xs
xsm
sm
md
lg

แผนยึด ปชป.เหลว! “มาร์ค”จ่อหัวหน้าอีกสมัย- “จ้อน”เละ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(7 ต.ค.56) นายอัศวิน วิภูศิริ สส.บัญชีรายชื่อพรรค ในฐานะประธานคณะทำงานปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยหลังประชุมกรรมการบริหารพรรคเครียดนานกว่า 5 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้รับรองการปรับโครงสร้างพรรค แต่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด เช่น การตั้งคณะกรรมการพรรคหรือบอร์ดพรรค เห็นควรว่าให้คงใช้ตามเดิมคือสภาที่ปรึกษาพรรคที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิของพรรคในหลายด้าน เพราะเกรงว่าจะทำงานซ้ำซ้อนกับกรรมการชุดอื่นที่เสนอเข้ามาในโครงสร้างใหม่ ทั้งนี้กรรมการชุดที่สองหรือกรรมการบริหารพรรคเดิมมีการเสนอ 15 คน ก็เพิ่มเป็น 25 คน คือ ให้เพิ่มรองภาค 5 คน ทำงานในภาพรวมเพื่อดูแลพื้นที่ในแต่ละภาคที่ยังไม่มีประธานพื้นที่ในภาคนั้น ๆ และเพิ่มรองหัวหน้าพรรคในโควต้าหัวหน้าจากเดิม 3 คน เป็น 5 คน โดยให้รับผิดชอบงานในแต่ละด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ
ส่วนที่เสนอวันนี้มีการพิจารณาตามพิมพ์เขียวนายอลงกรณ์หรือไม่ นายอัศวิน กล่าวว่า สิ่งที่นายอลงกรณ์เสนอมาก็อยู่ในแผนที่เสนอต่อพรรคโดยนายอลงกรณ์เห็นด้วยเกือบทั้งหมดที่เสนอ โดยมีการปรับปรุงในแง่การบริหารและโครงสร้างไม่เกี่ยวกับนโยบายเพราะจะมีคณะยุทธศาสตร์ดำเนินการอีกคณะหนึ่ง ทั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยที่ประชุมมีมติอนุมัตให้แก้ข้อบังคับพรรคแล้ว ซึ่งจะเรียกประชุมส.ส.เพื่อพิจารณาก่อนโดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอต่อที่ประชุมส.ส.ได้ จากนั้นจึงจะมีการกำหนดวันเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ข้อบังคับพรรค และจะได้สอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ว่าจะสามารถเลือกกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรคไปในคราวเดียวกันได้หรือไม่ ซึ่งตามปกติเมื่อมีการแก้ข้อบังคับต้องส่งให้ กกต.ตรวจสอบรับรองข้อบังคับดังกล่าว โดยตนคิดว่าได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีทวิตเตอร์ข่มขู่ของนายอลงกรณ์ว่าหากไม่ได้ดังที่ต้องการก็จะเป็นยกสุดท้่ายของตัวเองและเลขาธิการพรรค นายอัศวิน กล่าวว่า มีการพูดคุยกันโดยมีการท้วงติงว่าไม่ควรโพสต์ลักษณะนั้น ซึ่งก็มีการชี้แจงเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ไม่มีอะไร ซึ่งนายอลงกรณ์ ชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาที่จะว่าหรือตำหนิใคร คิดว่าคงไม่มีการทวิตเตอร์ในลักษณะนี้ออกมาอีก โดยทุกคนพูดว่าหากมีอะไรให้พูดกันในพรรคซึ่งนายอลงกรณ์ก็รับปากว่าจะดำเนินการตามนี้ และวันนี้นายอลงกรณ์ก็มีความสุขดี ไม่มีการพูดถึงเรื่องการลาออกจากพรรค ทุกคนเข้าใจในแนวทางเดียวกันหมด
ส่วนที่โครงสร้างใหม่เหมือนเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรคหรือไม่นั้น นายอัศวิน กล่าวว่า การแต่งตั้งมีบางส่วนที่เป็นอำนาจของหัวหน้าเช่น การแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคเพิ่มจาก 3 เป็น 5 คน และตำแหน่งเลขาธิการพรรค หัวหน้าเป็นผู้เสนอต่อที่ประชุม ส่วนรองภาคให้ที่ประชุมเสนอและเลือกกันเองและ รองเลขาธิการพรรค เลขาธิการพรรคจะเป็นผู้เสนอ
สำหรับกรณีที่วิจารณ์ว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นเกมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคนั้น นายอัศวิน กล่าวว่า ตนยืนยันว่าไม่มีใครต้องการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ทุกอย่างเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และทุกคนยังพอใจที่จะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเดิมบ้าง โดยสิ่งที่แตกต่างคือจะมีประธานเขตในพื้นที่หรือคณะกรรมการปฏิบัติการเดิมมีการเสนอ 3 ชุด คือ กรรมการพรรคหรือบอร์ด แต่ตอนนี้กลับมาเป็นสภาที่ปรึกษาชุดเดิมเพราะเห็นว่าอาจจะซ้ำซ้อน ส่วนกรรมการบริหารพรรคยังเหมือนเดิมเพียงแต่เพิ่มมาเป็น 25 คน และมีคณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่เพิ่มขึ้น ส่วนนโยบายจะอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการกฎหมาย และมีสำนักซึ่งจะทำงานสนับสนุนเบื้องหลัง โดยปัจจุบันมีอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่ชัดเจน ก็จะจัดใหม่ให้เป็นระบบและแบ่งความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยให้รองแต่ละฝ่ายมาดูแล แต่วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะประชุมส่วนใหญ่ในเรื่องโครงสร้าง
นายอลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทวิตเตอร์ก่อนหน้าวว่า ข้อตกลงที่หารือกันในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ตามขั้นตอนที่หารือตามระบบจนเมื่อมีความเห็นชอบข้อบังคับใหม่เข้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ซึ่งก็กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันต้องลาออกและมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ส่วนการปฏิรูปที่ต้องการคือการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ไม่เคยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคแต่ว่าไม่อยากให้ยึดติดกับบุคคล แต่ต้องปฏิรูปพรรคเพื่อให้ได้รับชัยชนะ และไม่ขอตอบว่านายอภิสิทธิ์ ยังมีความเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะไปไกลเกินไป เราไม่เคยพูดถึงตัวบุคคล หากสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพก้าวหน้า ได้ใึครไปใครมาไม่สำคัญ อย่าติดยึดเรื่องตัวบุคคล โดยทั้งหมดอยู่ที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคจะตัดสินใจ ที่ผ่านมาการปฏิรูปไม่พูดถึงตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า หรือเลขาให้เป็นการตัดสินของสมาชิกพรรคทั้งหมด
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การปฏิรูปจะทำให้พรรคกลับมาเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งด้านโครงสร้าง ข้อบังคับพรรค วันนี้เป็นการประชุมกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ใช่พิจารณาแค่ร่างข้อบังคับกับโครงสร้างเท่านั้น แต่ต้องหาข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการพรรคเพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่ตกลงกันไว้ คือ ปฏิรูปโดยองค์รวมทั้งหมด
กรณีข่มขู่ว่าจะต่อสู้เป็นยกสุดท้ายหมายความว่าจะลาออกหรือไม่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ข่มขู่ เพียงแต่ว่าได้อธิบายย้อนหลังว่าเคยมีเหตุการณ์ความเห็นต่างที่ทำให้นายเฉลิมชัย คิดจะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องการปฏิรูป และตนจะไม่เอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ต้องบริหารความเห็นที่แตกต่างโดยไม่แตกแยก
อย่างไรก็ตามนายอลงกรณ์ไม่ยอมพูดให้ชัดเจนว่าจะลาออกจากกรรมการบริหารพรรคหรือ ส.ส.พรรคพร้อมกับนายเฉลิมชัย ตามที่มีการทวิตขู่หรือไม่ โดยอ้างว่า ไม่เคยพูดถึงเรื่องลาออกสื่อตีความกันไปเอง
“ไม่อยากให้นำเรื่องนี้ไปเทียบกับกรณี 10 มกรา เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว พรรคจะต้องเข้มแข็งไปสู่ความเป็นเอกภาพบริหารความแตกต่างให้ได้อย่าเอามาเปรียบเทียบกัน และการทวิตเตอร์ของผมอย่าใช้คำว่าขู่ เพราะเราเป็นระบบปิดมานานแล้วจึงต้องเปิดให้กว้างเพื่อให้ประชาชนรับทราบ มีแค่คนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนถ้าการปฏิรูปไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการจะลาออกหรือไม่นั้นยังไม่ขอตอบอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้” นายอลงกรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนสรุปการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอเข้าที่ประชุมกก.บห.พรรค มีสาระสำคัญคือ เหตุผลที่ปฏิรูป เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้พรรคเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งได้ มีระบบการบริหารจัดการที่กระชับ รวดเร็ว ทันสมัย มีประสิทธิภาพ
โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1.เพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล 2.เปิดโอกาสให้ผู้เหมาะสมได้เข้ ามาทำงาน 3. มีเอกภาพ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 4.ดูแลสมาชิกทั่วประเทศ5.ให้เกิดการยอมรับในระดับสากล ซึ่งที่น่าสังเกตคือจะมีการตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้น 3 ชุดที่เปลี่ยนโครงสร้างเดิมของพรรค จากเดิมที่ทุกเรื่องจะให้ กก.บห.พรรคเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย โดยคณะกรรมการ 3 ชุด คือ
1.คณะกรรมการพรรค (บอร์ดพรรค) จะมีกรรมการทั้งชุดมากกว่า27 คน โดยหัวหน้าพรรค จะเป็นเลขานุการบอร์ด ขณะที่เลขาธิการพรรคจะเป็นรองเลขานุการบอร์ดโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณาวุติอีก 12 คน ที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการที่หัวหน้าและเลขาฯพรรคตั้งขึ้น คัดเลือกส.ส.จากที่ประชุมใหญ่อีก 10 คน และอาจมีการแต่งตั้งอดีตหัวหน้าหรืออดีตเลขาฯพรรคเข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่งโดยทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า เป็นอำนาจซ้อนอำนาจ ที่หัวหน้าและเลขาฯพรรค บริหารและตรวจสอบตัวเอง
2.คณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งชุดรวม 15 คน คือหัวหน้าพรรคตั้งก.ก. 9 คน เลขาฯพรรคตั้งก.ก.อีก 3 คน และอีก 2 คน เลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรค
3.คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ ซึ่งให้อำนาจหัวหน้าและเลขาฯพรรค แต่งตั้งประธานเขตพื้นที่ เพื่อกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดและสรรหาบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ซึ่งกรรมการทั้ง3ชุดถูกสมาชิกพรรควิจารณ์ว่า รวบอำนาจรวมศูนย์มากกว่ากระจายอำนาจ คือกระจายอำนาจในระดับพื้นที่ภูมิภาคแต่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางที่หัวหน้าและเลขาฯพรรคทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น