ่งให้อำนาจหัวหน้าและเลขาฯพรรค แต่งตั้งประธานเขตพื้นที่ เพื่อกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดและสรรหาบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ซึ่งกรรมการทั้ง3ชุดถูกสมาชิกพรรควิจารณ์ว่า รวบอำนาจรวมศูนย์มากกว่ากระจายอำนาจ คือกระจายอำนาจในระดับพื้นที่ภูมิภาคแต่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางที่หัวหน้าและเลขาฯ พรรคทั้งหมด