xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ฉุกเฉิน สัญญาณสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงคือสัญญาณสุดท้ายที่บ่งบอกให้เห็นถึงวาระสุดท้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรือลำนี้กำลังจะล่มจมลงไปสู่ท้องทะเล นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของผู้ที่ยังไม่กระโดดออกมา ก่อนที่จะจมหายไปพร้อมๆ กับเรือลำนี้

รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 โดยให้มีผลในวันที่ 22 มกราคม 2557 เป็นต้นไป กำหนดระยะเวลาบังคับใช้จำนวน 60 วัน และพื้นที่ในการบังคับใช้คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จ.สมุทรปราการเฉพาะ อ.บางพลี และ จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ. ลาดหลุมแก้ว และรัฐบาลรักษาการได้ตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น ผู้อำนวยการ ศรส.

เหตุผลที่รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตรใช้ในการอ้างต่อสาธารณะเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง คือ “ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณและพวก ได้กระทำละเมิดกฎหมาย โดยปิดสถานที่ราชการ ธนาคาร ตัดไฟ ตัดน้ำ และบีบบังคับฝืนใจให้ข้าราชการเป่านกหวีด เสนอข้อมูลบิดเบือน ยุยงสร้างความแตกแยกภายในประเทศ รวมทั้งมีผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง”

ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ได้นิยามสถานการณ์ฉุกเฉินว่าเป็น สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม

เมื่อพิจารณาเหตุผลและข้อเท็จจริงของการชุมนุมที่รัฐบาลอ้างเพื่อประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไม่สอดคล้องกับการตีความของรัฐบาลรักษาการหลายประการ เช่น รัฐบาลรักษาการตีความว่า การที่ผู้ชุมนุมบอกให้ข้าราชการเป่านกหวีด เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นการตีความที่ตลกขบขันยิ่งนัก

หรือการระบุว่ามีผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรง คำถามคือ มีความรุนแรงหรือไม่ และกลุ่มใดที่สร้างสถานการณ์รุนแรง เมื่อพิจารณาตลอดเวลาร่วมสองเดือนเศษที่ประชาชนประมาณสิบล้านคน (จากการสำรวจและการอนุมานทางสถิติของ นิด้าโพล) เข้าร่วมชุมนุมเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้แนวทางสันติวิธีแบบอารยะขัดขืนมาโดยตลอด แต่ความรุนแรง การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราวในช่วงระยะแรกของการชุมนุมเกิดจากการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียมากกว่า เช่น เหตุการณ์ที่สนามกีฬาที่ดินแดง เป็นต้น

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง การกระทำความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมก็มีมากขึ้น โดยมีผู้ขว้างระเบิดใส่ประชาชนและแกนนำในการชุมนุมสองครั้งที่ ถนนบรรทัดทอง และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายและบาดเจ็บอีกหลายคน จากหลักฐานที่กลุ่มผู้ชุมนุมตรวจพบและภาพจากกล้องวงจรปิดที่เห็นตัวและใบหน้าผู้ขว้างระเบิด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่าผู้โยนระเบิดทำร้ายผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มบุคคลที่รู้จักในนามกลุ่มชายชุดดำ และกองกำลังต่างชาติมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลรักษาการเป็นหลัก

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้หลายฝ่ายสรุปตรงกันว่า รัฐบาลรักษาการและกลไกของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการสร้างความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเพื่อเป็นข้ออ้างในการประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

หลักฐานอีกประการที่ตอกย้ำถึงความไม่สมเหตุผลสมและเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของรัฐบาลคือ การที่ กองทัพไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่มีชื่อผู้บัญชาการทหารทั้งสามเหล่าทัพในคณะกรรมการชุดต่างๆของ ศรส. เพราะว่ากองทัพซึ่งมีหน่วยข่าวกรองมากมายได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารเพียงพอที่สรุปวิเคราะห์ได้ว่าผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ไม่มีการใช้ความรุนแรง ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุมนั้น มีใครและกลุ่มใดอยู่เบื้องหลัง และใครลงมือกระทำ กองทัพทราบเป็นอย่างดี ดังนั้นใน ศรส.จึงมีเพียงนักการเมืองน้ำเน่า ข้าราชการที่รับใช้รัฐบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้นที่เข้าไปร่วมในขบวนการนี้

การประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ไม่สามารถใช้กำลังจากฝ่ายทหารได้จึงเป็นเสมือนยักษ์ที่ไร้กระบอง และการกำหนดมาตรการต่างๆตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลก็จะกลายเป็นเรื่องชวนหัว ยิ่งมี เฉลิม อยู่บำรุง เป็น ผอ. ศรส. แล้ว ก็ยิ่งทำให้หน่วยงานนี้กลายเป็นคณะตลกจำอวดมากยิ่งขึ้น

คำถามที่ตามมาคือ อะไรเป็นแรงจูงใจหรือความปรารถนาของรัฐบาลรักษาการที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา

เรื่องแรกเป็นกลไกทางจิตในการปกป้องตนเองของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรักษาการบางคนที่พยายามสร้างภาพหลอน หลอกตนเองว่ายังมีอำนาจอยู่ ทั้งที่อำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการได้สลายเกือบหมดสิ้นแล้ว หลักฐานที่ชัดเจนคือ บรรดาข้าราชการจำนวนมากจากหลายกระทรวงได้ปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลรักษาการอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมและสนับสนุนการชุมนุมของประชาชนอย่างเปิดเผย

ถัดมารัฐบาลรักษาการคาดหวังว่าประชาชนจะเกิดความหวาดกลัวต่อบทลงโทษของการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่าที่ผ่านมา ภายใต้การใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ รัฐบาลรักษาการก็ได้ข่มขู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ผล จึงคิดว่าหากใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนสูงกว่าจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวและไม่เข้าร่วมการชุมนุม แต่กลับกลายเป็นว่าไปกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มมาตรการกดดันรัฐบาลรักษาการมากยิ่งขึ้น และผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแต่อย่างใด

และที่สำคัญคือรัฐบาลรักษาการต้องการเพิ่มระดับความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนมากขึ้น ด้วยการไปคิดว่า แม้จะใช้ความรุนแรงก็ไม่เป็นไรเพราะได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลคงจะใช้สิ่งนี้ไปกระตุ้นยุยง และหลอกลวงตำรวจซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติให้เพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ตำรวจเกิดความย่ามใจ และอาจใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างขาดความยั้งคิดและเกินกว่าเหตุ สิ่งที่จะตามมา หากมีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายจากการทำหน้าที่ของตำรวจ กลุ่มบุคคลที่จะถูกฟ้อง และกลายเป็นเหยื่อที่ต้องรับกรรมแทนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ เฉลิม อยู่บำรุง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทั้งหลาย

ยิ่งกว่านั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามคำสั่งในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ไม่ใช่ “รักษาการ นายกรัฐมนตรี” การลงนามในคำสั่งนี้จึงไม่สอดคล้องกับสถานภาพของตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในข้อกฎหมายตามมาภายหลัง ทั้งในส่วนของตัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองและผู้ที่รับคำสั่งไปปฏิบัติ

นอกจากจะมีปมปัญหาเรื่องนี้แล้ว เรื่องที่จะกลายเป็นบ่วงรัดคอยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอีกประการคือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยรัฐบาลรักษาการระหว่างมีการเลือกตั้งอาจขัดกับรัฐธรรมมาตรา 181 (4) ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็น โดยไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด

การจัดตั้ง ศรส. หรือการใช้อำนาจต่างๆตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ล้วนแล้วมีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐที่มีผลต่อการได้เปรียบและเสียเปรียบในการเลือกตั้ง และทำลายหลักการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเป็นธรรมหลายประการ เช่น การห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามเสนอข่าว ห้ามชุมนุม และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมใครก็ได้โดยใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบที่ตามมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นแล้วคือ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าเดินทางเข้าประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลรวมทั้งทำให้ต่างชาติเกิดภาพลักษณ์ทางลบต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ในทางการเมืองการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเสมือนการรัฐประหาร เพราะว่าเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหากประเทศอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจริง เช่น มีการก่อการร้าย การก่อการจลาจล หรือสงคราม ก็เป็นเหตุอันควรที่รัฐบาลจะใช้อำนาจนี้ได้ ในทางกลับกัน หากประเทศไม่ได้มีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่รัฐบาลรักษาการกลับประกาศใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตามอำเภอใจ ย่อมจะคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่า รัฐบาลรักษาการประสงค์ที่จะรวบอำนาจ ต้องการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง และทำลายหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพื่อสถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นมาบริหารประเทศ

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงปลอมด้วยความลุแก่อำนาจเยี่ยงนี้ จึงทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ในสายตาของนานาประเทศชาติต้องเสื่อมถอยลงไปอย่างมหาศาล และสื่อมวลชนต่างชาติหลายสำนักที่เคยสนับสนุนรัฐบาลรักษาการ ก็เริ่มตั้งคำถามที่แหลมคมและวิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น

จึงขอฝากเตือนบรรดาผู้ที่ยังสนับสนุนรัฐบาลรักษาการอยู่ว่า ยิ่งรัฐบาลรักษาการดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา บรรดาข้าราชการหรือสมุนบริวารที่ร่วมกระทำผิด ก็กลายเป็นเหยื่อ และได้รับโทษก่อนนักการเมืองที่ตนเองรับใช้อยู่เสมอ

เรือรัฐบาลทรราชกำลังล่มแล้วครับ หากใครกระโดดหนีไม่ทัน ก็จะพลอยจมน้ำตายไปด้วยนะครับ ขอเตือนรีบกระโดดออกมาเสียขณะที่ยังมีโอกาสอยู่ ก่อนที่จะสายเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น