xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ลั่นถก พท.อย่างมิตร ขอแนวทางแก้ปัญหาเลือกตั้ง “เจ๊สด” ปัดไม่พอใจ อ้างติดงาน ตจว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
กกต.เผยถกเพื่อไทย 17 ก.พ.อย่างเป็นมิตร ขอแนวปฏิบัติแก้ปัญหาเลือกตั้ง หากไม่ได้ข้อสรุปจัดต่อยาก พร้อมขอจุดยืนเจรจาคู่ขัดแย้งหาทางออกประเทศ แจงประกาศผล ส.ส.ไม่ได้เหตุรอคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ชี้ยืดเวลาลงคะแนนไป เม.ย. ช่วยรัฐบาลไม่ต้องการเรียกแขก ด้าน “สดศรี” ปฏิเสธเข้าร่วม อ้างติดงานไปต่างจังหวัดปัดอคติไม่พอใจ กกต.บางคน


วันนี้ (14 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมรับฟังและนำเสนอความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. ที่โรงแรมโนโวเทล อิมแพค เมืองทองธานี ว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยที่เชิญไปทั้ง 9 คนตอบรับมาร่วมทั้งหมด ส่วนนักวิชาการที่จะเข้าร่วมมี 3 คน คือ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ส่วนอดีต กกต.นั้นไม่มีใครเข้าร่วม เพราะเชิญนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติเพียงคนเดียว แต่ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม

นายสมชัยกล่าวต่อว่า การพูดคุยในวันดังกล่าวคงไม่คุยในเชิงทฤษฎี หรือเปิดกฎหมาย เปิดมาตราต่างๆ คุยกัน แต่เราจะคุยกันเหมือนอยู่ในภาคสนามเป็นฝ่ายปฏิบัติว่า เมื่อมีสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น การจะใช้แนวทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ให้เกิดความสำเร็จในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร เพื่อนำไปเสนอต่อ กกต.ให้รับทราบว่ามีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอย่างไร แต่เป็นข้อเสนอที่ไม่ผูกมัด ทั้งนี้หากไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมได้ ก็ต้องยอมรับว่าการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จตามเงื่อนไขของกฎหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

“ในวันที่ 17 ก.พ. ทาง กกต.เชิญทุกคนมาพูดคุยอย่างเป็นมิตร กกต.พร้อมน้อมรับความเห็นที่เป็นรูปธรรม ทุกคนที่มาต้องมาช่วยกันคิดสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะสิ่งที่เป็นทฤษฎีฟังมามากแล้ว คิดว่าคงไม่มีใครจะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดี ถ้าใครเอ่ยปากว่าจะฟ้อง กกต. ผมจะเชิญออกจากห้องประชุมไป” นายสมชัยกล่าว

เมื่อถามว่าจะพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยให้ถอยคนละก้าวเพื่อมาเจรจาหาทางออกของประเทศหรือไม่ นายสมชัยกล่าวต่อว่า ก็เป็นแนวทางหนึ่ง เพราะทุกคนเห็นตรงกันการเจรจาจะเป็นแนวทางที่จะหาทางออก กกต.คงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งสำเร็จได้ ถ้าการเมืองไม่นิ่ง ยังขัดแย้งกันอยู่ ดังนั้นอาจจะปรึกษาหารือถึงโอกาสที่จะเกิดการเจรจา แต่เนื่องจากไม่ได้เชิญอีกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งมา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกฝ่ายจะคิดอย่างไร แต่ถ้ารัฐบาลเปิดเผยจุดยืนถึงความพร้อมในการเจรจาเพื่อเป็นทางออก กกต.ยินดีเดินหน้าต่อให้ได้

ต้อข้อถามว่าทางแกนนำพรรคเพื่อไทยระบุว่า ทำไม กกต.ยังไม่ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่ไม่มีปัญหาใน 30 วัน นายสมชัยกล่าวว่า การลงคะแนนในวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่เสียไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ยังไม่มา ดังนั้นต้องจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งกลาง

“รู้ว่าทุกคนอยากเป็น ส.ส. ผู้สมัครก็อยากรู้ผลการเลือกตั้ง แต่การเร่งประกาศ หรือประกาศผลออกไปแล้ว จะยิ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นผลเสียต่อการเลือกตั้ง เพราะเท่ากับว่า การลงคะแนนเลือกตั้งไม่หมด แล้วทราบผลเลือกตั้งล่วงหน้า ท้ายที่สุดจะทำให้การเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการที่ไม่ประกาศน่าจะเป็นผลดีกว่า อยากให้ผู้สมัครไปคิดดี ๆว่าสิ่งที่ กกต.ทำเป็นการช่วยผู้สมัครด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเสียไป ช่วยไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายไปมากกว่านี้ ดังนั้นรอสักนิดน่าจะดีกว่า” นายสมชัยกล่าว

ต่อข้อถามว่า มีการขู่ที่จะดำเนินคดีกับ กกต.ตามมาตรา 157 นายสมชัยกล่าวยืนยันว่า สิ่งที่ กกต.ตัดสินใจรอบคอบที่สุดแล้ว ว่าจะจัดการลงคะแนนใหม่ที่เหมาะสมเมื่อใด เป็นการประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นจริง โดยฟังจาก กกต.ในพื้นที่ ถ้าต้องจัดในเดือน ก.พ.สามารถจัดเพียงไม่กี่หน่วยเลือกตั้ง คือ จัดได้แค่หลักสิบ ไม่ใช่หลักร้อยหน่วยเลือกตั้ง ใน จ.ระยอง และเพชรบุรี ส่วนจังหวัดอื่นๆ จัดไม่ได้ ตราบใดที่มีความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุมอยู่ ส่วนเดือนมี.ค.มีการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงประเมินภายใต้สถานการณ์ที่ กกต.คิดว่าดีที่สุดแล้วที่จัดในช่วงเดือนเม.ย.

“ดีไม่ดีเป็นการช่วยรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะการเร่งรีบจัดการลงคะแนนเร็วเกินไป อาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ เรียกแขกด้วยซ้ำ จึงอยากให้คิดให้ดีว่า อยากเห็นผลสำเร็จของการเลือกตั้ง หรืออยากจะเห็นบ้านเมืองกลับมาสู่ความวุ่นวายใหม่” นายสมชัยกล่าว

ส่วนกรณีที่ กกต.เสนอให้รัฐบาลกราบบังคมทูล พ.ร.ฎ.เพื่อให้อำนาจ กกต.กำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม และลงคะแนนใหม่ใน 28 เขต 8 จังหวัดนั้น นายสมชัยกล่าวว่า คงต้องรอให้รัฐบาลตอบกลับมาก่อน และรอให้แกนนำพรรคเพื่อไทยมาพูดคุยกันในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.

แหล่งข่าวจาก กกต.เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลแสดงท่าทีปฏิเสธที่จะออก พ.ร.ฎ.ให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครนั้น กกต.เชื่อว่านอกจากเพราะรัฐบาลมีการตีความว่าการที่ กกต.ขอให้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้ว ยังน่าจะมาจากมีการสื่อสารของ กกต.ต่อสาธารณะที่ทำให้สังคมและรัฐบาลมีความเข้าใจไปในทิศทางดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมาก่อนที่ กกต.ทั้ง 5 คนจะได้มีการพิจารณาและลงนามในร่างหนังสือที่จะส่งไปยังรัฐบาล ก็ได้มีการหารือและเห็นตรงกันว่าจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารออกไปให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า พ.ร.ฎ.ที่ กกต.ขอให้รัฐบาลตราขึ้นนั้นเป็นการขอให้การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หรือทำให้มีวันเลือกตั้งเกิดขึ้น 2 วัน หรือ กกต.มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อให้มีการฟ้องให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ

โดย พ.ร.ฎ.ที่ กกต.ขอต่อรัฐบาลนั้นแม้จะมีชื่อในลักษณะ “พ.ร.ฎ.ให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต“ ซึ่งระบุไว้ในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่โดยเนื้อหาสาระของ พ.ร.ฎ.ที่จะให้ตราขึ้น นั้นให้กำหนดให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร ซึ่งในส่วนฝ่ายกฎหมายของสำนักงานได้มีการรายงานข้อมูลให้ กกต.ทราบว่าจากที่พิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ แล้วเห็นว่า เนื้อหาทั้ง 3 เรื่องนี้หากจะดำเนินการก็ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายมาตราใด

เพียงแต่ จะให้ กกต.ออกเป็นประกาศ กกต.กำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งเหมือนกับที่ กกต.จะออกประกาศให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ปัญหาถูกปิดล้อมในวันที่ 2 ก.พ. หรือลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งใหม่ทดแทนวันที่ 26 ม.ค. อย่างที่ กกต.กำหนดไว้เป็นวันที่ 20 และ 27 เม.ย.ไม่ได้ เพราะกรณีของ 28 เขตเลือกตั้งยังไม่มีผู้สมัคร และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตต้องกำหนดให้เริ่มสมัครภายใน 20 วันนับแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา

และเมื่อเนื้อหาทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 187 บัญญัติเปิดช่องไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ ก็บัญญัติว่าในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทําให้การเลือกตั้งทั่วไปมี ส.ส.ยังไม่ครบ 500 คน ก็ให้ดำเนินการให้มี ส.ส.ครบตามจำนวนภายใน 180 วัน ก็ชอบที่รัฐบาลจะทูลเกล้าขอให้พระมหากษัตริย์ทรงตรา พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ซึ่งการตีความกฎหมายในลักษณะนี้ของ กกต. ก็เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้

โดยหากรัฐบาลเห็นชอบตามที่ กกต.เสนอ และพ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ กกต.ถึงจะไปใช้มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งในการกำหนดวันรับสมัคร ส.ส.เพิ่มเติมต่อจากวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งก่อน ซึ่งก็ดำเนินการได้อยู่แล้วไม่ขัดกฎหมายเพราะตามมาตรา 7 กำหนดว่าการเปิดรับสมัครต้องกระทำไม่น้อยกว่า 5 วัน ส่วนวันลงคะแนนเลือกตั้ง กกต. ก็จะอาศัยมาตรา 78 ออกประกาศ กกต.กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งโดยจะเป็นวันไหน กกต.ก็จะพิจารณาจากสถานการณ์ความขัดแย้งว่าสงบ หรือคลี่คลายและพร้อมจัดให้มีการลงคะแนนแล้วหรือยัง และออกประกาศ งดเว้นการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และนอกเขตเลือกตั้งได้ เพื่อไม่ให้สูญเสียงบระมาณ ซึ่งแนวทางนี้ กกต. เชื่อว่าน่าจะผ่าทางตันทำให้ได้ ส.ส.ครบ 100% ภายใน 6 เดือนตามกรอบเวลารัฐธรรมนูญ 93 ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น