กกต.ส่งหนังสือถึงนายกฯ แล้ว ให้กราบบังคมทูลฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ใน 28 เขต ประธาน กกต.ระบุหาก “ปู” เห็นตาม ทุกพรรคใช้หมายเลขเดิม ถ้าเห็นแย้งส่งศาล รธน.อีกด้านแจงปัญหาเลือกตั้งต่อทูต 40 ประเทศพรุ่งนี้
วันนี้ (12 ก.พ.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่า ในวันนี้ กกต.ทั้ง 5 คนได้ลงนามในหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี ให้นายกฯกราบบังคมทูลฯเพื่อเสนอให้มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ ใน 28 เขตเลือกตั้ง 8 จังหวัดที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้อ้างความเห็นของนักวิชาการและนักการเมืองที่แสดงความเห็นในเรื่องด้วย โดยหนังสือดังกล่าวได้ส่งให้นายกฯแล้วตั้งแต่บ่ายวันที่ 12 ก.พ.อย่างไรก็ตาม หากนายกฯเห็นแย้งกับ กกต.ทาง กกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอนตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ
ด้าน นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับ 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัครนั้น หากรัฐบาลเห็นชอบกราบบังคมทูลฯ พ.ร.ฎ.พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงใช้หมายเลขเดิม เพียงแค่มาสมัครใหม่ และลงคะแนนใหม่เท่านั้น
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า กกต.ได้ลงนามหนังสือส่งถึงนายกฯกรณี 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครเรียบร้อยแล้ว โดย กกต.ได้พิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ มีความเห็นว่า พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังไม่เสร็จสิ้น โดยได้มีการตรวจสอบข้อกฎหมาย ปรากฏว่า กกต.ไม่มีอำนาจในการออกประกาศ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต จึงจำเป็นต้องเสนอนายกฯให้กราบบังคมทูลฯขอให้ กกต.มีอำนาจในกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ และประกาศยกเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักรใน 28 ดังกล่าว
เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กกต.ได้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 และ มาตรา 236 ที่ระบุให้อำนาจ กกต.ในลักษณะที่กว้างแต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะการเปิดรับสมัคร ส.ส.ใน 28 เขต ตามมาตรา 7(1) ว่าด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ระบุว่าให้การเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ขณะนี้ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว กกต.จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กกต.จำเป็นต้องทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อกราบบังคมทูลฯออก พ.ร.ฎ.
นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า หากไม่มี พ.ร.ฎ.จะไม่สามารถดำเนินการรับสมัคร หรือกำหนดวันลงคะแนนได้ โดยข้อสังเกตของหนังสือดังกล่าวที่เสนอนายกฯ นั้น กกต.เห็นว่า เนื่องจากมีนักการเมืองและนักวิชาการบางฝ่ายมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปที่ผ่านมา มีปัญหาข้อขัดแย้ง ทั้งปัญหาด้านการเมือง และปัญหาด้านการจัดการเลือกตั้ง ตลอดจนการชุมนุม ประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง หากจะมีการตรา พ.ร.ฎ.หรือให้ กกต.ดำเนินการออกประกาศกำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม การลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ หรือนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งการนับคะแนนเพิ่มเติมอาจเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.และฝ่าฝืนมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าวันเลือกตั้งกรณียุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกำหนดเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นจึงขอให้นายกฯพิจารณาปัญหาข้อโต้แย้ง หรือข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกต.จะรอการตอบกลับอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี
“การเสนอให้นายกฯกราบบังคับทูลฯเพื่อเสนอ พ.ร.ฎ.ในครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน โดย พ.ร.ฎ.วันที่ 2 ก.พ.ยังคงอยู่ แต่เนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นจึงต้องกำหนดวันรับสมัครใหม่ และกำหนดวันลงคะแนนใหม่” นายภุชงค์ กล่าว
นายภุชงค์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 13 ก.พ. กกต.จะมีการประชุมสำนักงาน กกต.เกี่ยวกับการเตรียมจัดเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ภายหลังที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ กกต.เสนอ รวมถึงการหารือกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผอ.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และ ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยจะหารือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส่วนในช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.พ.ทาง กกต.ทั้ง 5 คน จะเดินทางไปที่โรงแรมรามาการ์เด้น เพื่อประชุมชี้แจงสถานการณ์การเลือกตั้งภายในประเทศของไทย ต่อคณะทูตานุทูต และผู้แทนองค์ระหว่างประเทศประจำประเทศไทย มากกว่า 40 ประเทศ ที่ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว