ที่ปรึกษา กกต. เผย กกต. เตรียมยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความ ม.214 ชี้ขาดอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง หลังรัฐบาล-กกต. เห็นแย้งกัน ชี้ปัญหา 28 เขตไร้ผู้สมัคร และขาดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แถมทำงานลำบาก ถึงรัฐบาลไม่เลื่อน กกต. ใช้มาตรา 78 เลื่อนได้หากสถานการณ์บานปลาย ด้าน กกต. แจ้งเปลี่ยนสถานที่เขตเลือกตั้งกลาง กทม.ไป สนง.เขตดินแดง สงขลากากบาทในค่าย ตชด.-สุราษฎร์ซุกภาค 8
วันนี้ (21 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกต. ได้ขอหารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯมีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ควรที่กกต.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีที่รัฐบาลยืนยันว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ และ กกต. เห็นว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยได้ โดยจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลื่อนการเลือกตั้งด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เป็นอำนาจของใคร ซึ่งทราบว่าสำนักงาน กกต. จะได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้คณะที่ปรึกษากฎหมาย เห็นว่า สถานการณ์ในขณะนี้ กกต. สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะใน 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าการเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวทั่วประเทศ คำถามคือ 28 เขตไม่มีผู้สมัครจะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งวันเดียวได้อย่างไร ซึ่งหากไม่มีเลือกตั้งใน 28 เขตก็จะได้ ส.ส.ไม่ครบ 95% ที่จะเปิดสภาฯ ได้ การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเปล่าประโยชน์
“เสียงส่วนใหญ่ของคณะที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่าควรปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้มาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ คือ กรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างองค์กร เนื่องจากรัฐบาลบอกว่าไม่ใช่อำนาจตัวเอง ฝ่าย กกต.ก็บอกว่าไม่ใช่อำนาจของตัวเอง องค์ประกอบในการยื่นตีความครบ โดยถามศาลรัฐธรรมนูญ ว่า สถานการณ์อย่างนี้ กกต.เห็นว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.ฎ.เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่รัฐบาลบอกไม่มีอำนาจ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ว่าเป็นอำนาจของใครที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ซึ่งทราบว่า ทาง กกต.จะมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเช้าวันพุธที่ 22 ม.ค.” นายสมคิด กล่าว
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาคือ 28 เขตในภาคใต้ไม่มีผู้สมัคร และยังขาดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) อีกประมาณ 5 หมื่นคน ไปขอใช้สถานที่ราชการก็ไม่ให้ใช้ ถามว่าในวันที่ 2 ก.พ.จะแจกบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้มาใช้สิทธิ์กี่ใบ ถ้าแจกใบเดียวเฉพาะบัตรลงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เป็นการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ คนส่วนใหญ่อาจจะยอมรับแจกบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่คนส่วนน้อย คือ กปปส. อาจจะไม่ยอม อาจมีการฟ้องร้องกันอุตลุดว่าขาดหลักความเสมอภาค สถานการณ์วันนี้ไม่ปกติ จัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่ได้หรอก เพราะ28 เขตไม่มีผู้สมัคร กปน. ไม่ครบ พอถึงวันเลือกตั้งแม้ตั้ง กปน.ได้ก็ยังขาดอยู่ดี กกต.หาที่นั่งทำงานยังลำบาก ไม่มีใครอยากให้ใช้สถานที่แล้วจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ฟันธงได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.จะเกิดขึ้นหรือไม่ ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ตนไม่รู้ คนที่รู้คือนายกฯ และประธาน กกต. แต่ถ้าตนมีอำนาจสั่งให้มีเลื่อนการเลือกตั้งไปแล้ว ตนไม่ผลาญเงิน 3,800 ล้านบาทหรอก คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงเร่งพิจารณาและทันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่ต้องสืบพยาน
“ในตอนนี้มีการมองไปข้างหน้าแล้วว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นอำนาจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะใช้หรือไม่ใช่ก็ได้ เมื่อมีอำนาจไม่ทำก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ารัฐบาลยอมรับก็ต้องทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ใหม่เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งก็เคยทำมาแล้ว ส่วนตัวผมมองว่าระยะเวลาที่เหมาะสมคือเลื่อนไปอีก 6 เดือน” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
เมื่อถามว่า สมมุติว่ารัฐบาลไม่ยอมรับที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด กกต. ควรดำเนินการอย่างไร ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า กกต. ต้องมาดูว่าอำนาจตัวเองมีแค่ไหน ตามมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจจะเลื่อนวันลงคะแนนออกไปได้ ท้ายที่สุด กกต. ต้องใช้มาตรา 78 แน่นอนก่อนวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะเขตที่ไม่มี กปน. กกต. ถึงได้ลังเลว่า ถ้าไม่จัดเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ถูกฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แน่นอน ดังนั้นจึงต้องจัดการเลือกตั้งต่อไปแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะได้เตือนรัฐบาลไปแล้ว
อีกด้านหนึ่งที่สำนักงาน กกต. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงาน กกต. เปิดเผยว่า ในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. นี้ที่ กกต. ได้กำหนดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดไว้ 153 แห่งใน 77 จังหวัดนั้นขณะนี้ กกต. จังหวัดใน 11 จังหวัดได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงสถานที่เลือกตั้งนอกเขตจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด
โดยสถานที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1. กรุงเทพมหานคร ในส่วนของ ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ในเขตดินแดง ขอให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ภายในสำนักงานเขตดินแดง 2. จ.กระบี่ ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงยิมอเนกประสงค์ 2 สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ 3. จ.ตรัง ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงยิมเนเซียม 4 พันที่นั่งสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง (ทุ่งแจ้ง) 4. จ.นครศรีธรรมราช ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงยิมเนเซียม สนามกีฬากลางจ.นครศรีธรรมราช 5. จ.พัทลุง ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่สนามฟุตบอลค่าย ตชด. 434
6. จ.สงขลา ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หอประชุมกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 7.จ.สุราษฎร์ธานี ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 อ.เมืองฯ 8.จ.ตาก ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ที่อำเภอเมืองตาก ให้ไปใช้สิทธิที่อาคารกิตติคุณเทศบาลเมืองตาก 9. จ.นราธิวาส ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ที่ อ.รือเสาะ ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ศาลาประชาคม อำเภอรือเสาะ 10. จังหวัดปทุมธานี ให้ไปสิทธิเลือกตั้งที่สนามกีฬาสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก และเยาวชนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลเมืองท่าโขลง อ.คลองหลวง 11. จังหวัดปัตตานี ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ที่อำเภอยะรัง ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่หอประชุมโรงเรียนประตูโพธิ์วิทยา อ.ยะรัง
นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว ซึ่งจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้งและตรวจสอบสถานที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดได้ที่ www.ect.go.th และ www.khonthai.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด