xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิษจำนำข้าว เพื่อไทยเตรียมสูญพันธุ์ กกต.ดับฝันกู้ 1.3 แสนล. ธนาคารอารยะขัดขืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม็อบชาวนาจากภาคอีสานที่รวมตัวกันทวงเงินจำนำข้าว
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เจอม็อบ กปปส. รุกไล่จนกลายเป็นสัมภเวสีร่อนเร่ หมดอำนาจบริหารบ้านเมืองในทางความเป็นจริงเข้าไปทุกขณะจิตเรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเป็นซอมบี้ที่ฆ่าไม่ตาย และกำลังดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อหาทางกู้เงินมาโปะหนี้จำนำข้าวที่ติดค้างชาวนาอยู่กว่าแสนล้านให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นความฝันจะโกยคะแนนเสียงเลือกตั้งที่พิกลพิการในวันที่ 2 ก.พ. 2557 เพื่อฟอกความผิด กลบความล้มเหลว และครองอำนาจชั่วกัลปาวสานของพรรคเพื่อไทยมีอันจบเห่

งานนี้ “โต้ง ไวท์ไลน์” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรมว.คลัง และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กะโยนขี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ขาดว่ารัฐบาลจะกู้เพิ่ม 1.3 แสนล้านเพื่อมาจ่ายหนี้จำนำข้าวได้หรือไม่ หาก กกต.ไม่อนุมัติก็จะสร้างเรื่องป้ายความผิดให้เต็มๆ หาว่าไม่ยอมช่วยเหลือชาวนา แต่ถ้า กกต.ไฟเขียวก็เสี่ยงคุกเอาเอง เพราะมีคนจ้องรอฟ้องอยู่ เรื่องนี้ กกต.รู้ดีอยู่แล้ว จึงมีมติออกมาว่าไม่มีอำนาจพิจารณา

ในการหารือกับกกต. “โต้ง ไวท์ไลน์” ทำดราม่าออดอ้อนขอความเห็นใจ ขอความเมตตากรุณาเพื่อกู้เงินมาจ่ายให้แก่ชาวนาที่เอาข้าวมาจำนำแต่ยังไม่ได้รับเงินตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ผลการหารือ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า กรณีที่นายกิตติรัตน์ เข้าหารือกับ กกต. เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ซึ่งรวมถึงการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท มาจ่ายเงินให้กับชาวนานั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของกกต. ที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ เพราะตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 (3) กำหนดชัดเจนว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีจะหน้าที่เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงินโดยปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้ของ รัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินกู้มาเพิ่มให้แก่ ธ.ก.ส. สำหรับนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาล แม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของครม.แต่กฎหมายห้ามไว้เด็ดขาด หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้ เรื่องนี้คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องไปใช้ดุลยพินิจเอาเอง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่ออธิบายความเพิ่มเติมอีกว่า “ขยายมติ กกต. เรื่องเงินกู้จำนำข้าว” ดังนี้ 1.เรื่องที่รัฐบาลขอให้ กกต. อนุมัติ ขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้านเพื่อไปชำระหนี้ชาวนา กกต.เห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแก่ กกต. ในการอนุมัติประเด็นดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา181(3) เขียนไว้เพียงว่า รัฐบาลรักษาการไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป (ไม่มีเขียนว่า เว้นแต่ได้รับอนุมัติจาก กกต.)

2.ดังนั้นการพิจารณาในวันนี้ จึงมี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นแรก เรื่องขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้าน อยู่ในอำนาจอนุมัติ กกต. หรือไม่ คำตอบคือ ไม่

3.ประเด็นที่สอง การกู้เงินดังกล่าว เป็นการผูกพันกับ ครม.ชุดต่อไปหรือไม่ ซึ่งตัวแทนฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบายว่าไม่ผูกพัน แต่คำถามที่ถามในที่ประชุม เพื่อนำไปสู่คำตอบว่า ผูกพันหรือไม่ มีหลายคำถาม เช่น เงินกู้ 130,000 ล้าน เป็นเงินที่รัฐบาลรักษาการ สามารถขายข้าวมาใช้คืน ก่อนมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ อีกทั้งข้าวในสต็อก มีเท่าไร มีมูลค่าเท่าไร และจะใช้เวลาเท่าไรในการขายข้าวเพื่อให้ได้เงินคืน คำตอบคือ มีประมาณ 14 ล้านตัน เป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท และจะใช้เวลาในการขายประมาณ 2 ปี และนโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดต่อไปจำเป็นต้องยึดเป็นนโยบายต่อไปหรือไม่ คำตอบคือ ไม่

4.ดังนั้นประเด็นที่ จะถือว่า ผูกพันหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาเอง หากแน่ใจว่า ไม่ผูกพัน ก็ดำเนินการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้ชาวนาได้เลย แต่หากคิดว่า ผูกพัน ก็ไม่ควรดำเนินการ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ และ 5. มติ กกต. จึงไม่ใช่ ก. อนุมัติ หรือ ข. ไม่อนุมัติ แต่เป็น ค. คือ ไม่รับพิจารณาและให้รัฐบาลตัดสินใจเอง

เจอโยนเผือกร้อนกลับใส่มือ ทั้ง “โต้ง ไวท์ไลน์” และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็เดินหน้าใช้แผนสอง คือ ขอกู้เงินจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยกะจะให้ “เป็ดเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรมว.กระทรวงแรงงาน ไปบีบคอนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) เสนอเรื่องขอกู้เงินทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาทให้บอร์ด สปส.อนุมัติเพื่อนำมาจ่ายหนี้จำนำข้าวให้ชาวนา

แต่ทันทีที่มีข่าวปูดออกมา กลุ่มแรงงานก็เคลื่อนไหวคัดค้านร่วมกันกับ กปปส. อย่างทันควัน เพราะนี่ไม่ใช่เป็นเงินของรัฐบาลแต่เป็นเงินของลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ที่ร่วมกันจ่ายสมทบเข้ากองทุน ทำเอานายจีรศักดิ์ รีบออกมาปัดพัลวัล ยังไม่ได้มีการหารือกัน ไม่ได้เจอกับท่านเป็ดเหลิมเลย และการจะกู้เงินสปส.เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับระเบียบการลงทุนของสปส. และไม่มีกฎหมายใดมารองรับ เรียกว่ากลับลำแทบไม่ทัน และรัฐบาลก็กินแห้วตามคาด

เมื่อหมดสิ้นหนทาง แผนสองก็ทำไม่ได้ไปไม่รอด รัฐบาลศรีธนญชัยก็อาจจำต้องทำอัตวิบาตรกรรมสังเวยโครงการนี้ด้วยชีวิต หรือเสี่ยงเข้าคุกเข้าตะราง โดยนายกิตติรัตน์ บอกว่า รัฐบาลจะกลับไปพิจารณาหาข้อสรุปก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้ากู้เงิน 1.3 แสนล้านหรือไม่ หากพบว่าไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 (3) กระทรวงการคลังก็พร้อมจะเดินหน้ากู้ทันที เพราะเบื้องต้นเห็นว่า การกู้เงินจะไม่เป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหาร เนื่องจากการกู้เงินยังอยู่กรอบบริหารหนี้สาธารณะ ตามที่ ครม.อนุมัติกรอบการก่อหนี้มาก่อนหน้านี้ โดยการกู้เงินวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท จะมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาล

คงต้องรอดูว่า รัฐบาลศรีธนญชัยจะใจกล้า หน้าด้าน กระทำการที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้ากล้าทำก็ตาย แต่ถ้าไม่กล้าก็ตายเช่นกัน เพราะตอนนี้ม็อบชาวนาที่ต้องแบกหนี้สินพะรุงพะรังก็เดิมพันทวงหนี้ครั้งนี้ด้วยชีวิตเช่นกัน

สำหรับความหวังจะล้วงเอาเงินจาก ธ.ก.ส.ที่จ้องตาเป็นมันเอาไว้แต่เดิมนั้น ก็ถือว่าปิดประตูตายได้เลย โดยเรื่องนี้นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ออกมายืนยันแล้วว่า วันนี้มีความชัดเจนว่าบอร์ดธ.ก.ส.ไม่มีมติที่จะนำเงินฝากไปใช้ดำเนินโครงการจำนำข้าว และคาดหวังว่ากระทรวงการคลังจะจัดหาเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท มาให้กับธ.ก.ส. ซึ่งหากได้เงินเข้ามา ธ.ก.ส.ก็จะจ่ายเงินออกไปให้ชาวนากว่า 1 ล้านราย ที่รอเงินอยู่ทันที หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้ายังไม่มีเงินเข้ามาก็ขอให้ชาวนารอไปก่อน

ส่วนความคืบหน้าของการจ่ายเงินจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/2557รายงานจากการประชุมบอร์ดธ.ก.ส.ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 ระบุว่า มีการจ่ายเงินไปแล้ว 5.1 หมื่นล้านบาท ปริมาณข้าว 3.2 ล้านตัน ขณะที่อนุมัติแล้วรอการจ่ายอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่สามารถจ่ายได้ 5.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ขณะนี้ใกล้เต็มวงเงินแล้ว ส่วนใบประทวนมีการออกไปแล้วจนถึงขณะนี้ 1.7 แสนล้านบาท ปริมาณข้าว 10.9 ล้านตัน จากที่ประเมินไว้เดิม 10 ล้านตันใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท และคาดการณ์กันว่าจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2557 ซึ่งเป็นวันปิดโครงการจะมีใบประทวนทยอยเข้ามาอีกเพิ่มเป็น 1.9 แสนล้านบาท

ฟังจากผู้บริหาร ธ.ก.ส. นอกจากใช้เงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทแล้ว ธ.ก.ส. ยังรอเงินขายข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ ที่จะนำส่งเข้าประมาณเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท โดยเดือนม.ค. 2557 นำส่งมาแล้วประมาณ 3 - 4 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าคำโม้ของกระทรวงพาณิชย์มากๆ

ดังนั้น นั่นหมายถึงว่า หนี้ก้อนใหญ่จากโครงการรับจำนำข้าวจากชาวนากำลังรออยู่เบื้องหน้าร่วมๆ 2 แสนล้าน โดยที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ผ้าเอาหน้ารอดจากปัญหาใหญ่นี้ได้อย่างไร บางทีเธอก็อาจจะลาออกตามคำเรียกร้องของ กปปส. ก็เป็นได้ แต่ไม่ใช่เพราะรู้สำนึก เป็นการลาออกเพื่อหนีหนี้ชาวนา

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่รัฐบาลรักษาการนางสาวยิ่งลักษณ์ จนตรอกไม่มีเงินไปจ่ายให้กับชาวนาตามสัญญาลมๆ แล้งๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่วายสร้างเรื่องเท็จ โดยรัฐบาล โยนความผิดให้กลุ่ม กปปส. ว่าเหตุที่ทำให้การจ่ายเงินล่าช้าเพราะก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมไปปิดล้อมสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เป็นการโกหก ปลิ้นปล้อน เอาตัวรอดไปวันๆ และแน่นอน การเดินทัพของกำนันสุเทพ ไปธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ในวันก่อน ก็ถูกป้ายสีว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้จ่ายเงินหนี้จำนำข้าวไม่ได้ โดยเฉพาะชาวนาที่ห่างไกลข้อมูลข่าวสารและถูกปั่นหัวได้ง่ายๆ

การเดินทัพไปธ.ก.ส.และออมสิน หลายคนจึงอดห่วง กปปส.ไม่ได้ เกรงว่าจะเป็นการเดินหมากที่ผิดพลาด เข้าทางตีนรัฐบาล เพราะอย่าลืมว่ามวลชน กปปส.ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯและภาคใต้ ขณะที่เหนือและอีสานยังไม่แน่ว่าจะหูตาสว่าง เลิกเชื่อพรรคเพื่อไทยแล้วหรือยัง แม้ว่าจะถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ลูกไม้ตื้นๆ เช่นนี้ มีหรือกำนันสุเทพ จะไม่รู้ทัน ดังนั้น บนเวทีแยกปทุมวัน คืนวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา กำนันจึงป่าวประกาศบนเวทีให้รู้กันถ้วนทั่วว่า โครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตจนเจ๊งคราวนี้ เป็นเพราะ รัฐบาลเอาเงินภาษี 7 - 8 แสนล้านไปใช้ในโครงการจำนำข้าว รับจำนำด้วยราคาตันละ 15,000 บาท แต่ถึงมือชาวนาจริงแค่ 10,500 บาท

นอกจากนี้ ยังเอาข้าวไปเก็บในโกดังจนข้าวเน่าและให้พรรคพวกตัวเองประมูลในราคาถูก แต่ไปเบิกข้าวข้าวดีจากโกดังไปขาย พ่อค้าคนอื่นจึงไม่มีข้าวดีไปไปขายแข่งกับพ่อค้าของตระกูลชินวัตรได้ เกิดการผูกขาดการค้าข้าวเพียงเจ้าเดียว พ่อค้ารายอื่นจึงต้องเลิกขายข้าว พอขายเพียงเจ้าเดียวในที่สุดก็ระบายออกไม่ทัน วันนี้มีข้าวเหลือในโกดัง 17-18 ล้านตัน ค้างเงินชาวนาอยู่ 6 เดือน แล้วก็อ้างว่าเพราะ กปปส.ไปล้อมกระทรวงการคลัง เลยไม่มีเงินจ่าย ทั้งที่เงินที่ใช้รับจำนำข้าวอยู่ที่ ธ.ก.ส. แต่รัฐบาลเอาไปใช้หมดแล้ว

"ตอนนี้จะเอาเงินที่ ธ.ก.ส.รับฝากจากเกษตรกรไว้มาจ่ายให้ชาวนาก่อน พนักงาน ธ.ก.ส.เลยไม่ให้เพราะเขาต้องรับผิดชอบเงินที่ประชาชนฝากไว้ รัฐบาลเลยจะไปเอาเงินจากธนาคารออมสิน พนักงานออมสินทำเรื่องมาถึงเราให้ไปปิดเราก็ไปแล้วเรียบร้อย พนักงานธนาคารออมสินและผู้บริหารดีใจมาก และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับตัวแทนของเราว่า จะไม่ให้เงินกู้แก่รัฐบาลเป็นอันขาด และจะยินยอมให้พนักงานของธนาคารออมสินออกมาชุมนุมร่วมกับมวลมหาประชาชนได้ บรรดาเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินสบายใจได้ เงินของท่านปลอดภัยแล้ว

"การที่ปิดธนาคารออมสิน อย่าไปฟังรัฐบาลว่าจะไม่มีเงินไปให้ชาวนา แต่มีวิธีการที่รัฐบาลสามารถนำข้าว 18 ล้านตันไปขาย ก็จะได้เงินไปจ่ายชาวนา ขอรับรองกับชาวนาว่าทันทีที่ประชาชนยึดอำนาจสำเร็จ จะรีบเอาเงินให้ชาวนาทุกคนที่รัฐบาลค้างไว้ ซึ่งขณะนี้ชาวนาเดินแนวทางเดียวกับเราคือ การปิดศาลากลางจังหวัดต่างๆ” กำนันสุเทพ กล่าวปราศรัยคล้ายๆ กับยังคิดว่าตนเองเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เลยติดนิสัยหาเสียง ให้ความหวังกับชาวนา ทั้งที่นายสุเทพเองก็รู้ว่าการจะขายข้าวในโครงการรับจำนำเพื่อเอาเงินมาจ่ายให้ชาวนานั้น ความจริงแล้วมีความยุ่งยากมากมายไม่ได้ง่ายอย่างที่ป่าวประกาศแต่อย่างใด และต่อให้ขายข้าว (เน่า) ได้หมดเกลี้ยงสต็อกก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ให้กับชาวนา

ถึงแม้ว่า ชาวนา กับ กปปส. ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกัน และจะว่าไปแล้วกลุ่มชาวนาคือฐานเสียงของเพื่อไทยด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ที่พามาถึงขณะนี้ ทั้งสองกลุ่ม กลับกลายเป็นแนวร่วมกดดันรักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้หมดสภาพเร็วขึ้น เนื่องจากกลุ่มชาวนาขึ้นม็อบทุกภูมิภาคทั้งเหนือ อีสาน กลาง ส่วนใต้นั้นไม่ต้องพูดถึงพวกเขาอยู่เป็นแนวร่วมกับกำนันสุเทพอยู่แล้ว

และม็อบชาวนาคราวนี้ไม่ใช่หยอดคำหวาน หลอกล่อกันได้ง่ายๆ แล้วสลายตัวไปเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา เพราะมุขนี้ใช้มาหลายครั้งแล้ว สุดท้ายก็ยังไม่ได้เงินค่าจำนำข้าวอยู่ดี รอบนี้ม็อบชาวนากะปิดถนนสายหลักทั้งเอเชีย มิตรภาพ และบางพื้นที่ผู้นำม็อบชาวนาก็คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่จงรักภักดีกับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงแว่วข่าวว่าชาวนาบางพื้นที่ที่เป็นคนเสื้อแดงได้เงินไปแล้ว

วันนี้ชาวนาทวงเงินค่าข้าว ถ้าไม่มีจ่าย ก็ให้เอาข้าวคืนมาจะเอาไปขายเอง ไม่ใช่เอาข้าวกูไป เงินไม่เอามาให้ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า เงินก็ไม่มีให้ จะเอาข้าวคืนก็ไม่มีเช่นกัน

นี่เป็นความฉิบหายที่เท่าเทียมกันที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ตั้งใจทำตามที่พี่ชายของเธอคิดและให้เธอทำโดยไม่ฟังใคร โดยเฉพาะเสียงเตือนว่าโครงการจำนำข้าวจะทำลายระบบการผลิตและการค้าข้าวทั้งระบบซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรากฐานเศรษฐกิจของประเทศและทำให้ชาวนาไทยล่มสลาย

คราวนี้ก็ได้เห็นกันชัดๆ แล้วว่า เมื่อไม่มีเงินมาจ่ายค่าข้าว ชาวนาซึ่งก่อหนี้ยืมสินมาลงทุน ก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้ ส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ ทั้งร้านขายปุ๋ย เคมีภัณฑ์ รถเกี่ยวข้าว ฯลฯ สะเทือนไปถึงเงินซื้อน้ำปลาในร้านค้าหมู่บ้านก็ยังขัด สน ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ชาวนาทุกหัวระแหงสัมผัสได้ด้วยตัวเองและตาสว่างกันแล้วว่าประชานิยมจำนำข้าวนั้นมันคือ ขนมหวานเคลือบยาพิษ และทำให้ได้รู้ว่าโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของชาวนานั้น จริงๆ แล้วเป็นประโยชน์และสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มโรงสีและพรรคพวกที่แวดล้อมนายใหญ่และเจ๊ ด. หาใช่ชาวนาไม่

พรรคเพื่อไทยได้ตอบแทนฐานเสียงสำคัญคือกลุ่มชาวนาภาคอีสานได้เจ็บแสบที่สุด เพราะเป็นภาคที่ถูกลอยแพและเดือดร้อนมากที่สุด โดยฤดูกาลผลิต 2556/2557 (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 - 16 ม.ค. 2557 ชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หลงเชื่อเอาข้าวเข้าโครงการจำนำมีสัญญาจำนำข้าวมากที่สุด คือ 970,087 สัญญา รองลงไปเป็นภาคเหนือ 574,459 สัญญา ภาคกลาง 266,569 สัญญา และภาคใต้ 1,857 สัญญา ในจำนวนนี้ มี 78.52% ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าว

ม็อบชาวนาปิดถนนสายหลักทั่วประเทศ เท่ากับเป็นการประกาศ Shutdown รอบนอกกรุงเทพฯ บวกรวมกับการ Shutdown กรุงเทพฯ ของมวลมหาประชาชน นางสาวยิ่งลักษณ์และรักษาการรัฐมนตรีเป็ดง่อยทั้งฝูงจะยังลอยหน้าอยู่ได้ก็ให้รู้กันไป



พนักงาน ธกส.พร้อมใจกันใส่เสื้อดำเพื่อคัดค้านรัฐบาลสูบเงินไปใช้ในโครงการจำนำข้าว

กำลังโหลดความคิดเห็น