โฆษก ป.ป.ช.ยันยังไม่ชี้มูลคดีถอดถอน ส.ส.-ส.ว.312 คน เผยประชุมพรุ่งนี้แค่เริ่มกระบวนการไต่สวน คาดอย่างน้อยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนถึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง ตอบไม่ได้เสร็จก่อนเลือกตั้งหรือไม่ หนุนข้อเสนอ “อ.สมคิด” ออก พ.ร.ก.ตั้งสภาประชาชนได้ ส่วนนายกฯ รักษาการ ถ้าไม่มี “ปู” สามารถตั้งคนอื่นเข้ามาได้
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดคดียื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คนในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ว่าไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเพียงวันเริ่มต้นในการไต่สวนเท่านั้น โดยช่วงเช้าที่ผ่านมาตนเพิ่งได้รับสำนวนคดีทั้งหมดจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากนี้ต้องนำมาวิเคราะห์ และแจ้งไปยังผู้ถูกร้องเพื่อให้โอกาสชี้แจง
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้จะมี เจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำสำนวนนี้มาให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช. รวมถึงที่ประชุมก็จะได้มีการนำคำร้องในกรณีเดียวกันที่มีการยื่นเพิ่มเติมเข้ามาหารือว่าจะรวมไว้เป็นสำนวนเดียวกันหรือไม่ ดังนั้นที่มีข่าวว่าจะชี้มูลจึงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง
“นับจากนี้ไปจะเป็นกระบวนการไต่สวน โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดทราบก่อนทั้ง 312 คน แต่จะเชิญมาให้ถ้อยคำเฉพาะบางคนที่เป็นเจ้าของเรื่องหลัก สำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ป.ป.ช.ก็ต้องให้โอกาส โดยดูว่าในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีใครที่ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และมีการไปแจ้งความจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนให้ครบถ้วนด้วย"
นายวิชายังปฏิเสธที่จะยืนยันว่าคดีดังกล่าว ป.ป.ช.จะสามารถพิจาณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เพียงแต่ระบุว่าจะพยายามเร่งทำให้เร็วที่สุด ดีที่สุด แต่อย่าให้ ป.ป.ช.ไปเป็นฐานที่จะทำลายใครหรือจะไปสร้างประโยชน์ให้แก่ใคร เพราะ ป.ป.ช.ต้องทำงานเป็นอิสระ และเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกดดันหรือไม่ เพราะหลายฝ่ายมองว่า ป.ป.ช.จะเป็นเครื่องมือในการทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์หมดสถานการณ์เป็นนายกรัฐมนตรี นายวิชากล่าวว่า ทุกฝ่ายไม่เคยชม ป.ป.ช. มีแต่ด่าอย่างเดียว ฝ่ายที่ไม่พอใจก็จะว่าทำไมทำเร็วนัก ทีเรื่องอื่นช้าเหลือเกิน อีกฝ่ายก็เร่งให้เร็วกว่านี้อีก แล้วจะให้ ป.ป.ช.ทำอย่างไร แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทำงานโดยมีสติ และขอให้ทุกคนที่รุกเร้านั้นก็ทำอย่างมีสติ อย่าทำโดยมีความกลัว
ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่านายกฯ และครม.ต้องลาออกจากการรักษาการ ทางกฎหมายทำได้หรือไม่นั้น นายวิชากล่าวว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนวคิดว่าเรื่องการตั้งสภาประชาชนนั้นสามารถทำได้โดยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็เห็นว่าควรไปลองคิดดู โดยต้องเป็นความตกลง หรือการให้สัตยาบันระหว่างกัน ไม่สามารถที่จะทำฝ่ายเดียวได้เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อนายสมคิดเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาตนก็เห็นว่าก็น่าจะจริง ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรคงต้องปรึกษาหารือกัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตามกฎหมายแล้วไม่มีอะไรเป็นข้อห้าม นอกจากนี้เห็นว่าแม้ไม่มีนายกฯ และรัฐบาลรักษาการก็ไม่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะ กระบวนการนี้ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเคยลาออกจากรักษาการ ก็มี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการแทน ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ ไม่แปลกพิสดารแต่อย่างใด