xs
xsm
sm
md
lg

กำหนดวันเลือกตั้งใหม่

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันสองวันนี้น่าจะมีการพบปะกันอย่างเป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีกับกกต. หลังจากน่าจะได้มีบทสนทนาวงในผ่านช่องทางต่าง ๆ กันไปมาอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่สามารถทำได้ และเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีร่วมกับประธานกกต. ผลจะออกมาเป็นอย่างไรในที่สุดยังไม่ทราบ และผลนั้นจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เริ่มจะเข้าใกล้สงครามกลางเมืองยุติลงหรือไม่ยิ่งยังไม่ทราบและยากจะคาดเดา

แต่หนทางของรัฐบาลดูจะแคบเข้า ๆ ทุกที

เพราะถึงจะตั้งธงไว้แต่เดิมว่าจะไม่ยอมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เด็ดขาด แต่สถานการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2557 นอกจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นใจกับรัฐบาลแล้ว ที่หนักหนาสาหัสกว่าเห็นจะเป็นแถลงการณ์กกต.ที่ออกมาในตอนเย็น

หลายคนเรียกว่าเป็นการแจกใบแดงล่วงหน้า !

สรุปสั้น ๆ ภาษาชาวบ้านว่ากกต.เตือนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีอันตรายร้ายแรงเสี่ยงต่อการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (4) และขัดระเบียบกกต. หมายถึงขัดกฎหมายเลือกตั้งด้วย เนื่องจากเป็นการประกาศในขณะที่เป็นรัฐบาลรักษาการและมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งบังคับใช้อยู่ ผู้ประกาศและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกคำสั่งต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรคการเมือง

เดินหน้าเลือกตั้งต่อไปตามกำหนดเดิมก็เจอข้อหาทำผิดกฎหมายเลือกตั้งระดับใบแดง

อันจะนำไปสู่การยุบพรรคอีกครั้ง

อันที่จริงกกต.ยังปรานีด้วยซ้ำ เพราะถ้าเห็นอย่างแถลงการณ์ไม่ต้องออกแถลงการณ์เตือนด้วยซ้ำ ดำเนินการตามกฎหมายเลยได้ทันที แต่เชื่อว่ากกต.คงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ต้องการหาทางออกให้บ้านเมือง

การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่หากจะเกิดมีขึ้นต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่แค่เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เท่านั้น

แต่จะเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่

อันจะทำให้มีการกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่รับสมัครใหม่หมดด้วย


เวลาพูดเรื่องนี้จึงไม่ควรใช้คำว่าเลื่อนเลือกตั้ง เพราะจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเลื่อนเฉพาะวันเลือกตั้งออกไปก่อน แต่ควรใช้คำตามที่กกต.และศาลรัฐธรรมนูญใช้ตรงกันว่ากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หรือเต็ม ๆ ประโยคว่ากำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่

ศาลรัฐธรรมนูญท่านชี้ว่าจริงอยู่การยุบสภานั้นสามารถกระทำได้ครั้งเดียว แต่วันเลือกตั้งที่ระบุอยู่ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ได้ตายตัวถึงขนาดว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยหากเกิดเหตุสุดวิสัยจริง ๆ กฎหมายเขียนขึ้นมาเพื่อให้ใช้บังคับได้ การกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ภายในไม่เกิน 60 วันก็เพื่อเร่งรัดให้ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่และรัฐบาลใหม่โดยเร็ว แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยโดยสุจริตใจที่ไม่อาจเป็นไปตามนั้นได้ก็ย่อมกำหนดขึ้นใหม่ได้เพื่อการแก้ปัญหาและความสงบสุขของบ้านเมือง

ปี 2549 ก็เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ก็มีการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกายุบสภาฉบับเดิมกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่

ครั้งนี้แม้จะยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง แต่เหตุการณ์ก็ชัดเจนแล้วว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ยากจะสำเร็จและสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเพิ่มขึ้น

ศาลท่านจึงชี้ว่าการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่สามารถทำได้

ส่วนที่ว่าอำนาจเป็นของใครนั้น หากอ่านคำวินิจฉัยให้ละเอียดท่านก็ใช้ฐานจากมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกายุบสภาที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการร่วมกับประธานกกต.เป็นหลัก และก็เป็นที่ชัดเจนว่าอำนาจจัดการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นของกกต. ถ้าคนจัดการเลือกตั้งเห็นว่าไม่อาจทำได้ ก็ควรจะฟังเป็นหลัก แต่ทว่าการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่นั้นต้องทำโดยการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเดิม กกต.ไม่มีช่องทางใดที่จะตราพระราชกฤษฎีกาได้ ต้องรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ศาลท่านจึงชี้ว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องปรึกษากับประธานกกต.

มติในการชี้ข้อแรกนั้นเอกฉันท์ 8 : 0

มติในการชี้ข้อหลัง 7 : 1

ให้ผมเดานะ คาดว่า 1 เสียงในมติหลังต้องการให้ชี้ให้ชัดเจนลงไปเลยด้วยซ้ำว่าเป็นอำนาจของกกต.

แต่เสียงข้างมาก 7 เสียงเห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ หรือจะพูดภาษาชาวบ้านให้เข้ายุคสมัยอีกอย่างได้ว่า set zero กระบวนการเลือกตั้งใหม่ ไม่มีทางจะทำโดยประกาศกกต.ได้ ต้องทำโดยการตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น จึงต้องชี้ว่าอำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีด้วย

จะพูดว่าอำนาจใครเป็นหลักเป็นรองในกรณีนี้แล้วแต่มุมมอง

จะพูดว่าอำนาจกกต.เป็นหลักก็ไม่ผิด เพราะในกระบวนการยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ทุกครั้งการจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญของกกต.ที่เป็นองค์กรอิสระ อำนาจนายกรัฐมนตรีมีเพียงตัดสินว่าจะยุบสภา แค่จะกำหนดวันเลือกตั้งครั้งแรกก็ต้องปรึกษาหารือกับกกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ และเมื่อยุบสภาแล้วความเป็นรัฐบาลก็สิ้นสุดไปด้วยเพราะรัฐบาลมาจากสภา กฎหมายให้รักษาการอยู่เพื่อไม่ให้บ้านเมืองว่างเว้นรัฐบาลเท่านั้น แต่ก็มีข้อกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็น เฉพาะการออกกฎหมายก็อาจกล่าวได้ว่าการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาเป็นอำนาจครั้งสุดท้าย

แต่จะพูดว่าอำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นหลักก็ไม่ผิด เพราะไม่ว่ากกต.จะเห็นอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ตราพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่เสียอย่าง ก็ไม่มีทางเป็นอื่น

ในประเด็นหลังนี้ทักษิณ ชินวัตรคงต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ

ถ้าจะยืนความเห็นเดิมก็ได้ แต่รัฐบาลก็จะตกเป็นผู้ถูกกล่าวอีกหลายคดี มีโอกาสโดนใบแดง มีโอกาสถูกยุบพรรคซ้ำสาม

เพราะเส้นทางของกฎหมายบ่งบอกไว้เช่นนั้น

แต่ถึงจะยอมถอยอีกก้าวใหญ่ก็หาใช่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลง ประการแรกสุดในการตกลงหาข้อสรุปกับกกต.ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะยังต้องฟังความเห็นจากพรรคประชาธิปัตย์ และโดยเฉพาะอย่าง
ยิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่รู้ว่ามวลชนที่ชุมนุมต่อต้านมา 3 เดือนจะมีความเห็นอย่างไร

หรือว่าจะเสี่ยงกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ให้เลยไปสัก 6 เดือนก่อนแล้วใช้เวลาระหว่างนี้จัดการพูดคุยกับทุกฝ่ายโดยหวังว่าจะตกลงกันได้ และการเลือกตั้งที่กำหนดใหม่จะมีพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัคร และมวลชนลดระดับการชุมนุมคัดค้าน

รัฐบาลมีความสุขเล็ก ๆ ที่ได้นั่งรักษาการต่อไป

แต่ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ เพราะไม่รู้จะเจอความทุกข์หนักจากคดีความที่จะเข้าคิวออกมาจากศาลและองค์กรอิสระให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เข้าวันใดวันหนึ่ง

มวลชนต้องเหนื่อยต่อไปอีกไม่รู้นานแค่ไหน

ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยปี 2549 หรือไม่ไม่อาจพยากรณ์ เพราะครั้งนั้นมีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่แล้ว แต่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ และในที่สุดก็เกิดเหตุขึ้นก่อนจะถึงวันเลือกตั้งที่ได้กำหนดขึ้นใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น