รายงานการเมือง
นับถอยหลังวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ก็เหลืออีก 30 กว่าวันแต่น่าประหลาดที่อารมณ์ของสังคมในขณะนี้ดูเหมือนจะเห็นตรงกันว่า “ไม่น่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น” แม้ว่า กกต.จะประกาศวันรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 23-27 ธ.ค.นี้ แต่ความไม่แน่นอนที่จะจัดการเลือกตั้งไม่ได้กลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ ศึกหนักที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ สุญญากาศในการบริหารประเทศที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ แม้ว่าจะมียิ่งลักษณ์และ ครม.ทั้งชุดปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ก็ตาม
จะเห็นได้ว่า ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ห่วงใยต่อทุกข์สุขของประชาชนเฉกเช่นผู้นำที่ดีพึงกระทำ แต่เธอกลับลั้นลาหนีการเมืองร้อนออกไปทัวร์ต่างจังหวัดอ้างปฏิบัติหน้าที่แต่เป็นการหาเสียงไปในตัวในถิ่นอีสาน
แต่ก็ไม่วายถูกเสียงนกหวีดเป่าไล่จนหนี “ปีแสบหู” ไปไม่พ้น
ในขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาลก็มุ่งแต่สร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. จนไม่เหลียวแลที่จะแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองซึ่งสุมกองอยู่จากพฤติกรรมมักง่ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ทิ้งขี้ไว้กองโต โดยยังไม่มีการสะสาง
ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะมาจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 หรือเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศมีวาระสั้นๆ ไม่เกินสองปี ก็จะประสบกับปัญหาไม่แตกต่างกัน
นั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลปกติหรือรัฐบาลเฉพาะกาลย่อมมีภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าที่จะต้องเร่งแก้ไขให้กลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจทำงานได้หลังจากการยุบสภาทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเพื่อสร้างความเชื่อมันให้นักลงทุนได้รับผลกระทบ
โจทย์ของรัฐบาลต่อจากนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่อง “การปฏิรูปประเทศ” ที่กำลังเป็นกระแสติดลมบนอยู่ในขณะนี้เท่านั้นแต่มีปัญหาหลายอย่างที่รอการแก้ไขจนเกิดคำถามว่ารัฐบาลเฉพาะกาลที่จะเข้ามาชั่วคราวจะต้องสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากระทั่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้ไม่เต็มที่หรือไม่
นอกจากนี้ แผนใช้เงินกู้สองล้านล้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่หวังเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ส่อเค้าว่าจะแท้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา แถมยังมีหลักฐานชัดเจนว่า ส.ส.เพื่อไทยทุจริตในการลงคะแนนด้วยการเสียบบัตรแทนกัน และยังมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ช่องทางที่จะใช้เงินจำนวนดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงลืมไปได้เลยแล้วอะไรจะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้โงหัวขึ้น เป็นอีกหนึ่งการบ้านของรัฐบาลชุดใหม่
ปัญหาหนักอกที่สุด คือ โครงการจำนำข้าว ที่กำลังสะดุดอยู่ในขณะนี้เพราะในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 2556/2557ทั้งนาปีและนาปรัง ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติวงเงินไว้ 2.7 แสนล้านบาทนั้นมีแต่ตัวเลขไม่ได้มีเม็ดเงินจริงลงไปให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการจนทำให้ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ค้างเงินชาวนาแล้วถึง 1 แสนล้านบาท
ในขณะที่ ครม.รักษาการนั้นมีขอบเขตอำนาจที่ถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (2) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเป็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้้งก่อน (3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
และจากเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้พรรคของทักษิณหาประโยชน์นำไปกดดันให้ชาวนาต้องเลือกพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลโดยอ้างว่าหากอยากได้เงินจำนำข้าวต้องเลือกเพื่อไทยให้ไปเป็นรัฐบาล
ทั้งที่ความจริงแล้วเงินจำนำข้าวที่ชาวนาไม่ได้นั้นเกิดจากรัฐถังแตกเพราะขาดทุนยับจน ธ.ก.ส.ไม่มีเงินจ่ายมาหลายเดือนแล้ว ก่อนที่จะมีการยุบสภาเสียอีก
แต่พรรคเพื่อไทยก็หน้าด้านพอที่จะหยิบยกเอาเหตุผลเรื่องการยุบสภามาอ้าง และยังบีบให้ชาวนาต้องเลือกตัวเองโดยใช้ปัญหาที่ตัวเองก่อมาเป็นประโยชน์ทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจ
เพราะในความเป็นจริงชาวนาที่เข้าโครงการจำนำข้าวก่อนที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภาย่อมเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเดินหน้าต่อจึงไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีรอบแรกที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จะมีก็เพียงแต่เรื่องนโยบายเท่านั้นว่าจะตัดสินใจทำโครงการจำนำข้าวต่อไปหรือไม่ไม่ได้เกี่ยวกับการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาแต่อย่างใด
สภาพวัวพันหลักจากการบริหารอันห่วยแตกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ลดจาก 5.70 บาท เหลือ 0.005 บาท มาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีนโยบายที่แน่นอนเพราะมีการต่อมาตรการเป็นรายเดือนซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้
โดยที่ ครม.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถที่จะอนุมัติเพื่อต่อมาตรการดังกล่าวได้อีก เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการจึงต้องมีการขอความเห็นชอบไปยัง กกต.
หาก กกต.ไม่เห็นชอบก็จะทำให้คนไทยซื้อน้ำมันดีเซลแพงขึ้นลิตรละ 5.70 บาท จากราคาลิตรละ 29.99 บาท เพิ่มเป็น 35.69 บาทรับปีใหม่ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป แม้ว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง จะพยายามดิ้นรนส่งเรื่องให้ กกต.อนุมัติแต่เรื่องทั้งหมดกลายเป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว
แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือ การบริหารประเทศแบบไปตายเอาดาบหน้าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่ต้องประสบกับปัญหาค่าครองชีพสูงลิ่วจากความผิดพลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ
เลือกตั้ง 2 ก.พ.จะมีหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้งคือ 2 ปีกว่าของยิ่งลักษณ์ทำร้ายประเทศไทยอย่างแสนสาหัสจริงๆ