ป.ป.ช.แจงแม้ “นายกฯ ปู” ยุบสภา ไม่กระทบคดี ถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.383 คน จากการลงมติแก้ รธน.ประเด็นที่มา ส.ว. เพราะหากวินิจฉัยว่ากระทำผิดจริงจะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แถมยังถูกดำเนินคดีอาญา
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงถึงการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งและการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 ประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือ แจ้งว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์และคณะ ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้วุฒิสภาถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม รวม 383 คน ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.จะได้นำเรื่องดังกล่าวรวมพิจารณากับเรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
ส่วนการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วนั้น จะมีผลกระทบต่อกระบวนการ ไต่สวนถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ขอเรียนเพื่อความเข้าใจอันดีของสื่อมวลชนทั้งหลายว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่มีผลเพียงให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 106 (1) เท่านั้น ไม่ได้กระทบต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่ประการใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ตามนัยมาตรา 43 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
โดยกรณีการถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป เนื่องจาก หากผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจะมีผลให้ผู้นั้นถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี ตามมาตรา 272 มาตรา 273 และมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำหรับการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ต่อไปตามบทบัญญัติมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554
ทั้งนี้ ขณะนี้เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เตรียมการแจ้งคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และเชิญผู้กล่าวหามาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมถึงจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป