xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บูรพาพยัคฆ์” กระชับอำนาจ ต่อรองตีกิน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ชัยชนะในยกแรกของมวลมหาประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่จำต้องพักรบชั่วคราวเพื่อเฉลิมฉลองวันพ่อ 5 ธันวาฯ ยืนยันชัดเจนตรงกันทุกสายข่าวว่าเป็นผลจากการเจรจาของผู้นำ “สามก๊ก” รัฐบาล-ทหาร-ผู้ชุมนุม ที่เห็นพ้องให้ผ่านพ้นวันสำคัญนี้ไปก่อน แต่หากติดตามท่าทีและบทบาทของฝ่ายทหารนับเนื่องตั้งแต่เริ่มชุมนุมจนถึงวันพักรบ จะพบว่า อำนาจต่อรองของผู้นำในสามก๊กนั้น ณ วันนี้ ทหารยังเป็นตัวแปรที่สำคัญและมีอำนาจต่อรองมากที่สุด

หากมองย้อนกลับไป ความตกต่ำสุดขีดของทหารภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้ทหารกลับเข้ากรมกองเลิกยุ่งเกี่ยวในทางการเมืองหลายปี กระทั่งเกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย ที่จบลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 ของคณะนายทหารนำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ทหารสามารถเรียกคะแนนนิยมจากสังคมได้ในช่วงแรก แต่ถึงที่สุดแล้ว ฝีมือการบริหารประเทศที่ไม่เข้าท่าของรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อเนื่องด้วยรัฐบาลพลเรือนภายใต้ท็อปบูทในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง ทหารได้แสดงบทบาทปราบฮาร์ดคอร์เสื้อแดงบาดเจ็บล้มตายกันทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ทหารถูกกล่าวหาว่าฆ่าประชาชนจนสลัดไม่หลุดถึงบัดนี้

บทเรียนตลอดช่วงระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา สอนให้ผู้นำทหารเลือกที่จะวางมาดนิ่ง สุขุม ลุ่มลึก สร้างภาพไม่เอนเอียงเลือกข้างไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ทหารแสดงจุดยืนให้ชัดเจนจะเลือกฝ่ายไหนในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ยิ่งสองฝ่ายคือรัฐบาลและผู้ชุมนุมยังไม่สามารถเดินเกมไปสู่จุดที่เป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ทหารซึ่งถือเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งที่มีทั้งกำลังพลและอาวุธก็ยิ่งมีอำนาจในการต่อรองมากยิ่งขึ้น และเล่นบทบาทในฐานะผู้คุมเกมได้เนียนยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นเฉกเช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อมวลมหาประชาชนนำโดยนายอุทัย ยอดมณี และนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เคลื่อนพลบุกพังประตูรั้วกองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 ไปยื่นหนังสือให้กองทัพแสดงจุดยืนปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกล่วงละเมิดโดยระบอบทักษิณ ปฎิกิริยาตอบโต้กลับยุทธการบุกถ้ำเสือของมวลชนทางกองทัพหาได้เสียสติขัดขวาง ผลักดันด้วยกำลังและอาวุธเหมือนอย่างที่ฝ่ายตำรวจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม แต่ต้อนรับด้วยบรรยากาศที่สุดแสนจะชื่นมื่น โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. สั่งการให้พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร เลขานุการกองทัพบก เป็นตัวแทนของพล.อ.ประยุทธ์ เจรจากับผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธี แถมมีการจัดน้ำดื่มและแพทย์ทหารมาบริการตรวจวัดความดันแก่ผู้ชุมนุมอีกต่าง หาก สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก

ทหารยังเก็บแต้มต่อเนื่องด้วยการปล่อยหน่วยแพทย์ทหารออกให้บริการแก่ประชาชนผู้ชุมนุมที่ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาและน้ำผสมสารเคมี โดยเฉพาะในวันที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนมวลชนปิดล้อมและยึดสถานที่สำคัญหลายแห่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. แล้วเจอการตีโต้กลับอย่างรุนแรงจากฝ่ายตำรวจ เช่น การเคลื่อนขบวนเข้ายึดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่มีนายชุมพล จุลใส เป็นผู้นำทัพ ซึ่งบรรยากาศในวันนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมไม่ยั้ง ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ดาหน้าบุกเข้ารื้อรั้วลวดหนามก่อนปีนข้ามรั้วแบริเออร์ชั้นที่ 1 และเข้าสู่บริเวณแนวแบริเออร์ชั้นที่ 2 เพื่อจะเข้าไปยึด บช.น.ให้ได้ ทำให้การปะทะของสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึงบ่ายและค่ำ

เช่นเดียวกันกับการเคลื่อนมวลชนเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มคปท. นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ และนายอุทัย ยอดมณี ที่เจอทั้งแก๊สน้ำตาและน้ำผสมสารเคมี เมื่อพยายามบุกเข้าไปรื้อแท่งแบริเออร์ตรงจุดแนวป้องกันทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพระราม 5 และทั้งสองฝ่ายได้กดดัน ยั่วยุ ด่าทอกันไปมา ฝ่ายผู้ชุมนุมตะโกนด่าตำรวจว่าขี้ข้า ขณะที่ตำรวจก็โต้กลับ "เข้ามาเลย เข้ามาไม่ได้ใช่ไหม วิ่งหางจุกตูดไปเลย" หรือ "ปล่อยมันเข้ามา แล้วจับมันสัก 2-3 คน ใช้กระบองกับมันก่อน ทำให้เป็นตัวอย่าง"

ใน ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมแต่ละจุดที่กลุ่ม กปปส.และคปท.เคลื่อนขบวนไปนั้น ทางฝ่ายทหารได้ออกมาปรามตำรวจให้หยุดทำร้ายประชาชน โดย พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงข่าวอ้างถึงความห่วงใยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ที่เป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลและบช. น.ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตายับยั้งมวลชน

"พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากให้มีการใช้ความรุนแรง และอยากให้ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่มีความปลอดภัยทั้งสองส่วน จึงได้มีการประสานไปยัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เพื่อขอให้ตำรวจระงับการใช้แก๊สน้ำตา และขอให้ผู้ชุมนุมอย่าบุกรุกสถานที่ราชการ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งของทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะช่วยเร่งประสานกับทางรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่อไป เพราะภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง และจะส่งผลกระทบไม่ดีต่อนานาประเทศ" รองโฆษกกองทัพบก ระบุ

แต่อย่างไรก็ตาม คำร้องขอของฝ่ายทหารที่ขอให้หยุดการยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องทุกจุดจนถึง ช่วงค่ำ การ ไม่สนคำขอร้องของฝ่ายทหารแสดงให้เห็นท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาล เหมือนกับจะส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลุยปราบม็อบเต็มสตรีม เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยตั้งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำงานสนอง “นายใหญ่” ได้มากกว่า มาแทนพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่ใจไม่ถึงพอ

ถึงแม้กองทัพจะไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ที่ตึงเครียดในสมรภูมิหน้าบช.น.และบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ที่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างฉับพลันทันที แต่ในวันเดียวกันนั้น ทหารก็ได้สวมบทพระเอกขี่ม้าขาว เข้าช่วยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ติดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และเข้าควบคุมสถานการ์ดูแลพื้นที่ตามคำร้องขอของอธิการบดี โดยทันทีที่ พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พร้อมด้วยทหารจากกรมทหารราบที่ 11 จำนวน 1 กองร้อยเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็มีเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งการมาของทหารที่ติดตราสัญลักษณ์ทหารรักษาพระองค์ นักศึกษาและประชาชนจึงพากันส่งเสียงแซ่ซ้อง “ทรงพระเจริญ”

ปฏิบัติการดังกล่าว ได้สร้างความประทับใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก บรรดาชาวเน็ตต่างโพสต์ขอบคุณที่ทหารได้เข้าไปเคลียร์พื้นที่และช่วยเหลือนักศึกษาให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย เฟซบุ๊ก "Songwit Noonpackdee" ของ “ผู้การอ๊อบ” พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ร. 11 รอ. ที่นำทหารเข้าไปช่วยนักศึกษา จึงได้โพสต์ข้อความ ดังนี้

"ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมครับ อยากจะเรียนว่าผมได้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ., มทภ.1, ผบ.พล. 1 รอ. ให้ไปปฏิบัติภารกิจในการนำศึกษาและบุคลากรที่อยู่ใน ม.รามคำแหง ออกมายังพื้นที่ปลอดภัย เป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติที่เรียกว่า NEO Non Combatant Evacuation Operation กำลังจัดจาก ร.11 พัน 1 รอ. โดยมีผู้บังคับกองพันไปด้วยคือ พันโทศักดิ์ศิริ แข็งแรง (คนที่เดินข้าง ๆ ผม ผู้นำการปฏิบัตินี้) นอกจากนั้นยังมี สห. จาก มทบ.11

“เราได้ความกรุณาสนับสนุนการปฏิบัติจากท่านอธิการบดี กรุงเทพมหานคร ตำรวจ (ท่านพลตำรวจเอก วรพงษ์ ชิวปรีชา) และพี่น้องนักศึกษารามคำแหง เราจบการปฏิบัติที่วัดพระราม 9 ผมได้กราบท่านปิยโสภณด้วยความเคารพและเมตตาที่ท่านมีแด่พวกเรา ขอให้ทุกท่านปรบมือให้กับน้อง ๆ พลทหารและนายสิบของ ร.11 พัน 1 รอ. ภายใต้การนำของผู้พันบอย เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตลอดไปครับ !"

ปฏิบัติการช่วยเหลือนักศึกษารามคำแหง ทำให้ทหารได้คะแนนไปเต็มๆ โดยไม่ต้องถือปืนออกมาให้ถูกก่นด่าเหมือนเมื่อครั้งเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 แต่อย่างใด ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังสั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 จัดชุดทหารเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก เข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาโดยรอบพื้นที่การชุมนุม พร้อมเปิดให้ทุกค่ายทหารในพื้นที่ใกล้เคียงจุดชุมนุมเปิดรับผู้บาดเจ็บเข้ามารักษาภายในพื้นที่ของหน่วยทหารได้ตลอดเวลา

แต่ที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ และหนุนส่งให้ทหารสายบูรพาพยัคฆ์กระชับอำนาจให้มั่นคงยิ่งขึ้น ก็คือ การประสานการเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มี “พี่ใหญ่” บิ๊กบราเธอร์แห่งบูรพาพยัคฆ์ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. มาออกแรงช่วย พล.อ.ประยุทธ์ น้องรัก ให้หยุดยั้งสถานการณ์ที่ส่อเค้าจะลุกลามบานปลายออกไป การต่อสายเพื่อเจรจากันระหว่างผู้นำฝ่ายรัฐบาล-แกนนำผู้ชุมนุม โดยตั้งโต๊ะเจรจากันที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) มีนายทหารใหญ่จาก 3 กองทัพ พร้อมด้วยพล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประวิตร ร่วมด้วย คล้ายๆ การทำรัฐประหารเงียบ ที่ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะหรือหาทางออกจากวิกฤตได้แต่ก็สามารถพักรบสงบศึกก่อนวันพ่อลงได้โดยทุกฝ่ายพอใจ

อย่าง ไรก็ตาม การแสดงบทบาทของทหารที่เข้าช่วยเหลือนักศึกษารามคำแหง และประชาชนผู้ชุมนุม บวกกับการถ่ายทอดผลการเจรจาที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แปลความหมายที่นายทหารใหญ่แห่งกองทัพบก ย้ำว่า ทหารอยู่ข้างประเทศไทย ได้สร้างความหวังให้กับนายสุเทพและผู้ชุมนุมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไม่น้อย

“ทหารได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ยืนอยู่ข้างประเทศไทย แต่กลับมีคนไม่เข้าใจนัยนี้ ตนจะแปลความให้ฟังคือ ที่ทหารประกาศว่ายืนข้างประเทศไทยนั้น คนที่นั่งต่อหน้าเขามี 2 คน คนหนึ่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นรัฐบาลโมฆะ หมดความชอบธรรมแล้ว แต่ยังอ้างมีอำนาจอยู่ อีกคนคือตน ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจประชาชน ความจริงตามตัวบทกฎหมาย ทหารเขาก็ควรยืนยันว่า เขาอยู่ข้างรัฐบาล แต่เขาไม่พูดอย่างนั้น เขาบอกอยู่ข้างประเทศไทย หมายความว่าเขาไม่เอากับยิ่งลักษณ์แล้ว ส่วนที่เขาไม่ประกาศอยู่ข้างตน ตนไม่ติดใจ แค่เขาบอกอยู่ข้างประเทศไทยก็ชื่นใจแล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไรต่อไป ทหารไม่มีวันหันปากกระบอกปืนมาหาประชาชนอย่างเด็ดขาด การต่อสู้ครั้งนี้เราไม่ต้องกลัวว่าทหารจะเป็นเครื่องมือรัฐบาล ตนกล้าเอาหัวประกันว่า ทหารไม่มีวันมาปราบประชาชนให้ยิ่งลักษณ์แน่นอน แต่ที่ยิ่งลักษณ์ยังดื้อรั้นอยู่ได้ เพราะมีตำรวจเลวๆ บางคน และเป็นตำรวจที่ร่วมมือกับเสื้อแดง เสื้อดำ ฆ่านักศึกษารามฯ เป็นตำรวจพวกนี้ที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่เราทุกวัน” นายสุเทพ ปราศรัยอธิบายความต่อมวลชนที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

ฝ่ายทหารที่ทำแต้มมาโดยตลอดช่วงเวลาการชุมนุม ยังส่งพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงท่าทีของกองทัพหลังจากการเป็นตัวแทนเจรจาระหว่างนายสุเทพ กับนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยเน้นย้ำยึดสันติ 7 ข้อ ดังนี้

1.ผบ.ทบ. ผบ.สูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ ได้พยายามร่วมกันกับทุกฝ่าย หาทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี

2.ทหารทุกเหล่าทัพทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความระมัดระวังและห่วงใย ไม่ต้องการให้เกิดเหตุปะทะกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเหมือนในอดีต

3.การช่วยเหลือ ปชช. กรณีการได้รับบาดเจ็บของพี่น้องประชาชน ทุกเหล่าทัพพร้อมดูแลโดยเฉพาะ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และอำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยปลอดภัย

4.ขอให้สังคมได้เข้าใจบทบาทของกองทัพที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและกรอบกำหนดตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและเหมาะสม

5.ทบ.อยากให้สถานการณ์คลี่คลาย ปราศจากผู้บาดเจ็บและสูญเสีย โดยเป็นที่พอใจของทุกพวกทุกฝ่ายโดยเร็วที่สุด

6.สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงและความเกลียดชังด้วยเหตุใดก็ตาม อาจจะพัฒนาไปสู่ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

7.สำหรับ จนท.ทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่ รปภ. สถานที่ราชการโดยได้รับมอบหมายจาก ศอ.รส. ผบ.ทบ.ได้เน้นย้ำไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง

เรียกว่าเลือกจังหวะกระชับอำนาจ ขี่กระแสมวลชน โหนรัฐบาล ปักธงในการเข้ามามีบทบาทสร้างราคาในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองอย่างเหนือชั้น

ไม่ว่าคุณจะเรียกหาทหารหรือไม่ เมื่อถึงเวลาพวกเขาย่อมมา และน่าจับตาว่าหลังวันที่ 5 ธันวาฯ ขั้วอำนาจสามก๊ก จะพลิกผันและการปฏิรูปประเทศไทย โดยสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน ที่กปปส.ชูธงนำจะสำเร็จหรือไม่ และจะใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหน ??

ล้อมกรอบ

สรุปเหตุการณ์ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่ปะทะการชุมนุม
ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. - 3ธ.ค.2556

-เหตุปะทะที่ม.รามคำแหง วันที่ 30 พ.ย. 56
บาดเจ็บ 64 ราย เสียชีวิต 4 ราย เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 24 ราย
มีอาการสาหัส 2ราย ถูกยิงเข้าที่บริเวณขา ถูกกระแทกจนกระดูกแขนแตก 1 ราย และมีบาดแผลที่ศีรษะ 1 ราย

-เหตุปะทะที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 ธ.ค. 56
บาดเจ็บ 59 ราย เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 ราย

-เหตุปะทะที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 ธ.ค. 56
บาดเจ็บ 139 ราย เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 9 ราย
มีอาการสาหัส 3ราย แบ่งเป็น ถูกยิงที่ท้องด้วยกระสุนยาง 1 ราย ถูกยิงที่หน้าอกด้วยกระสุนจริง 1 ราย พิสูจน์ลักษณะบาดแผลเป็นกระสุนขนาด 9มม.และถูกยิงที่ขาขวาด้วยกระสุนจริง 1 ราย วิถีกระสุนกระแทกกระดูกจนแตกละเอียด

-เหตุประทะที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 ธ.ค.
บาดเจ็บ 15 ราย เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 ราย

ส่วนผู้ที่โดนผลกระทบจากแก๊สน้ำตา มีจำนวน 56 ราย และนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3ราย มีอาการสาหัสหลอดลมตีบ และเกิดอาการระคายเคือง

รวมสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะการชุมนุม บาดเจ็บ 277 ราย เสียชีวิต 4ราย เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 37 ราย



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

กำลังโหลดความคิดเห็น