ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากนายกยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาไปแล้ว ฟากฝ่ายรัฐบาลก็เร่งโหมกระแสเลือกตั้งว่าจะต้องมีแน่ เพราะเป็นทางออกที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ กลับเห็นว่าถ้ามีการเลือกตั้งใน วันที่ 2 ก.พ. 57 โอกาสที่ระบบอบเผด็จการทุนสามานย์ทักษิณ จะกลับมาครองอำนาจอีก ยังมีความเป็นไปได้สูง
จึงมีการมองไปที่ ป.ป.ช. ว่าจะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการหยุดยั้งเกมของฝ่ายรัฐบาลได้อย่างไรบ้าง โดยจับประเด็นไปที่การชี้มูลความผิด 312 ส.ส.-ส.ว. ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของส.ว. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินแล้วว่า เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ หลายมาตรา ทั้งกระบวนการการแก้ไข และเนื้อหาสาระ ที่มีการแก้ไข
ป.ป.ช.จะชี้มูลออกมาได้ทันเวลา ที่จะมีผลในการเปลี่ยนเกมได้หรือไม่
เรื่องนี้ กล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ได้แสดงความเห็นไว้ว่า หากเดินไปตามกระบวนการพิจารณาของป.ป.ช. ตามระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ก็จะต้องมีการตั้งองค์คณะไต่สวน ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องทราบ และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องต่อสู้ ชี้แจงข้อกล่าวหา กว่าจะครบ 312 คน ก็คงไปตัดสินเอาชาติหน้า
แต่สุดท้ายแล้ว คำวินิจฉัยที่ออกมาก็จะเหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้ คือ 312 ส.ส.-ส.ว. ทำผิด ขัดรัฐธรรมนูญ
เพราะ ป.ป.ช.คงไม่ตัดสินออกมาว่า ไม่มีการปลอมร่างรัฐธรรมนูญ องค์ประชุมครบถูกต้อง ไม่มีการเสียบบัตรแทนกัน สภาเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายกันอย่างเต็มที่ และบอกว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
แต่ถ้าป.ป.ช.ไม่ทำตามระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ตั้งกรรมการ ไม่ให้ผู้ถูกร้องได้แก้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ก็ถูกฟ้องร้องเอาผิดได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีทางออก โดยป.ป.ช. ยังทำตามขั้นตอน แต่เร่งรัดได้ โดยตัดพยานได้ ให้ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คน ทำเอกสารชี้แจงมา และสอบถามไปที่สภาว่ามีใครบ้าง แล้วใช้เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบคำวินิจฉัยได้ เพราะมีจุดสุดท้ายอยู่แล้ว คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ร่นระยะเวลาได้ได้มาก ก็ขึ้นอยู่กับกรรมการป.ป.ช. ว่าจะเลือกเดินทางไหน
ขณะที่ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. ชี้แจง แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ป.ป.ช.เพิ่งเริ่มต้นกระบวนการไต่สวนเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะเพิ่งได้รับสำนวนคดีทั้งหมดจากศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนจากนี้ไป จะเป็นกระบวนการไต่สวน โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดทราบก่อนทั้ง 312 คน แต่จะเชิญมาให้ถ้อยคำเฉพาะ บางคนที่เป็นเจ้าของเรื่องหลัก สำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ป.ป.ช.ก็ต้องให้โอกาส โดยดูว่าในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีใครที่ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และมีการไปแจ้งความจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนให้ครบถ้วนด้วย
คาดว่าในเวลา 1 เดือนน่า จะพอเห็นหน้าเห็นหลัง แต่จะพิจารณาวินิจฉัยเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่จะพยายามเร่งทำให้เร็วที่สุด และอย่าคาดหวังให้ ป.ป.ช. ไปเป็นฐานที่จะทำลายใคร หรือจะไปสร้างประโยชน์ให้กับใคร เพราะป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีความเป็นอิสระในการทำงาน
คราวนี้มาดูว่า หากป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็ไม่มีผลเพราะส.ส.สิ้นสภาพไปตามการยุบสภาแล้ว แต่ถ้าส่งต่อไปที่วุฒิสภา แล้ววุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ก็จะทำให้ผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่คดีนี้มันมี ส.ว.มาเกี่ยวข้องอยู่ 55 คน ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูล ทั้ง 55 คน ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วใช้คะแนน 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ในการลงมติถอดถอน
ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งลงมติเห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการลงมติในฐานะส.ส. แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ก็ไม่มีผลอะไร แต่มันจะมีผลเมื่อวุฒิสภาลงมติถอดอถอน ซึ่งจะถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี แต่ถ้าเป็นการร้องเรียน กล่าวหาในฐานะนายกฯ และถูกส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ด้วย และผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือ ตัวประธานวุฒิสภา ถูกยื่นถอดถอนด้วย หากวุฒิสภามีมติถอดถอน ก็จะเหลือรองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่แทน
จึงมีการคาดหวังจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาในช่วงที่มีการรับสมัครเลือกตั้งส.ส.ไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง จะทำให้มีปัญหากับบรรดาผู้ที่ถูกชี้มูลในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
เรื่องนี้ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง อธิบายว่า แม้ ป.ป.ช.จะชี้มูล ความผผิด 312 ส.ส.-ส.ว. ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ก็ไม่มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องหยุดลง เพราะตามกฎหมายกำหนดลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้งไว้เพียง เป็นผู้ที่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ดังนั้นแม้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก ก็ยังมีสิทธิเป็นผู้สมัครอยู่
ส่วนโทษการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถ้าจะไปถึงจุดนั้นได้ คนกลุ่มนี้ก็คงได้เป็นส.ส.กันไปแล้ว
แต่ก็ไม่ใช้จะหมดหวังเสียทีเดียว เพราะถ้าคนกลุ่มนี้ลงสมัคร ส.ส.เขต เมื่อถูกตัดสิทธิก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไปลุ้นเอาตอนนั้นก็แล้วกัน