ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุดรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ดึงดันจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.นี้จนได้ แม้ว่าจะมีคำเตือนจากหลายฝ่ายว่ามีความเสี่ยงจะเกิดเหตุรุนแรงก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์วันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค.ที่มีการไล่ยิงกันเสียชีวิตกลางวันแสกๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยเป็นทางออกไว้แล้วว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีรักษาการและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะผู้ร่วมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา ไปหารือกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
แต่ผลการหารือระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะ กับ กกต.ทั้ง 5 คน ที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ก็มีข้อสรุปว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีการเลื่อนวันออกไป ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดช่องเอาไว้
ในการหารือกันวันนั้น กกต.เสนอว่า หากจัดการเลือกตั้งตามกำหนดอาจจะมีปัญหาหลายประการ แต่รัฐบาลก็อ้างว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ไม่ได้แก้ปัญหา หรือทำให้ปัญหาหมดไป ไม่มีอะไรรับประกันว่าเลื่อนไปแล้วทุกอย่างจะยุติ โดยเฉพาะการชุมนุมของมวลมหาประชาชนภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และถ้าเลื่อนออกไปจะเลื่อนอีกนานเท่าไหร่ รวมทั้งเกรงว่าจะมีปัญหาถูกฟ้องร้องจากพรรคการเมืองพรรคอื่นที่ลงสมัครไปแล้ว โดยเฉพาะตัวนายกฯ ในฐานะผู้ทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการในการเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ถ้าจะเลื่อนจริงๆ ก็ต้องรอให้มีคำสั่งศาลว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้นายกฯ ถูกฟ้อง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมวันที่ 2 ก.พ.2557 ตามที่ระบุไว่ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ต่อไป มิพักที่ กกต.จะรายงานให้ทราบถึงปัญหาการจัดการหลายอย่าง อาทิ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ลาออก เนื่องจากถูกกดดันจากผู้ชุมนุม บัตรเลือกตั้งบางส่วนยังส่งไปไม่ถึงหน่วยเลือกตั้ง โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่ยังติดอยู่ที่ไปรษณีย์ คือ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, อ.เมือง จ.ชุมพร และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็น 3 ไปรษณีย์หลักที่รวมบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่จะส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ หากนำบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อออกมาไม่ได้ก็จะเลือกตั้งไม่ได้ ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็อาจจะมีปัญหาในการจัดส่ง
ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน ก็ยังมีปัญหาว่าผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในวันที่ 26 ม.ค.ยังมีผู้ใช้สิทธิไม่ได้อีก 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อเหตุการณ์สงบลง โดยกำหนดเอาไว้ในวันที่ 23 ก.พ. นั่นหมายความว่าวันที่ 2 ก.พ.จะยังไม่มีการประกาศผล ส.ส.แบบเขต
นอกจากนี้ยังมี 28 เขตใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร กกต.จะดำเนินการรับสมัครใหม่ แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาและข้อแตกต่างจากความคิดว่า การกำหนดให้มีการรับสมัครใหม่นั้น จะให้ออกเป็นประกาศของ กกต.หรือให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่ง กกต.ก็ต้องไปหารือกับรัฐบาลอีกครั้งว่าจะดำเนินการแบบใด แต่คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน อย่างไรก็ตาม ใน 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร ก็ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในวันที่ 2 ก.พ.แต่ก็ต้องดูว่าจะสามารถนำบัตรเลือกตั้งออกจากไปรษณีย์ทั้ง 3 แห่ง คือ ทุ่งสง ชุมพร และหาดใหญ่ ได้หรือไม่
มีรายงานว่าในวงหารือระหว่างรัฐบาล และ กกต.วันนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายจัดการเลือกตั้ง ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 120 วัน เพราะหากเดินหน้าเลือกตั้งอาจทำให้ไม่สามารถประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 95% ทำให้เปิดสภาไม่ได้ ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ อ้างว่าการที่มีรัฐบาลรักษาการนานเกินไปไม่เป็นผลดีกับประเทศ ซึ่งภายหลังจากมีการพิจารณาถึงปัญหาต่างๆ กันพอสมควร ในที่ประชุมก็มีข้อสรุปว่า ให้ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ต่อไป
ต่อมาวันที่ 30 ม.ค. นายสมชัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงการหารือกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ว่า ได้แจ้งถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้นายกฯ ทราบ คือ เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว 16 เขต ถ้าได้คะแนนน้อยกว่า 20% หรือน้อยกว่าคะแนนโหวตโน จะต้องเลือกตั้งใหม่ ส่วน 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัครจะเปิดรับสมัครใหม่และจัดการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน จะยังไม่สามารถประกาศชื่อ ส.ส.ได้ เนื่องจากต้องรอการนับคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีหน่วยเลือกตั้งเป็นหมื่นหน่วยที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คาดว่าภายใต้สถานการณ์นี้ อาจต้องใช้เวลา 4-6 เดือนหรือมากกว่านั้น
ปัญหาสำคัญคือ ส.ส.เขต 375 คน จะไม่สามารถประกาศได้แม้แต่รายเดียว เนื่องจากการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ในวันที่ 26 ม.ค. มีผู้ที่ไม่สามารถมาใช้สิทธิได้ประมาณ 2 ล้านคน (ผู้ลงทะเบียนนอกเขต 2.1 ล้าน มาใช้สิทธิ 1 แสน) ในกรณีนี้ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งนอกเขตใหม่ใน 83 เขต (กำหนดเป็น 23 กพ.) และ สามารถนับคะแนนได้เมื่อคะแนนไปถึงแต่ละหน่วยเลือกตั้งแล้ว คาดว่าภายใต้สถานการณ์นี้ อาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน หรือมากกว่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น หลังจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะมีผู้ฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทันที เพราะการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องทำในวันเดียว ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่า แนวโน้มที่เงิน 3,800 ล้านจะสูญเปล่ามีสูงยิ่ง
นอกจากนี้ การเผชิญหน้าของคนในชาติ ที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการเลือกตั้ง และอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านการเลือกตั้ง จะไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและสันติวิธีอีกต่อไป การทำผิดกฎหมายเช่น การยึดอุปกรณ์ ยึดบัตรเลือกตั้งทั้งจังหวัด การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ในระดับจังหวัด เขตและหน่วยเลือกตั้ง ความรุนแรงจะเกิดขึ้น นับแต่การทำร้ายและตอบโต้ซึ่งกันและกัน การใช้อาวุธสงคราม การบาดเจ็บ เสียชีวิตจะเกิดขึ้น และมีแนวโน้มการเกิดเหตุจลาจลในวงกว้างหลายจังหวัดทั่วประเทศ
แต่ “นายกนกแก้ว” ได้แต่ยิ้มให้กำลังใจ กกต. และบอกว่า “ต้องเดินหน้าเลือกตั้งเพื่อรักษาประชาธิปไตย” และในเวลาต่อมาได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กอย่างไร้เดียงสาเชิญชวนประชาชนออกไปเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นทางออกที่จะช่วยให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้
การยืนกระต่ายสามขาของรัฐบาลที่จะให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ให้ได้ ทั้งที่มองเห็นถึงปัญหาความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่จะตามมานั้น ก็เพื่อสนองใบสั่งของ นช.ทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง
คนอย่าง นช.ทักษิณแพ้ไม่เป็น แม้จะพลาดหวังจากการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญฟื้นสภาผัวเมีย แก้ไขมาตรา 190 ปูทางสะดวกให้กับการทำธุรกิจกับต่างประเทศของตัวเอง การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็ถูกเลื่อนออกไป แต่ก็ไม่มีทางยอมจำนนง่ายๆ
การจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.ให้ได้ จะเป็นการเอาคืนกำนันสุเทพ และมวลมหาประชาชน กปปส.ที่รณรงค์การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
โดยไม่สนใจว่า การดันทุรังจัดเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้งจะนำมาซึ่งความรุนแรงสูญเสีย และเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เอาแค่ประเด็นการจัดเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่สามารถจัดในวันเดียวกันได้ก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้แล้ว
งบประมาณ 3,800 ล้านที่ใช้ไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงส่อแววว่าจะสูญเปล่า เพราะสันดานที่ไม่รู้จักยอมแพ้ของ นช.ทักษิณนั่นเอง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่สโมสรกองทัพบก ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการเลื่อนวันเลือกตั้ง