xs
xsm
sm
md
lg

ลุยประชานิยมซื้อใจเลือกตั้ง จำนำข้าว-โครงการ2ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี ครม.สอบถาม กกต.เรื่องการขอออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ตามปกติรัฐบาลรักษาการไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะอาจมีผลผูกพันกับงบประมาณรัฐบาลชุดต่อไป แต่หากพิจารณาแล้วว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมีผลให้เห็นชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจชะลอลงมาก การส่งออกมีปัญหา ก็จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่
ขณะนี้ยังมีเวลาอีกประมาณ 60 ถึง 90 วัน ที่รัฐบาลรักษาการ จะสามารถดูว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงมากน้อยแค่ไหน หากเศรษฐกิจ และการส่งออกไม่สามารถเติบโตได้เลย ถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่จะสามารถออกมาตรการได้ เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระบุไว้ชัดคือ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่หากถามว่าจำเป็นที่ต้องออกหรือไม่ในภาวะเร่งด่วนช่วงนี้ อาจยังไม่จำเป็น

**คาดจำนำข้าว56/57เดินหน้าปกติ

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ยังดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้เป็นการอนุมัติงบประมาณใหม่ แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง โดยโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ก่อนเลือกตั้งใหม่ คือโครงการใหม่ที่ต้องผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลในชุดต่อไป
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้หารือกับ กกต.แล้วว่า โครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิตข้าวนาปี 2556/57 ยังสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรวันละหลายพันล้านบาท ตั้งแต่เริ่มโครงการเดือนตุลาคมล่าสุด จ่ายเงินให้เกษตรกรรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาเรื่องรับเงินจากโครงการล่าช้า คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกร ที่นำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ครบภายในกลางเดือนมกราคมปีหน้า
"ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ได้ไปหารือกกต.แล้ว ยืนยันเป็นโครงการต่อเนื่อง สามารถทำได้แต่ก็เร่งทยอยจ่ายวันละหลายพันล้าน ไม่มีปัญหาอะไร" รักษาการรมช.คลัง กล่าว
ส่วนของโครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2557 รัฐบาลต้องรอสอบถามจากกกต. ว่าจะยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้หรือไม่ และจะทันหรือไม่ เพราะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 โดยจะเปิดให้เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการ ภายในวันที่ 28 ก.พ.57 และนำใบประทวน มาขึ้นเงินไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.57.

**รอลุ้นศาลรธน.ผ่านเงินกู้ 2 ล้านล.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการ รมว.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ทำให้รัฐบาลต้องรักษาการ จนกว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ยืนยันว่า แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ ในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าหากผลการวินิจฉัยออกมา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดใหม่ก็สามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้ทันที
"ในส่วนของกระทรวงคมนาคม เชื่อว่า แม้จะเปลี่ยนรัฐบาล ก็ยังสามารถดำเนินการต่อได้ เพราะผู้ดำเนินการคือ ข้าราชการในกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องทุกคน" นายชัชชาติ กล่าว
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวเพียงสั้นๆว่า หลังรัฐบาลประกาศยุบสภาแล้วเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ตกต่ำลง

**ศาลรธน. ยังคงพิจารณาปมพ.ร.บ.กู้2 ล้านล.

แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ภายหลังนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้ว แต่คำร้องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เช่น ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น โดยหลักการแล้วหากกรณีเป็นเช่นนี้ กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องดูตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ซึ่งหากเทียบตาม ข้อ 23 ที่ระบุว่า คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาล ก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการถอนคำร้อง หรือศาลเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลอาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องนั้นก็ได้ นั้น หากพิจารณาตามข้อ 23 นี้ ถ้ามีผู้ร้องยื่นถอนร้อง หรือ ศาลเห็นว่าคำร้องนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลก็อาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องได้ แต่ถ้าไม่มีผู้ร้องยื่นถอนคำร้อง หรือศาลเห็นว่าคำร้องนั้นเป็นประโยชน์แก่คดี ถึงแม้นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาแล้วก็ตาม กระบวนการพิจารณาตามคำร้องต่างๆ ก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม คงขึ้นอยู่กับการพิจารณาขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณาอย่างไรต่อไปด้วย


**ชี้ ยุบสภาต้องยุบโครงการน้ำด้วย

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า หลังจากยุบสภาไปแล้วนั้น การดำเนินโครงการ หรือแผนงานใด ๆ ควรจะต้องยกเลิกไปก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้คณะรัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาพิจารณาทบทวน หรือดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่จะต้องแถลงต่อรัฐสภา จึงจะถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ออกมาพูดว่า การยุบสภา จะไม่ส่งผลให้ต้องล้มเลิกโครงการบริหารจัดการน้ำ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพราะว่าเป็นการออกเป็นกฎหมายไปแล้ว และว่าจะเร่งลงนามในสัญญาว่าจ้างกับบริษัทเอกชนทั้ง 4 แห่ง ที่ชนะการประกวดราคาใน 9 แผนงาน (โมดูล) ภายในเดือน ก.พ. 57 เพราะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้วนั้น
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านแนวคิดและพฤติการณ์ดังกล่าว เพราะเป็นการก้าวล่วงในอำนาจของคณะรัฐบาลชุดใหม่ ในอนาคตอย่างไร้มารยาท อีกทั้งการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน ที่เป็น “นิติกรรมอำพราง”ที่ลงนาม แต่ไม่มีการส่งมอบเงินกันนั้น ถือว่าเป็น “โมฆะ”ไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ได้ อีกทั้งการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ที่สั่งให้รัฐบาลไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และ มาตรา 67 วรรคสอง ก็ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน และทั่วถึง มีการต่อต้านและคัดค้านในเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ และบางจังหวัด ยังไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ เช่น จ.นครปฐม และกรุงเทพมหานคร
นอกจากนั้น ความชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ อันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ คณะรัฐมนตรีชุดต่อไปได้ ตามข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 181 (3) และอย่าหวังว่า รัฐบาลรักษาการนี้ จะกลับมาครองอำนาจแบบเดิมๆ อีก เพราะมวลมหาประชาชนคนทั้งประเทศที่คัดค้านในเวทีโครงการน้ำทั้ง 36+41 จังหวัดทั่วประเทศ และที่ออกมาเดินคัดค้านรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ คงจะต้องสั่งสอนให้บทเรียนแก่นักการเมือง และข้าราชการประจำ ที่ละเมิดกฎหมาย ไม่เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และท้าทายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ แนวทางที่ถูกต้องในขณะนี้คือต้องยกเลิก" โครงการน้ำ"ทั้งหมด เพื่อกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เมื่อมีคณะรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารแทน รวมทั้งขอเรียกร้องให้ข้าราชการ และคณะกรรมการเหล่านี้ลาออก และควรยุบ “กนอช.” “กบอ.” “สบอช.” เสีย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น