“พงศ์เทพ” เผยรัฐบาลได้รับหนังสือ กกต.แจ้งให้ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขตภาคใต้ใหม่แล้ว แต่ขอหารือกฤษฎีกาก่อน พร้อมนัด กกต.และฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องถกอีกรอบจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ ก่อนตัดสินใจ เผยเบื้องต้นพบอำนาจทั้งหมดหลังยุบสภา อยู่ที่ประธาน กกต.ผู้เดียว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือถึงรัฐบาลเกี่ยวกับ 28 เขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถไปสมัครได้ โดย กกต.แสดงความคิดเห็น ประเด็นแรกมีปัญหาเกี่ยวกับ กกต.จะไปออกประกาศหรือวางระเบียบเองจะทำได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.ยังได้พูดถึงการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ที่อาจเป็นปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่า “วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร” อีกทั้งการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่อาจมีปัญหาในกฎหมายอื่น
“ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ผม และนายวราเทพ รัตนากร รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า มีปัญหาในกฎหมายอื่นรวมเข้ามาอยู่ด้วย เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 104 กำหนดว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดครั้งละ 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้น หากการเลือกตั้งมีหลายวันก็จะมีปัญหาทางกฎหมายเพิ่มขึ้น”
นายพงศ์เทพกล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.เสนอว่าหากกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติมใน 28 เขตเลือกตั้ง คือ ต้องทำโดยการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ โดย กกต.มีความเห็นว่าสมควรตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการลงคะแนการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง และกำหนดให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมถึงการประกาศยกเว้น การจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลได้มีการหารือเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษาและพิจารณาเหตุผลต่างๆ ในหนังสือของ กกต.ที่ทำมาถึงรัฐบาลอย่างถี่ถ้วน
รักษาการรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ กกต.ได้เชิญบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งผมและนายวราเทพ เพื่อหารือและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเลือกตั้ง เมื่อจะมีหลายฝ่ายได้มาแสดงความคิดเห็น ก็เชื่อว่าน่าจะได้เหตุผลต่างๆ ทั้งแง่ของกฎหมายและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รัฐบาลก็เชื่อว่าจะได้ข้อมูลจากการหารือประกอบกับผลที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษา โดยจะนำมาหารือกันอีกครั้งในวันอังคารที่ 18 ก.พ.
นายพงศ์เทพกล่าวว่า เบื้องต้นจากการศึกษาและค้นคว้าข้อกฎหมายของกฤษฎีกา สิ่งที่เห็นคือในพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ถ้าเป็นการเลือกตั้งกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานั้นมีแต่ประธาน กกต.เพียงผู้เดียว การเลือกตั้งซ่อมไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. ผู้รักษาการคือประธาน กกต.แต่ผู้เดียว อย่างเช่นการเลือกตั้ง ส.ว.ในเดือนมี.ค.นี้ ผู้รักษาการก็คือประธาน กกต. ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าอำนาจในการจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องของประธาน กกต. มีกรณีเดียวที่นายกรัฐมนตรีไปเป็นผู้รักษาการด้วย คือในพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งทั่วไป นั่นหมายถึงการยุบสภา
ด้านนายวราเทพ รัตนากร กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายรองที่ออกตามรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาจะต้องมีผู้ลงนามหรือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งต่างจากผู้รักษาการ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือนายกรัฐมนตรี เพราะพระราชกฤษฎีกาออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งหัวหน้าฝ่ายบริหารคือนายกฯ ที่จะต้องเป็นผู้ลงนาม แต่ในตัวพระราชกฤษฎีกา จะมีมาตราต่างๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน มาตราที่สำคัญมาตราหนึ่ง คือมาตราที่เกี่ยวข้องที่กำหนด “การมีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา" คือ พระราชกฤษฎีกาที่ให้มีการเลือกตั้งจะมีในสองกรณี คือ 1. หากมีการยุบสภา ถือเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับไหน เพราะอำนาจการยุบสภาขึ้นอยู่กับนายกฯ ดังนั้น นายกฯ จึงต้องเป็นผู้รักษาการ ร่วมกับประธาน กกต.ทุกครั้ง หากมีการยุบสภา
แต่ 2. หากไม่ได้เกิดจากการยุบสภาอย่างเช่น การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยครบวาระ การเลือกตั้งครั้งนั้นผู้รับสนองพระราชกฤษฎีกาเป็นายกรัฐมนตรี แต่ผู้รักษาการคือประธาน กกต.เพียงผู้เดียว ไม่มีนายกฯอยู่ในรักษาการ หรือการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง นายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ผู้รักษาการไม่มีนายกฯเช่นกัน มีแต่ประธาน กกต.เท่านั้น
“แต่ที่ผ่านมีการเข้าใจผิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้งนายกฯ จะต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งในข้อเท็จจริงนายกฯ จะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเพียงเหตุเดียว คือ เมื่อมีการยุบสภา อำนาจในการจัดการเลือกตั้งเมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกา แล้วเป็นอำนาจของประธานและกรรมการการเลือกตั้ง”
นายวราเทพปฏิเสธว่า ธงของรัฐบาลไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธข้อเสนอและความคิดเห็นของ กกต. ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกอย่างต้องทำให้เกิดความถูกต้อง และทาง กกต.เอง จากที่เราได้อ่านหนังสือที่ส่งมา ก็มีความพยายามที่จะบอกว่า หากความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย รัฐบาลจึงยังไม่อยากบอกว่าควรไปถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงต้องรอดูความเห็นของกฤษฎีกาให้รอบคอบก่อน รวมถึงการหารือในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. จากนั้นจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
“หนังสือที่ กกต.ส่งมาให้รัฐบาลยังมีข้อมูลที่บอกว่าอาจจะทำไม่ได้ หรือบางกรณีก็ขอให้รัฐบาลนำเรื่องไปพิจารณาด้วย เป็นเรื่องกึ่งๆ ที่อาจจะยังไม่แน่นอน ซึ่งวันจันทร์นี้เราก็คงไปรับฟังและชี้ให้เห็นถึงข้อกฎหมายบางอย่างที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ผลศึกษาของกฤษฎีกาคงยังไม่สามารถนำเข้าไปพิจารณาร่วมด้วยได้”