ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เห็นท่าจะไม่จบลงได้ง่ายๆ และที่ยังพยายามเดินหน้ากันต่อไปนั้น ท้ายที่สุดแล้วจะโมฆะหรือไม่ ก็ยังไม่รู้ แต่ผู้ที่จะร้องศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าโมฆะหรือไม่นั้น มีแน่
ล่าสุด กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งเพิ่มเติม ในส่วนที่ยังทำไม่สำเร็จ 2 เรื่อง คือกำหนดให้วันที่ 20 ก.พ.เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตรอบสอง สำหรับผู้ที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ไม่ได้ และ กำหนดให้วันที่ 27ก.พ. เป็นวันลงคะแนนชดเชยการลงคะแนนจริงในวันที่ 2 ก.พ. ที่มี 21 จังหวัด ที่ยังลงคะแนนไม่ได้
ส่วนการเลือกตั้งใน 28 เขต ของภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้สมัคร และยังไม่มีการลงคะแนนเลยนั้น กกต.ได้ทำหนังสือไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า กกต.ไม่สามารถออกประกาศกกต.ให้ดำเนินการเลือกตั้งได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 7 ระบุว่า กกต. จะต้องออกประกาศการรับสมัครเลือกตั้งภายใน 20 วัน นับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. แต่ขณะนี้ได้ล่วงเลยเวลามาแล้ว ดังนั้น กกต.ไม่สามารถออกประกาศได้ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
เมื่อหนังสือจาก กกต.ไปถึงนายกฯ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลคงต้องหารือกับกฤษฎีกาก่อนเพื่อหาข้อสรุป
ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความเห็นในข้อกฎหมายว่า กรณี พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ถ้าเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว.เมื่อครบวาระ ผู้รักษาการตามพ.ร.ฎ.นั้น เป็นประธาน กกต.เพียงผู้เดียว รวมถึงการเลือกตั้งส.ว. เดือนมี.ค.นี้ด้วย จึงบ่งชี้ให้เห็นว่าอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของประธานกกต. มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่ นายกฯ ไปเป็นผู้รักษาการร่วมด้วย คือใน พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป ที่เป็นเรื่องของการยุบสภา
และยังมีประเด็นปัญหาเพิ่มเติมว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 104 ระบุว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดคราวละ 4 ปี นับจากวันเลือกตั้ง หากวันเลือกตั้งมีหลายวัน ก็จะมีปัญหาทางกฎหมายว่าอายุรัฐบาลจะไปสิ้นสุดลงเมื่อใด
ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ในส่วนของ พ.ร.ฎ. ต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ จะต่างจากผู้รักษาการ เพราะผูัสนองพระบรมราชโองการ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพ.ร.ฎ. ออกโดยฝ่ายบริหาร และใน พ.ร.ฎ. มีมาตราสำคัญหนึ่งกำหนดว่า จะมีผูัรักษาการตามพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง มี 2 กรณี คือ 1. หากมีการยุบสภา เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงต้องเป็นผู้รักษาการร่วมกับประธานกกต. ทุกครั้ง แต่ถ้าไม่เกิดจากการยุบสภา เช่น การเลือกตั้งปี 48 การเลือกตั้งคราวนั้นรัฐบาลอยู่ครบเทอม ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผู้รักษาการเป็นประธานกกต.เพียงผูัเดียว
สรุปความว่า สิ่งที่รัฐมนตรีทั้งสองคนยกมาอ้างนั้น ก็เพื่อจะกันนายกรัฐมนตรี ออกจากปัญหาการเลือกตั้งที่คาราคาซังอยู่ เพื่อจะได้ไม่ต้องมารับผิดชอบ หากมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมีการชี้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ปัญหาว่า การเดินหน้าเลือกตั้งใน 28 เขตที่เหลือนี้ อยู่ในอำนาจการจัดการของใคร ระหว่างรัฐบาล กับกกต. คงต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด
ถ้าปัญหาตรงจุดนี้ผ่านไปได้ เมื่อจัดให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง ลงคะแนนกันแล้ว เชื่อว่า จะมีผู้ไปต้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นโมฆะแน่นอน ด้วยเหตุที่ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญ มาแล้วครั้งหนึ่งว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยยกประเด็นว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อยุบสภาแล้ว รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังใช้บุคลากร งบประมาณของรัฐ รวมทั้งการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำให้มีผลต่อการเลือกตั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับไว้พิจารณา โดยเห็นว่า ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 68 ตามที่มีการร้องมา ซึ่งช่วงที่ยื่นเรื่องร้องเรนียนไปนั้นยังไม่มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.
แต่ถ้ามีการยื่นใหม่ เมื่อมีการเลือกตั้ง 2ก.พ.ไปแล้ว รวมทั้งการเลือกตั้ง วันที่ 20ก.พ. วันที่ 27ก.พ. และวันที่จะมีการเลือกตั้งใน 28 เขตภาคใต้ เมื่อนั้นก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายให้ตีความอีกมากมาย
ทั้งเรื่องการเลือกตั้งไม่พร้อมกันทั่วประเทศ บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่เข้าข่ายเป็นบัตรเสีย เพราะกฏหมายกำหนดว่าจะต้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งก่อนนับคะแนนในวันที่ 2 ก.พ. ประเด็นเรื่องเกี่ยวกับความลับ ซึ่งตอนนี้ไม่ลับแล้ว เพราะมีการนับคะแนนไปบางส่วนแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ประเด็นต้องเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง ซึ่งถ้ายึดเอาวันที่ 2 ก.พ.เป็นวันเลือกตั้ง ก็จะครบกำหนดในวันที่ 3 มี.ค.นี้
ปัญหาข้อกฎหมายเหล่านี้ ล้วนเป็นจุดที่จะนำไปสู่การตีความว่าการเลือกตั้งโมฆะหรือไม่ ได้ทั้งนั้น
การเลือกตั้งที่ทั้งรัฐบาล และกกต.กำลังพยายามเดินหน้าไปนั้น จึงเป็นการดันทุรังโดยแท้ !!