xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นตีความเลื่อนเลือกตั้ง รัฐบาล-กกต.เห็นแย้งปมอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 21 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ขอหารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ควรที่ กกต.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยกรณีที่รัฐบาลยืนยันว่า ไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ และกกต.เห็นว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยได้ โดยจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลื่อนการเลือกตั้งด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เป็นอำนาจของใคร ซึ่งทราบว่า สำนักงานกกต.จะได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (22 ม.ค.)
ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษากฎหมาย เห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้ กกต.สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะใน 28 เขตเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัคร ตามรัฐธรรมนูญระบุว่า การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวทั่วประเทศ คำถามคือ 28 เขตไม่มีผู้สมัคร จะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งวันเดียวได้อย่างไร ซึ่งหากไม่มีเลือกตั้งใน 28 เขต ก็จะได้ ส.ส.ไม่ครบ 95% ที่จะเปิดสภาฯได้ การเลือกตั้งในครั้งนี้ จึงเปล่าประโยชน์
“เสียงส่วนใหญ่ของคณะที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่า ควรปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้ มาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ คือกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างองค์กร เนื่องจากรัฐบาลบอกว่าไม่ใช่อำนาจตัวเอง ฝ่าย กกต.ก็บอกว่าไม่ใช่อำนาจของตังเอง องค์ประกอบในการยื่นตีความครบ โดยถามศาลรัฐธรรมนูญว่า สถานการณ์อย่างนี้ กกต.เห็นว่ารัฐบาลควรออกพ.ร.ฎ.เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่รัฐบาลบอกไม่มีอำนาจ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ว่าเป็นอำนาจของใครที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ซึ่งทราบว่าทาง กกต.จะมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเช้าวันพุธที่ 22 ม.ค."
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า ปัญหา คือ 28 เขตในภาคใต้ ไม่มีผู้สมัคร และยังขาดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอีกประมาณ 5 หมื่นคน ไปขอใช้สถานที่ราชการ ก็ไม่ให้ใช้ ถามว่าในวันที่ 2 ก.พ. จะแจกบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้มาใช้สิทธิ์กี่ใบ ถ้าแจกใบเดียวเฉพาะบัตรลงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เป็นการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ คนส่วนใหญ่อาจจะยอมรับแจกบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่คนส่วนน้อยคือ กปสส. อาจจะไม่ยอม อาจมีการฟ้องร้องกันอุตลุดว่า ขาดหลักความเสมอภาค สถานการณ์วันนี้ไม่ปกติ จัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่ได้หรอก เพราะ 28 เขตไม่มีผู้สมัคร กปน.ไม่ครบ พอถึงวันเลือกตั้งแม้ตั้ง กปน.ได้ ก็ยังขาดอยู่ดี กกต.หาที่นั่งทำงานยังลำบาก ไม่มีใครอยากให้ใช้สถานที่ แล้วจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ฟันธงได้หรือไม่ว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. จะเกิดขึ้นหรือไม่ ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ตนไม่รู้ คนที่รู้คือนายกฯ และประธาน กกต. แต่ถ้าตนมีอำนาจ สั่งให้มีเลื่อนการเลือกตั้งไปแล้ว ตนไม่ผลาญเงิน 3,800 ล้านบาทหรอก คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญ คงเร่งพิจารณาและทันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่ต้องสืบพยาน
“ในตอนนี้มีการมองไปข้างหน้าแล้วว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นอำนาจของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะใช้ หรือไม่ใช้ก็ได้ เมื่อมีอำนาจไม่ทำ ก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ารัฐบาลยอมรับ ก็ต้องทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ใหม่ เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งก็เคยทำมาแล้ว ส่วนตัวผมมองว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมคือเลื่อนไปอีก 6 เดือน” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
เมื่อถามว่า สมมุตว่า รัฐบาลไม่ยอมรับที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด กกต. ควรดำเนินการอย่างไร ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า กกต.ต้องมาดูว่า อำนาจตัวเองมีแค่ไหน ตามมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจจะเลื่อนวันลงคะแนนออกไปได้ ท้ายที่สุด กกต.ต้องใช้มาตรา 78 แน่นอนก่อนวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะเขตที่ไม่มี กปน. ทางกกต.ถึงได้ลังเลว่าถ้าไม่จัดเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ถูกฟ้องละเว้นการปฏิบัตหน้าที่แน่นอน ดังนั้นจึงต้องจัดการเลือกตั้งต่อไป แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะได้เตือนรัฐบาลไปแล้ว
**ขอศาลรธน.วินิจฉัย 2 ประเด็น

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ระหว่างการรับสมัครส.ส.แบบ บัญชีรายชื่อ วันที่ 23-27 ธ.ค.56 เกิดเหตุผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก กกต.เสียใจมาก เพราะไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งที่ กกต.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 43 จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ระหว่าวันที่ 28 ธ.ค.56 -1 ม.ค.57 มีปัญหามากโดย 28 เขตใน 8 จังหวัด ภาคใต้ไม่มีผู้สมัคร และบางเขตมีผู้สมัครคนเดียว ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20%
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กต.จว.) 15 จังหวัด มีปัญหาเปิดไม่ได้ มีเปิดได้เพียง 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนที่เหลือถูกปิดล้อมไป พร้อมกับการปิดล้อมศาลากลางจังหวัด ขณะเดียวกันกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ที่ต้องใช้ 1.4 แสนคน ตอนนี้มีแค่ 5 หมื่นคน ซึ่งสามารถออก และปฏิเสธการเป็นกปน.ได้ ตอนนี้ก็พยายามหาอยู่ทุกวัน ส่วนวันที่ 26 ม.ค. จะมีการเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ใน 15 จังหวัด ตอนแรกมี 24 แห่งให้ใช้สถานที่ได้ แต่วันต่อมาไม่ให้ใช้ แม้ในวันที่ 26 ม.ค. จะหาสถานที่ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะถูกปิดล้อมหรือไม่
ขณะเดียวกันโรงพิมพ์คุรุสภาที่ กกต.ว่าจ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้งถูกปิดล้อม ตัดน้ำตัดไฟ ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 ม.ค. น.ส.อานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ได้ทำหนังสือแจ้งว่า ในวันนี้ กปปส.ได้เข้าไปปิดล้อมพื้นที่ทางเข้าออกสำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ และที่ทำการไปรษณีย์หลายแห่ง เนื่องจากทราบว่า ปณท. มีภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้ง ส.ส.โดยทางแกนนำ กปปส. ขอให้ ปณท.ยุติการฏิบัติภารกิจดังกล่าว หากยังคงดำเนินการอยู่ กปปส. จะตัดน้ำตัดกระแสไฟฟ้า รวมทั้งปิดระบบการขนส่งสิ่งของ และระบบการให้บริการของ ปณท.ทั้งหมด ดังนั้น ปณท.จึงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส.ได้อีกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตรงนี้คือปัญหาที่ กกต.เจอ หนักหนาสาหัสมาก
นอกจากนี้ที่ จ.ชุมพร และ พัทลุงได้มีการยึดบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ ปณท.ไม่ได้ส่งบัตรเลือกตั้งให้ ทางสำนักงาน กกต.จะใช้ทรัพยากรที่เรามี พยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า จากกรณีที่ กกต.เสนอเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป แต่รัฐบาลบอกว่าเลื่อนไม่ได้ กกต.ได้พิจารณาสอบถาม รวมทั้งหาข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และมีมีมติเอกฉันท์ ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ
1. หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ดังกรณีที่ได้กราบเรียนมานี้ จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้หรือไม่ และ 2. อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เป็นอำนาจขององค์กรใด ระหว่างผู้ร้อง คือ กกต.กับ ครม. โดยนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการกราบบังคมทูลฯ เสนอเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ในร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และเป็นผู้ที่จะต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตามความเห็นของกกต.
ทั้งนี้ กกต.ทั้ง 5 คนได้ลงนามแล้ว โดยจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย กกต.ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ( 22 ม.ค.)

**เปลี่ยนที่เลือกตั้งกลางนอกเขตใน 11 จว.อีก

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานกกต. เปิดเผยว่า ในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค.นี้ ที่กกต.ได้กำหนดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดไว้ 153 แห่ง ใน 77 จังหวัดนั้น ขณะนี้ กกต.จังหวัดใน 11 จังหวัด ได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงสถานที่เลือกตั้งนอกเขตจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด โดยสถานที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย
1. กรุงเทพมหานคร ในส่วนของผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ในเขตดินแดง ขอให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ภายในสำนักงานเขตดินแดง 2. จ.กระบี่ ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงยิมอเนกประสงค์ 2 สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ 3. จ.ตรัง ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงยิมเนเซียม 4000 ที่นั่งสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง (ทุ่งแจ้ง) 4. จ.นครศรีธรรมราช ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงยิมเนเซียม สนามกีฬากลาง จ.นครศรีธรรมราช 5. จ.พัทลุง ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่สนามฟุตบอลค่าย
ตชด. 434
6. จ.สงขลา ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หอประชุมกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 7. จ.สุราษฎร์ธานี ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 อ.เมืองฯ 8. จ.ตาก ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ที่อำเภอเมืองตาก ให้ไปใช้สิทธิที่อาคารกิตติคุณเทศบาลเมืองตาก 9. จ.นราธิวาส ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ที่ อ.รือเสาะ ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ศาลาประชาคม อำเภอรือเสาะ 10. จ.ปทุมธานี ให้ไปสิทธิเลือกตั้งที่สนามกีฬาสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก และเยาวชนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลเมืองท่าโขลง อ.คลองหลวง 11. จ.ปัตตานี ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ที่ อ.ยะรัง ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่หอประชุมโรงเรียนประตูโพธิ์วิทยา อ.ยะรัง
นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว ซึ่งจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้งและตรวจสอบสถานที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดได้ที่ www.ect.go.th และ www.khonthai.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด

**พท.กล่อมลูกพรรคมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.แน่

ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับ ส.ส.พรรคกรณีที่ ป.ป.ช. ส่งหนังสือให้ส.ส.และส.ว. ทั้ง 308 คน ชี้แจงเกี่ยวกับการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. โดยแกนนำพรรคเพื่อไทย สั่งการให้ผู้สมัคร ส.ส.เดินหน้าหาเสียงเลือกตั้งต่อไป โดยยืนยันว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. จะเกิดขึ้นแน่นอน ขณะเดียวกันได้กำชับเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ มิให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยการประชุมครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้มอบเงินสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. คนละ 1 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ให้ไปแล้วคนละ 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคให้ปัจจัยสนับสนุนน้อยกว่าคราวที่แล้วถึงหนึ่งเท่าตัว ทำให้ผู้สมัครส.ส.บางส่วน รู้สึกไม่พอใจ โดยเฉพาะผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต ที่ต้องเจอคู่แข่งขันที่สูสี
ขณะเดียวกัน แกนนำพรรคยังได้สั่งการให้ผู้สมัคร ส.ส.กว่า 200 คน ที่ถูก ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาให้ไปชี้แจงว่า หาก ส.ส.คนใดที่ได้รับหนังสือมา ให้ตอบกลับไปว่าขอเลื่อนการชี้แจงไปในช่วงหลังเลือกตั้ง โดยให้อ้างว่าติดภารกิจหาเสียง หลังจาก ป.ป.ช.ระบุต้องไปแจ้งช่วงวันที่ 29-31ม.ค. ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวการหาเสียงโค้งสุดท้าย โดยขอให้ ส.ส.ทุกคนตอบหนังสือกลับไปในทิศทางเดียวกัน

**บช.น.แถลงเตรียมความพร้อมวันเลือกตั้ง

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. แถลงกรณี การเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. และการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. 57 ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้สั่งการให้ทุกกองบัญชาการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง (ศรส.ลต) ซึ่ง บช.น. ได้เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว และได้กำหนดแผนการปฏิบัติไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นแรก การเตรียมการ โดยกำหนดให้รวบรวมข้อมูลและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ ในการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความพร้อมอย่างเต็มที่
ขั้นที่2 ก่อนการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศรส.ลต.บช.น.) และดำเนินการกวาดล้างอาชญากรรมพร้อมทั้งดูแลป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทุจริตการเลือกตั้ง
ขั้นที่ 3 การเลือกตั้ง มีการจัดกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจุดที่มีการจัดเลือกตั้งและที่นับคะแนนรวมทั้งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเลือกตั้งพร้อมทั้งสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อได้รับการร้องขอ หรือกรณีเร่งด่วน
ขั้นที่4 ตอนหลังการเลือกตั้ง มีการติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดูแลความปลอดภัยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งตามความเหมาะสม รวมทั้งเร่งรัดการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งก่อนจะสรุปผลอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ มีเขตเลือกตั้งจำนวน 33 เขต รวม 6,671 หน่วยเลือกตั้ง แต่ละหน่วยจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย และเจ้าหน้าที่ทหาร 1 นาย เข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย รวมกำลังตำรวจที่ใช้จำนวนทั้งสิ้น 12,495 นาย บช.น. ยืนยันว่า มีความพร้อมที่จะดำเนินการ และมีการจัดเตรียมกำลังพลในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งอย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น