xs
xsm
sm
md
lg

ฟัน312ส.ส.-ส.ว.ทาส "กล้านรงค์"แนะป.ป.ช.ใช้ทางลัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"กล้านรงค์" แนะขั้นตอนลัด เอาผิด 312 ส.ส.-ส.ว. ทาส ที่หนุนแก้รัฐธรรมนูญดันสภาผัวเมีย ชี้หากทำตามขั้นตอนปกติ จะใช้เวลาเป็นชาติ ต้องรวบรัด เหตุไม่สามารถหนีข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้ว ยกกรณียุบพรรคชาติไทยปี 51 เป็นบรรทัดฐาน ด้าน "วิชา" ยันป.ป.ช. ยังไม่ชี้มูลคดีวันนี้ แค่จะเริ่มกระบวนการไต่สวน ต้องใช้อีก 1 เดือนถึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง ระบุนายกฯ ลาออกรักษาการ ตั้งสภาประชาชนสามารถทำได้ แต่ต้องหารือกันให้ชัด

นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในรายการ "สภาท่าพระอาทิตย์" ทางเอเอสทีวี วานนี้ (11 ธ.ค.) ถึงกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนเอาผิดและถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312คน ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ป.ป.ช. จะสามารถดำเนินการให้เร็วกว่าปกติได้หรือไม่ ว่า ป.ป.ช. มีระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งต้องมีการตั้งองค์คณะไต่สวน ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องทราบ และเปิดโอกาสให้ต่อสู้ชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ แต่ถ้าใช้ขั้นตอนปกติ มีการตั้งกรรมการไต่สวน ให้โอกาสชี้แจงทั้ง 300 กว่าคน ก็ใช้เวลา 300 ปี และถ้าป.ป.ช.เรียกสอบแล้ว สุดท้ายจะวินิจฉัยขัดกับศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้

ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินการของป.ป.ช. มาถึงทาง 2 แพร่ง คือ ถ้าเดินตามระเบียบการไต่สวน ในที่สุดมันก็ย้อนกลับมาที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันหักล้างไม่ได้ แต่ถ้าไม่ทำตามระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ตั้งกรรมการ ไม่ให้ผู้ถูกร้องได้แก้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ก็ถูกฟ้องได้ และโทษจะสูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ซึ่งเรื่องนี้มีทางออก โดยป.ป.ช. ต้องทำตามขั้นตอน แต่เร่งรัดได้ ตัดพยานได้ เพราะจุดสุดท้าย คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยสามารถแจ้งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คน ทำเอกสารชี้แจงมา และสอบถามไปที่สภาว่ามีใครบ้าง แล้วใช้เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบคำวินิจฉัยได้ โดยคดีนี้ ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนเป็น ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ซึ่งตามขั้นตอน เมื่อประชุมองค์คณะไต่สวนเสร็จ ก็นำเข้าป.ป.ช.ใหญ่พิจารณา ซึ่งก็คือชุดเดียวกัน แต่สวมหมวกคนละใบเท่านั้น

"ป.ป.ช. จะไปบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ปลอมได้ไหม บอกว่าองค์ประชุมครบได้ไหม บอกว่าไม่มีการเสียบบัตรแทนกันได้ไหม บอกว่ามีการเปิดโอกาสให้ผู้สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายเต็มที่ได้ไหม แล้วบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ได้ ในเมื่อไม่ได้ ป.ป.ช. จะใช้เวลาในการไต่สวนมากมายก่ายกองไปทำไม สมมุติว่าถ้าทำตามขั้นตอนเราต้องเดินทาง 100 กิโลเมตร แต่ข้อเท็จจริงมันอยู่ห่างเราแค่ 10 เมตร ทำไมเราต้องเดิน 100 กิโลเมตรตามขั้นตอน เพื่อมาเอาของที่อยู่ข้างหน้าเรา 10 เมตร" นายกล้านรงค์กล่าว

นายกล้านรงค์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2551 ให้ยุบพรรคชาติไทย กรณีนายนายมณเฑียร สงฆ์ประชา และนางนันทนา สงฆ์ประชา ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้ง 2 คน และเนื่องจากนายมณเฑียร เป็นกรรมการบริหารพรรค อัยการสูงสุดจึงร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรค ซึ่งศาลฯ ได้งดไต่สวนพยาน และให้หัวหน้าพรรคมาแถลงปิดคดี แล้วศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า เป็นอำนาจการสอบสวนของกกต. ให้คำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด ศาลฯ จึงไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็มีการพิจาณาแค่ข้อกฎหมายให้ยุบพรรค นั่นแสดงว่าศาลฯ ก็ยอมรับอำนาจของกกต. ทั้งที่กฎหมายไม่ได้บอกว่า คำวินิจฉัย กกต.มีผลผูกพันทุกองค์กรด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ถ้า ป.ป.ช.ถูกฟ้องกรณีที่ไม่ทำตามระเบียบ ศาลก็ย่อมจะรับฟังเหตุผลของป.ป.ช.

นายกล้านรงค์กล่าวอีกว่า หากป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็ไม่มีผล เพราะมีการยุบสภาแล้ว แต่ถ้าส่งต่อไปที่วุฒิสภา แล้ววุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ก็จะทำให้ผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่คดีนี้มันมีส.ว.มาเกี่ยวข้องอยู่ 55 คน ถ้าป.ป.ช.ชี้มูล ทั้ง 55 คน ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วใช้คะแนน 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ในการลงมติถอดถอน

ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งลงมติเห็นชอบ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการลงมติในฐานะ ส.ส. แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ก็ไม่มีผลอะไร แต่มันจะมีผลเมื่อวุฒิสภาลงมติถอดอถอน ซึ่งจะถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี แต่ถ้าเป็นการร้องเรียน กล่าวหาในฐานะนายกฯ และถูกส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ ด้วย และผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือ ตัวประธานวุฒิสภา ถูกยื่นถอดถอนด้วย หากวุฒิสภามีมติถอดถอน ก็จะเหลือรองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่แทน

"หาก ป.ป.ช.ชี้มูลในคดีนี้ คงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ ส.ส.มากนัก เพราะขณะนี้ ไม่มีส.ส.แล้ว และเมื่อส่งไปที่วุฒิสภา ก็อาจถอดถอนไม่ได้ ถ้าได้เสียงไม่พอ 3 ใน 5 แต่มันเป็นการทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการตั้งธง ผิดก็คือผิด"นายกล้านรงค์กล่าว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.นั้น มีส.ส.-ส.ว.จำนวน 312 คน เข้าชื่อเสนอร่างฯ แต่ต่อมามีสมาชิกที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงถอยออกมา 4-5 คน แต่ก็มีสมาชิกอีก 40 กว่าคน ที่ไม่กลัว และเข้าไปลงมติรับร่างฯ ซึ่งรวมรายชื่อแล้วมี 358 คน และมีการยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ทั้งหมด 5 ชุด ทั้งกรณีการเข้าชื่อเสนอร่างฯ และยื่นถอดถอนนายกฯ ถอดถอนประธานรัฐสภา ถอดถอนประธานวุฒิสภา ซึ่งทั้งหมดถูกรวมเป็นคดีเดียวกัน เพราะเป็นการกระทำผิดจากกรณีเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้ ตนเห็นใจ ป.ป.ช. ที่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็สามารถตัดพยาน เร่งรัดขั้นตอนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ส.ส.-ส.ว.เหล่านั้น ประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แสดงว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะชี้แจงอยู่แล้ว

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดคดียื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คนในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ว่าไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเพียงวันเริ่มต้นในการไต่สวนเท่านั้น เพราะเพิ่งได้รับสำนวนคดีทั้งหมดจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อจากนี้ไปต้องนำมาวิเคราะห์ และแจ้งไปยังผู้ถูกร้องเพื่อให้โอกาสชี้แจง

นายวิชากล่าวว่า ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีเจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำสำนวนมาให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช. รวมถึงที่ประชุมจะได้มีการนำคำร้องในกรณีเดียวกันที่มีการยื่นเพิ่มเติมเข้ามาหารือว่าจะรวมไว้เป็นสำนวนเดียวกันหรือไม่ ดังนั้น ที่มีข่าวว่าจะชี้มูล จึงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง

"นับจากนี้ไปจะเป็นกระบวนการไต่สวน โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดทราบก่อนทั้ง 312 คน แต่จะเชิญมาให้ถ้อยคำเฉพาะบางคนที่เป็นเจ้าของเรื่องหลัก สำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ป.ป.ช.ก็ต้องให้โอกาส โดยดูว่าในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีใครที่ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และมีการไปแจ้งความจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ป.ป.ช.ต้องไต่สวนให้ครบถ้วนด้วย"

ทั้งนี้ นายวิชาได้ปฏิเสธที่จะยืนยันว่า คดีดังกล่าว ป.ป.ช. จะสามารถพิจาณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เพียงแต่ระบุว่าจะพยายามเร่งทำให้เร็วที่สุด ดีที่สุด แต่อย่าให้ ป.ป.ช. ไปเป็นฐานที่จะทำลายใคร หรือจะไปสร้างประโยชน์ให้กับใคร เพราะป.ป.ช.ต้องทำงานเป็นอิสระ และเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่ารู้สึกกดดันหรือไม่ เพราะหลายมองว่า ป.ป.ช. จะเป็นเครื่องมือในการทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์หมดสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี นายวิชากล่าวว่า ทุกฝ่ายไม่เคยชม ป.ป.ช. มีแต่ด่าอย่างเดียว ฝ่ายที่ไม่พอใจ ก็จะว่าทำไมทำเร็วนัก ทีเรื่องอื่นช้าเหลือเกิน อีกฝ่ายก็เร่งให้เร็วกว่านี้อีก แล้วจะให้ ป.ป.ช.ทำอย่างไร แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ ทำงานโดยมีสติ และขอให้ทุกคนที่รุกเร้านั้นก็ทำอย่างมีสติ อย่าทำโดยมีความกลัว

ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่า นายกฯ และครม. ต้องลาออกจากการรักษาการ ทางกฎหมายทำได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนวคิดว่า เรื่องการตั้งสภาประชาชน สามารถทำได้โดยการออกเป็นพระราชกำหนด ก็เห็นว่าควรไปลองคิดดู โดยต้องเป็นความตกลงหรือการให้สัตยาบันระหว่างกัน ไม่สามารถที่จะทำฝ่ายเดียวได้ เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อนายสมคิด เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา ตนก็เห็นว่าก็น่าจะจริง ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรคงต้องปรึกษาหารือกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตามกฎหมายแล้วไม่มีอะไรเป็นข้อห้าม

นอกจากนี้ เห็นว่าแม้จะไม่มีนายกฯ และรัฐบาลรักษาการ ก็ไม่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะกระบวนการนี้ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลาออกจากรักษาการ และมีพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการแทน ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ ไม่แปลกพิสดารแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น