อดีต กรรมการ ป.ป.ช.ยันมีช่องทางเร่งรัดเอาผิด 312 ส.ส.-ส.ว.ได้ ชี้ระเบียบไต่สวนเป็นกรณีปกติที่ ป.ป.ช.ยังไม่มีข้อเท็จจริง แต่คดีนี้ศาล รธน.วินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงข้อกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว เดินตามขั้นตอน ป.ป.ช.ผลสอบก็ออกมาไม่ต่างกัน ยกคดียุบ“ชาติไทย”ปี 51 ศาล รธน.นำผลสอบ กกต.สั่งฟันได้เลย
นายกล้านรงค์ จันทึก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในรายการ"สภาท่าพระอาทิตย์" ทางเอเอสทีวี เช้าวันนี้(11 ธ.ค.) กรณีมีผู้ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดและถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 300 กว่าคนที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ป.ป.ช.จะสามารถดำเนินการให้เร็วกว่าปกติได้หรือไม่ ว่า ป.ป.ช.มีระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งต้องมีการตั้งองค์คณะไต่สวนฯ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องทราบ และเปิดโอกาสให้ต่อสู้ชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กระบวนการนี้เป็นกระบวนการปกติซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง หลังจากนั้นแล้ว ป.ป.ช.จึงทำการวินิจฉัย
สำหรับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.จะตั้งกรรมการไต่สวนตามปกติเพื่อหาข้อเท็จจริงใหม่ได้หรือไม่ เมื่อมาดูรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 5 ที่บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ซึ่งต้องมาดูว่าคำวินิจฉัยผูกพันแค่ไหน ในมาตรา 216 วรรค 4 เขียนว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง”
กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า 1.ร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาเป็นคนละร่างกับร่างที่เสนอ มีการเพิ่มเติมแก้ไขถือเป็นเอกสารปลอม 2.กรณีการแปรญัตติ องค์ประชุมไม่ครบ และเรียกประชุมใหม่ ปรากฏว่ามีการตัดสิทธิกรรมาธิการแปรญัตติ และนับเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือเวลาแปรญัตติแค่ 1 วัน ซึ่งศาลฯ ได้วินิจฉัยว่าไม่ชอบและขัดต่อระเบียบการประชุมรัฐสภา 3.การเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งศาลฯ ได้ไต่สวนฟังข้อเท็จจริงแล้ว มีการเสียบแทนกันจริง และ 4.ไม่ให้ผู้สงวนคำแปรญัตติได้อภิปราย
เมื่อศาลฯ ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วก็มาวินิจฉัยข้อกฎหมาย ก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 เรื่องความเป็นอิสระของสมาชิกรัฐสภา ขัดมาตรา 125 เรื่องความเป็นกลางของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ขัดมาตรา 126 วรรค 3 เรื่องสมาชิก 1 คนมีสิทธิออกเสียง 1 เสียง และยังเป็นการกระทำเพื่อให้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68
หลังจากศาลวิจิฉัยเรียบร้อยแล้ว เมื่อส่งมาที่ ป.ป.ช.เรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง เราดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 เป็นการยื่นถอดถอน เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งคำว่าส่อนั้น มีความหมายว่า แสดงให้เห็นเป็นนัยๆ แต่กรณีนี้ศาลวินิจฉัยว่าผิดชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้นก็ถอดถอนได้
นายกล้านรงค์กล่าวต่อว่า ถ้ามีการตั้งกรรมการสอบสวน ให้โอกาสชี้แจงทั้ง 300 กว่าคนก็ใช้เวลา 300 ปี และถ้า ป.ป.ช.เรียกสอบแล้ว จะวินิจฉัยขัดกับศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ จะบอกว่าร่างรัฐธรรมนุญไม่ปลอมได้ไหม บอกว่าองค์ประชุมครบได้ไหม บอกว่าไม่มีการเสียบบัตรแทนกันได้ไหม บอกว่ามีการเปิดโอกาสให้ผู้สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายเต็มที่ได้ไหม แล้วบอกว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้
เมื่อวรรค 5 ของมาตรา 216 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ คำว่ามีผลผูกพันคือก่อให้เหิดพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามศาลรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องถือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเศษกระดาษ ไม่มีความหมาย อะไร
“เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ป.ป.ช.จะใช้เวลาในการไต่สวนมากมายก่ายกองทำไม สมมุติว่า ถ้าทำตามขั้นตอนเราต้องเดินทาง 100 กิโลเมตร แต่ข้อเท็จจริงมันอยู่ห่างเราแค่ 10 เมตร ทำไมเราต้องเดิน 100 กิโลเมตรตามขั้นตอน เพื่อมาเอาของที่อยู่ข้างหน้าเรา 10 เมตร” นายกล้านรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์กล่าวว่า ต้องให้ความเห็นใจ ป.ป.ช.เพราะ เขาเองต้องถูกฟ้องแน่นอน ถ้าไม่ทำตามระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งตามมาตรา 125 กฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดโทษไว้สูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่า เพราะฉะนั้นเขาต้องเดินตาม
ทั้งนี้ ถือว่า ป.ป.ช.มาถึงทาง 2 แพร่ง ถ้าเดินตามระเบียบการไต่สวน ในที่สุดมันก็ย้อนกลับมาที่คำวินิจฉัยของศาลฯ ซึ่งมันหักล้างไม่ได้ และเหมือนเป็นการหลอกคนถูกร้อง ไปตั้งกรรมการสอบ ให้มาชี้แจง แต่ในที่สุดก็ต้องทำตามคำวินิจฉัยของศาล แต่ถ้าไม่ทำตามระเบียบ ไม่ตั้งกรรมการ ไม่ให้เขาแก้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ก็ถูกฟ้อง แต่ ป.ป.ช.ก็มีเหตุมีผล เรื่องนี้ต้องดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2551 เรื่องที่อัยการสูงสุดยื่นร้องให้ยุบพรรคชาติไทย กรณีที่นายมณเฑียร สงฆ์ประชา และนางนันทนา สงฆ์ประชา ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งสองคน และเนื่องจากนายมณเฑียรเป็นกรรมการบริหารพรรค อัยการสูงสุดจึงร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคฯ ซึ่งศาลฯ ได้งดไต่สวนพยาน และให้หัวหน้าพรรคมาแถลงปิดคดี แล้วศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจการสอบสวนของ กกต. ให้คำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด ศาลฯ จึงไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็มีการพิจาณาแค่ข้อกฎหมายให้ยุบพรรค นั่นแสดงว่าศาลฯ ก็ยอมรับอำนาจของ กกต. ทั้งที่ฏำหมายไม่ได้บอกว่าคำวินิจฉัย กกต.มีผลผูกพันทุกองค์กรด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้า ป.ป.ช.ถูกฟ้องกรณีที่ไม่ทำตามระเบียบ ศาลก็ย่อมจะรับฟังเหตุผลของ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะเอาคำวินิจฉัยของศาลมาออกคำสั่งเลยไม่ได้ ต้องทำตามขั้นตอน แต่เร่งรัดได้ ตัดพยานได้ ที่ทำได้ก็เพราะจุดสุดท้ายคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยสามารถแจ้งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คนทำเอกสารชี้แจงมา และสอบถามไปที่สภาว่ามีใครบ้าง แล้วใช้เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบคำวินิจฉัยได้ โดยคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งองค๋คณะไต่สวนเป็น ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ซึ่งตามขั้นตอน เมื่อประชุมองค์คณะไต่สวนเสร็จ ก็นำเข้า ป.ป.ช.ใหญ่พิจารณา ซึ่งก็คือชุดเดียวกันแต่สวมหมวกคนละใบเท่านั้น
ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็ไม่มีผล เพราะมีการยุบสภาแล้ว แต่ถ้าส่งต่อไปที่วุฒิสภาแล้ววุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ก็จะทำให้ผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่คดีนี้มันมี ส.ว.มาเกี่ยวข้องอยู่ 55 คน ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูล ทั้ง 55 คนก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วใช้คะแนน 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ในการลงมติถอดถอน
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการลงมติในฐานะ ส.ส.แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ก็ไม่มีผลอะไร แต่มันจะมีผลเมื่อวุฒิสภาลงมติถอดอถอนซึ่งจะถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี แต่ถ้าเป็นการร้องเรียนกล่าวหาในฐานะนายกฯ และถูกส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ด้วย
ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่ง ตัวประธานวุฒิสภาถูกยื่นถอดถอนด้วย หากวุฒิสภามีมติถอดถอน ก็จะเหลือรองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน
นายกล้านรงค์ย้ำว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลในคดีนี้ คงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ ส.ส.มากนัก เพราะขณะนี้ไม่มี ส.ส.แล้ว และเมื่อส่งไปที่วุฒิสภา ก็อาจถอดถอนไม่ได้ ถ้าได้เสียงไม่พอ 3 ใน 5 แต่มันเป็นการทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการตั้งธง ผิดก็คือผิด
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหากล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้น มี ส.ส.-ส.ว.จำนวน 312 คนเข้าชื่อเสนอร่างฯ แต่ต่อมามีสมาชิกที่เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงถอยออกมา 4-5 คน แต่ก็มีสมาชิกอีก 40 กว่าคนที่ไม่กลัว และเข้าไปลงมติรับร่างฯ ซึ่งรวมรายชื่อแล้วมี 358 คน และมีการยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ทั้งหมด 5 ชุด ทั้งกรณีการเข้าชื่อเสนอร่างฯ และยื่นถอดถอนนายกฯ ถอดถอนประธานรัฐสภา ถอดถอนประธานวุฒิสภา ซึ่งทั้งหมดถูกรวมเป็นคดีเดียวกัน เพราะเป็นการกระทำผิดจากกรณีเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้ตนเห็นใจ ป.ป.ช.ที่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็สามารถตัดพยาน เร่งรัดขั้นตอนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ส.ส.ส.ว.เหล่านั้นประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแสดงว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะชี้แจงอยู่แล้ว