xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ต้านนิรโทษฯ ยกเข่ง = ไล่เนรเทศยกโคตร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- วันนี้คงต้องยอมรับว่า นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พ่ายแพ้ต่อพลังของประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมที่สำแดงตัวตนต่อต้าน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” อย่างหมอบราบคาบแก้ว จนต้องออกปากสั่งการให้ “วุฒิสมาชิก” สายขี้ข้าลงมติไม่รับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ชนิดไม่มีทางเลือก

แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะยังคงกระบิดกระบวนบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร้ยางอาย และปราศจากสำนึกรับผิดชอบในความเลวร้ายที่พรรคเพื่อไทยและสิ่งที่ผู้เป็นพี่ชายเป็นผู้ก่อขึ้นก็ตาม

คำถามสำคัญจึงมาหยุดลงตรงที่ว่า นี่คือชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์หรือนี่คือชัยชนะของภาคประชาชน

คำถามสำคัญจึงมาหยุดลงตรงที่ว่า ประชาชนต้องการเพียงแค่การต่อต้านการนิรโทษกรรมยกเข่ง หรือไปไกลถึงขนาด “เนรเทศยกโคตร”



แน่นอน สำหรับภาคประชาชนย่อมไม่มีข้อสงสัย เพราะปฏิบัติการลุกฮือโดยพร้อมเพรียงกันในทุกองคาพยพและในทุกรูปแบบคือคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว

จุดยืนของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) 14 สถาบัน การเดินขบวนของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ราชสกุล พลังอันน่าตื่นตระหนกของผู้คนที่สีลม ตลอดรวมถึงองค์กรวิชาชีพ ภาคธุรกิจ ห้างร้าน ประชาชน ดารานักร้องนักแสดงที่พร้อมใจกันต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ได้ทำให้ระบอบทักษิณถอยร่นไม่เป็นกระบวน

และไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย หากแต่รวมถึงคนไทยในต่างประเทศอีกด้วย

ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ภาคประชาชนไม่ได้ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้แบบครึ่งๆ กลางๆ หรือแบบ “กลางซอย” หากแต่มีเป้าหมายสูงสุดถึงขั้น “สุดซอย” คือต้องการให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกด้วย เพราะพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ได้มีความหมายแค่ความขัดแย้งทางการเมือง หากแต่คือการพังทลายของระบบนิติธรรม ศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทยทั้งระบบ

ดังเช่นที่ “สุหฤท สยามวาลา” อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวเอาไว้ว่า “พ.ร.บ.ที่ออกมามันทำลายทุกอย่างของประเทศไทย บ้านเมืองจะอยู่แบบไหน กฎคืออะไร ผมจะสอนลูกผมว่าอะไร ผมเคยไม่เคยข้างมาตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยลงผู้ว่าฯ กทม. ไม่เลือกข้าง ผมทำในสิ่งที่ผมเชื่อ สลัดความกลัว แต่วันนี้ผมเลือกข้างแล้ว วันนี้ผมขอเลือกข้างหน้า เราทุกคนที่นี่ต้องเลือกข้างหน้า มันคือหัวใจเรา มันคือหัวใจเรา มันคือลูกหลานเรา คุณจะมีลูกโตที่นี่ นี่มันประเทศไทย ประเทศของเราโว้ย มันประเทศของพวกเรา ที่เราจ้างให้ไปบริหาร อย่าทำกับพวกเราไร้ค่าเช่นนี้ ผมไม่ต้องการจะล้มรัฐบาล ผมไม่ต้องการเห็นกฎหมายในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาในประเทศไทยอีก แต่ถ้ารัฐบาลจะล้มเพราะกฎหมายฉบับนี้ก็อย่าโทษผู้ประท้วง ให้โทษคนที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผมแทบไม่เชื่อสายตาว่านี่หรือคือสิ่งที่เขาผ่านออกมาจากสภาตอนตี 4 ขณะที่พวกเรากำลังหลับอย่างสุขสบายในประเทศไทย ทันใดนั้นรุ่งเช้าทุกอย่างลุกเป็นไฟ ทำทำไม บ้าที่สุด หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้จะทำให้คนไทยทุกคนหมดความภูมิใจในการเป็นคนไทยไปในทันที”

วลีที่วันนี้กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองก็คือ “ไม่เอานิรโทษฯ ยกเข่ง แต่เอาเนรเทศยกโคตร”

วันนี้ ประชาชนได้ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนแล้วว่า “การต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นั้น มีความหมายเท่ากับ “การปฏิเสธรัฐบาลยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณ”

แต่สำหรับ “พรรคประชาธิปัตย์” แล้ว คำตอบมีทั้งใช่ และไม่ใช่

เหตุที่ใช่ก็เพราะต้องยอมรับว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจนำการชุมนุมหลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทยลักหลับผ่านกฎหมายตอนตีสี่ด้วยการตั้งเวทีที่ “สถานีรถไฟสามเสน” ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมของภาคประชาชนที่ทรงพลังยิ่ง

ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปรวมตัวกันที่สถานีสามเสน เพราะหวังว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยสรรพกำลังจะสามารถหยุดกฎหมายที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยได้

กระนั้นก็ดี สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พึงสำเหนียกเอาไว้ก็คือ ประชาชนไม่ได้ออกมาเพราะพรรคประชาธิปัตย์ แต่ออกมาเพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมของรัฐบาล ออกมาเพราะพวกเขาเห็นแล้วว่า ระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตยที่นักโทษชายทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เป็นเครื่องมือในการก้าวสู่อำนาจนำมาซึ่งความพินาศฉิบหายให้บ้านเกิดเมืองนอนของเขา

และฟางเส้นสุดท้ายที่สามารถทำให้ประชาชนก้าวข้ามเส้นแบ่งแห่งความกลัวระบอบทักษิณที่กลืนกินประเทศไทยมาหลายปีผ่านคนเสื้อแดงและรัฐตำรวจก็คือการยกมือผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยตอนตีสี่ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล

ประชาชนต้องการสั่งสอนนักโทษชายทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า แม้รัฐบาลจะได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลด้วยความชอบธรรม แต่ก็มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะใช้ระบบพวกมากลากไปกระทำริยำตำบอนต่อชาติบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องได้ตามอำเภอใจ

ยิ่งเมื่อย้อนหลังดูประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็นชัยชนะของประชาชน

นักโทษชายหนีคดีทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ยอมถอยเพราะพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ย่อมถอยเพราะพลังของภาคประชาชน ซึ่งถ้าหากยังคงดันทุรังต่อไป ความพินาศฉิบหายจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลอย่างมิอาจประเมินค่าได้

แน่นอนส่วนหนึ่งของชัยชนะที่เกิดขึ้นย่อมมิอาจปฏิเสธได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญไม่น้อย แต่ความสำเร็จดังกล่าวจะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มีประชาชน และประชาชนไม่ได้กดดันจนพรรคจนกระทั่งไม่สามารถย้อนกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนที่เคยกระทำในอดีตคือ “ชักเข้าชักออก” และ “แทงกั๊ก” อีกต่อไป แม้โดยเนื้อแท้แล้วพรรคประชาธิปัตย์อยากจะทำเช่นนั้นใจจะขาดเพราะติดอยู่ในกมลสันดานจนยากจะแก้ไข

กล่าวคือ นับตั้งแต่ “พรรคประชาธิปัตย์” ประกาศต่อต้านการออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” จนนำไปสู่การตั้งเวทีที่ “ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์” เมื่อเดือนสิงหาคม ก่อนจะตั้งทัพอีกครั้งที่ “สถานีรถไฟสามเสน” และมาหยุดขบวนบนถนนราชดำเนินที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” พรรคประชาธิปัตย์ได้ถูกพลังของมวลมหาประชาชนเป็นผู้กำหนดเส้นทางเดินให้มาโดยตลอด

ความคับแค้นใจของมวลมหาประชาชนที่สุดทนกับการ“ลุแก่อำนาจ” ที่นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรหักดิบสั่ง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”(ส.ส.)ขี้ข้าผ่าน “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย” ตอนตีสามเกือบจะตีสี่ ชนิดที่เรียกว่าลักหลับประชาชนเจ้าของประเทศอย่างหน้าด้านๆ ได้ เพื่อล้างผิดให้กับตัวเองที่คิดคดทรยศต่อบ้านเมือง และการเผาบ้านเผาเมืองของคนเสื้อแดง ได้นำพาให้พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยพรรคนี้ต้องยกระดับการชุมนุมให้สุดซอย

ไม่ใช่แค่นำมวลชนจากอุรุพงษ์เดินมาส่ง ส.ส.ของพรรคที่รัฐสภาแล้วบอกให้แยกย้ายกลับไปเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จนผ่านวาระ 1 ไปอย่างง่ายดาย จนกลายเป็นวาทกรรมที่ดังกระฉ่อนไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า “กูว่าแล้ว” พร้อมทั้งสะท้อนภาพความเป็น “ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน” ของพรรคๆ นี้ออกมาอย่างหมดเปลือก

เหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นหรืออาจจะใช้คำว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคประชาชนเลยก็ว่าได้ เพราะทำให้พวกเขารู้แจ้งเห็นจริงในใจว่า นักการเมืองและระบบรัฐสภาที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถฝากความหวังเอาไว้ได้อีกต่อไป

ส.ส.ฟากรัฐบาลก็พร้อมจะรับใช้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็ “ดีแต่พูด” แทนที่จะประกาศลาออกทั้งพรรคเพื่อแสดงให้เห็นว่า รับไม่ได้กับกฎหมายนิรโทษกรรม กลับเลือกวิธีการคัดค้านที่ก่อให้เกิดภาพลบต่อรัฐสภาไทยด้วยการใช้แท็กติกสารพัดสารพัด ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ว่าจะยื้อหรือเล่นเกมในสภาอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะระบบเสียงข้างมากลากไปและ สุดท้ายกฎหมายนิรโทษกรรมก็ผ่านสภาวาระ 1 ไปได้อย่างสบายใจเฉิบ

และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ต้องยอมรับว่า การสู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าแพ้ได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางรัฐสภา กลายเป็นส่วนหนึ่งของตรายางที่ประทับความชอบธรรมให้กับกฎหมายฉบับนี้ไปโดยปริยาย

ในครั้งนั้น “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ผู้มากบารมีตัวจริงให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “เราจำเป็นต้องสู้ในสภา เรามีน้อยอยู่แล้ว ถ้าลาออกมาก็จบ เขาพิจารณา 3 วาระรวดได้เลย และโดยข้อเท็จจริงในสภายังมีเรื่องอีกหลายเรื่องที่ต้องต่อสู้กัน เช่น กฎหมายกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรเราก็ค่อยๆ ปรึกษากันไป ยังไม่แตกหักกับฝ่ายใดทั้งสิ้น”

ไม่เพียงแค่นายสุเทพ เทือกสุบรรณเท่านั้น หากแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดรวมถึง ส.ส.ของพรรคนี้ก็เลือกเส้นทางนี้เช่นกัน

และผลพวงจากการเล่นเกมการเมืองแบบแทงกั๊กไม่สุดซอยของพรรคประชาธิปัตย์นี้นี่เอง ได้ทำให้รัฐบาล และโดยเฉพาะนักโทษชายหนีคดีทักษิณย่ามใจอย่างถึงขีดสุดว่า ระบบพวกมากลากไปในรัฐสภาจะดลบันดาลทุกความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้แม้จะทำเรื่องที่ผิดธรรมาภิบาลสักเพียงใด ซึ่งนั่นเป็นที่มาให้ “หัวเขียง-ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์” รับบัญชาจากนายใหญ่ให้เล่นแร่แปรธาตุกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับวรชัย เหมะให้กลายเป็น “ฉบับสุดซอย” จากนั้นก็นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ ส.ส.ขี้ข้าก็ลักหลับคนไทยทั้งประเทศด้วยการยกมือสนับสนุนในช่วงตีสามต่อตีสี่ของวันเดียวกัน

ชัยชนะแบบม้วนเดียวจบของพรรคเพื่อไทยทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้า ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรคและไม่ได้เรียกระดมมวลชนมาเพื่อให้แค่ส่ง ส.ส.เพื่อร่วมประชุมพิจารณากฎหมายในวาระที่ 1 พรรคเพื่อไทยและนักโทษชายทักษิณคงไม่เหิมเกริมถึงขนาดนั้น

นอกจากนี้ ในช่วงของการก่อกำเนิดม็อบอุรุพงษ์นำโดย “อุทัย ยอดมณี” และ “ทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ” พรรคประชาธิปัตย์มีความพยายามที่จะเข้าไปแทรกแซง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะม็อบอุรุพงษ์ประกาศเสียงดังฟังชัดว่านี่คือเวทีของประชาชน ไม่ใช่เวทีของพรรคการเมือง และไม่ยอมให้พรรคการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง

และนั่นได้แปรสภาพเป็นแรงกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์จำต้องกระโดดออกมาเล่น “การเมืองข้างถนน” ที่ตัวเองเคยรังเกียจด้วยการประกาศตั้งเวทีที่ “สถานีรถไฟสามเสน” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพราะถ้าไม่มาความศรัทธาที่มีพรรคก็จะสูญสิ้น และนั่นหมายถึงจุดจบทางการเมืองของพรรคด้วย

แต่การเป่านกหวีดของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังแทงกั๊กอย่างกล้าๆ กลัวๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา การให้รองหัวหน้าพรรคทั้ง 4 คนไม่ว่าจะเป็นนายกรณ์ จาติกวณิช นายถาวร เสนเนียม นายอิสระ สมชัยและนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ก็เป็นเพียงแค่เพื่อป้องกันไม่ให้การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกหยิบมาเป็นประเด็นยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หาใช่เป็นการสร้างแรงกดดันทางการเมืองใดๆ ให้แก่รัฐบาล

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดมาในฉับพลันทันทีก็คือ การสู้แบบกลางซอยของพรรคประชาธิปัตย์มิได้มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง หากแต่สู้เพื่อหวังเปลี่ยนขั้วการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเมื่อครั้งที่กระทำสำเร็จจนได้รับฉายาว่า “รัฐบาลเทพประทาน”

ข่าววงในกระเส็นกระสายเล็ดลอดออกมาว่า หลังจากตั้งเวทีที่สถานีรถไฟสามเสน พรรคประชาธิปัตย์ควักเงินจ้างเครื่องเสียงประจำเวทีเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเวทีแบบเสียไม่ได้ใช่หรือไม่

แถมเวทีสถานีสามเสนในช่วงแรกๆ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนยังหน้าไม่อายฉวยโอกาสใช้เป็นเวทีหาเสียงอีกต่างหาก จนนายอภิสิทธิ์ถึงกับต้องออกปากปรามว่า “ใครที่ใช้เวทีนี้มาหาเสียงให้ตัวเอง หาเสียงให้พรรค ให้กับไปอยู่ที่พรรค อย่ามาที่เวทีแห่งนี้ และหาพี่น้องคนไหนเห็นพฤติกรรมแบบนี้ให้มาบอก”

ทว่า คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต เพราะพลังของประชาชนที่แห่แหนกันออกมาทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นที่สถานีสามเสนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สีลม ที่อุรุพงษ์ ที่สวนลุมพินี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหิดล นิด้า ศิลปากร ฯลฯ โดยเฉพาะที่สถานีสามเสนฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์เองนั้นดำเนินไปอย่างเชี่ยวกราก และต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ยกระดับการชุมนุม

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์จึงจำต้องเปิดฉากปฏิบัติการครั้งใหม่ด้วยการเคลื่อนขบวนออกจากสถานีสามเสนมุ่งหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 และสุดท้ายปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

การเคลื่อนขบวนของพรรคประชาธิปัตย์ออกจากสามเสนและจบลงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็มีเรื่องเล่าระหว่างทางถึงการละล้าละลังของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

ครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์มิได้ตั้งใจที่จะย้ายเวทีจากสามเสนมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หากเพียงแต่หวังจะเดินขบวนเพื่อสำแดงพลังให้รัฐบาลเห็นเท่านั้น แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่ระดับนำของพรรควางแผนเอาไว้ โดยจุดพลิกผันสำคัญก็คือ จำนวนคนที่เคลื่อนขบวนมาสมทบกับม็อบสถานีสามเสนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

และนั่นเป็นที่มาของการ “ถกเครียด” ของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

เพราะฝ่ายหนึ่งตั้งเป้าว่าจะทำเหมือนเดิมคือเดินกลับไปที่สถานีสามเสน

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอม เพราะเห็นว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังนำม็อบแบบลับๆ ล่อๆ พามาเดินและย้อนกลับไปที่สถานีสามเสนอีก ความหายนะก็จะมาเยือน

สุดท้ายแรงกดดันของประชาชนที่ถาโถมเข้าใส่จนหายใจหายคอไม่ฟัง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์จำต้องกัดฟันยึดราชดำเนินเป็นเวทีแทนสถานีรถไฟสามเสน

และสุเทพ เทือกสุบรรณคงตกใจเมื่อถามมวลมหาประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าจะเดินหน้าต่อไปและได้รับคำตอบที่พร้อมเพรียงกันว่า “ออกไป ออกไป”

ดังนั้น คงจะไม่เกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า นี่คือชัยชนะของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่า สิ่งที่ระบอบทักษิณทำกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองนั้น สุดที่จะอดทนหรือนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

ดังเช่นที่ “ศ.สุรพล นิติไกรพจน์” อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจกแจงเอาไว้ว่า “กฎหมายฉบับนี้ละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทำลายหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย ให้เสียงข้างมากทำลายล้างคำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและศาลอื่น ๆ อีกทั้งยังลบล้างผลของการกระทำผิดทั้งหลายทั้งปวง การเขียนกฎหมายเช่นนี้โดยสภาฯ คือการทำรัฐประหารโดยสภาฯ เป็นการยึดอำนาจในรัฐธรรมนูญโดยคน 310 คนในสภาฯเท่านั้น ถ้าคราวนี้เสียงข้างมากในสภาฯ ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จจะเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทยใหม่ หรือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกของประเทศใหม่ที่มีทักษิณเป็นประมุข และมีข้าราชบริวารในสภาฯคอยรับใช้ ดังนั้นคนที่เป็นนักกฎหมายต้องพิจารณาให้ถ่องแท้

“ที่น่ากังวลที่สุดคือความเข้าใจผิด หรือความตั้งใจที่จะทรยศต่อกระบวนการ นิติบัญญัติเป็นไปโดยการรับรู้ของประธานสภาทั้ง 2 สภา ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องปกป้อง ผมจึงไม่แน่ใจว่าถ้าไม่ใช่ประธานทั้ง 2 มีความรู้น้อยหรือไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีคำอธิบายอื่น จึงไม่สามารถให้ความเคารพและให้ทำหน้าที่อีกต่อไปได้ เพราะคงไม่มีคำอธิบายอื่นนอกจากทฤษฎีสัมพันธ์ของนายทาสกับข้าทาสในกระบวนการปกครองของประเทศ”

วันนี้ ประชาชนได้ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนแล้วว่า “การต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นั้น มีความหมายเท่ากับ “การปฏิเสธรัฐบาลยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณ”

เพราะไม่ว่าระบอบทักษิณจะส่งสัญญาณถอยสุดซอยสักกี่ครั้งกี่ครา ทั้งการแถลงข่าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตามต่อด้วยการที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า วุฒิสภาจะตีตกร่างกฎหมายฯ นิรโทษยกเข่ง สภาผู้แทนมีมติถอน พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 6 ฉบับออกจากวาระและปิดท้ายด้วยการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องประกาศย้ำเป็นครั้งที่ 2 ว่า ถอนจริงๆ ไม่มีดัดจริตเสแสร้ง การชุมนุมของประชาชนทั่วทุกสารทิศก็ยังไม่สิ้นสุด แถมยังเพิ่มปริมาณและยกระดับความเข้มข้นขึ้นในทุกมิติ เนื่องจากประชาชนได้รู้ซึ้งถึงความเลวร้ายของระบอบทักษิณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หรือเป็นไปตามวลีที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองก็คือ “ไม่เอานิรโทษฯ ยกเข่ง แต่เอาเนรเทศยกโคตร”

นี่คือความยิ่งใหญ่แห่งพลังประชาชน

วันนี้ ทุกคนคือ HERO ของประเทศชาติอย่างแท้จริง







กำลังโหลดความคิดเห็น