ผอ.สำนักวิจัยฯ สถาบันพระปกเกล้า ยันเคยชงปรองดองไม่ใช่แบบที่รัฐกำลังทำ กลับเลือกเอาแต่ที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แถมยั่วยุสร้างรอยร้าว เตือนอย่าเป็นคนสร้างปม เลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะที่ 58 สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ร่วมต้านด้วย
วันนี้ (6 พ.ย.) ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ก่อนหน้านี้สถาบันพระปกเกล้าเคยเสนอผลการวิจัยเรื่องการปรองดอง ไม่ใช่รูปแบบที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ โดยได้เสนอว่าความปรองดองจะต้องเริ่มจากทุกฝ่ายร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยรัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมืองชัดเจน มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติ สร้างความตระหนักแก่สังคมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างความปรองดอง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องนั้น ทุกฝ่ายควรงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ สื่อมวลชนควรสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดองและหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งใหม่โดยนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน
“ปรากฏว่าแนวทางดังกล่าวมิได้ถูกนำมาปฏิบัติให้เป็นผล แต่กลับมีการเลือกใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มคือการนิรโทษกรรม และมีการสร้างสิ่งยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลต้องนำประเทศกลับสู่สันติสุขให้ได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และอย่าเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง อย่าปล่อยให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยต่อไป” ดร.ถวิลวดีกล่าว
ดร.ถวิลวดีเสนอว่า การสร้างความปรองดองต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคำนึงถึง ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อ ทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต และ ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยน เป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาของประเทศไทย
ขณะที่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยนางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ และนายสมควร รวิรัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ พร้อมด้วยสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ รวมจำนวน 58 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ต่อต้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า เพื่อความถูกต้องและชอบธรรม ตามหลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 58 ราย จึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.......