xs
xsm
sm
md
lg

10 ปรากฏการณ์จากมวลมหาประชาชน...ก้าวแห่งการปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากการต่อสู้ทางการเมืองที่กินเวลายาวนาน มวลมหาประชาชนที่รวมตัวจากการคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สู่การทวงคืนอำนาจรัฐ มุ่งสู่หนทางปฏิรูปประเทศ การต่อสู้อันยาวนานกำลังจะเข้าสู่ช่วงบทสรุปสุดท้าย

ปัญหาความขัดแย้งอันยาวนาน! การคอร์รัปชันที่ฝังราก! ระบอบทักษิณที่ยังคงอยู่! จะคลี่คลายไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ก็ถือเป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดภาพแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมากมาย เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัย และต่อไปนี้คือ 10 ปรากฏการณ์จากมวลมหาประชาชนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน!!!

1. ปรากฎการณ์ไทยหลากหลาย

หลังจากการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้แสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ในสังคมประชาธิปไตยแน่นอนว่าย่อมมีผู้ที่เห็นต่าง และเลือกจะแสดงจุดยืนที่แตกต่างกันไป ในความหลากหลายของการแสดงจุดยืนเหล่านั้นเองที่ก่อให้เกิดนิยามของคนแต่ละกลุ่มขึ้นมา

ตั้งแต่ 'ไทยเฉย' ที่ใช้เรียกกลุ่มคนไทยที่ไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองใดๆ อาจรับรู้หรือไม่รับรู้เหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้น มีวิธีการแสดงออกโดยการนิ่งเฉยต่อทุกเหตุการณ์ 'ไทยสู้' ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่ไทยเฉยเริ่มแสดงจุดยืนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

จนต่อมาก็ปรากฏ 'ไทยอดทน' ที่นิยามผู้ไม่แสดงออกด้วยการชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ หากแต่จำต้องอดทนทำตามระบบต่อไป ต่อไป 'ไทยงง' ก็เกิดหลังจากการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบุกยึดทำเนียบ แต่ในวันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับปล่อยผู้ชุมนุมเข้ายึดทำเนียบได้โดยง่าย จนผู้ชุมนุมเกิดอาการงงไปตามๆกัน ล่าสุดกับ 'ไทยก้าว' ที่ถึงวันนี้เปลี่ยนจากไทยสู้มาเป็นการก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

2.นกหวีดกลายเป็นอาวุธ

สิ่งสำคัญในการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่งคือสัญลักษณ์ “นกหวีด” ถูกหยิบขึ้นมาใช้แทนการเป้านกหวีดเพื่อเริ่มต้นการชุมนุม ขณะที่อีกมุมก็แทนการขัดไล่รัฐบาลด้วย

และนกหวีดนี้เองที่มีพลังถึงขั้นทำให้ ธาริต เพ็งดิษฐ์อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ออกโรงขู่จับผู้ใดก็ตามที่เป่านกหวีดใส่ผู้อื่นโดยบอกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการปลุกระดม ยุยงให้คนในชาติเกลียดชังจนอาจนำไปสู่การใช้กำลัง

แต่เสียงนกหวีดก็ยังคงดังกึกก้องเพื่อหาทางออกให้แก่การเมืองไทยที่ยังอยู่ในช่วงวิกฤต จนถึงตอนนี้หากเดินไปตามท้องถนนคงไม่มีใครไม่เห็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องความยุติธรรมที่ส่งเสียงแสบหู แต่ก็ปลุกให้ใครหลายคนลุกขึ้นสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเลวร้ายที่กำลังดำรงอยู่

3.ดาราแห่ร่วมม็อบ

กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกนี้สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมาคือการที่ดาราหลายคนหันมาแสดงจุดยืนทางการเมือง หลังจากประเด็นการเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ดาราหลายคนเลือกที่จะไม่พูดถึง

เริ่มจาก หมอก้อง - สรวิชญ์ที่ออกตัวร่วมแสดงจุดยืนตั้งแต่แรกเริ่มของการชุมนุม จากนั้นทัพดาราต่างตบเท้าขึ้นเวทีไม่ว่าจะเป็นดาราสาวสุดแรงอย่างแตงโม - ภัทรธิดาที่ควงแฟนหนุ่มโตโน่ - ภาคินมาร่วมชุมนุม ยังมีดาราขาโหดอย่างเต๋า - สมชายกระทั่งนักร้องบอยแบนด์อย่างหยวน ดราก้อนไฟว์ และนักร้องรุ่นใหญ่อย่างเจ - เจตริน รวมไปถึงขาประจำอย่างอ็อฟ - พงศ์พัฒน์ วชิรบรรจง, นก - สินใจและนก - ฉัตรชัย เปล่งพานิช

คนดังอีกคนที่กล้าแสดงความคิดเห็นและร่วมกันต้านรัฐบาลเห็นจะเป็นเป็ด - อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์เมคอัพอาร์ตติสชื่อดังที่ขยันใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กออกมาสับรัฐบาลเป็นประจำ

“พี่ไม่ไช่คนเก่งกล้าสามารถอะไร เพียงแต่เห็นว่ารัฐบาลผิดก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ว่า ความถูกต้องต้องมี เมื่อคืนพี่ยังพูดกับเพื่อนว่าทนไม่ได้ที่มีนักการเมืองมาโกงกิน อยากได้นักการเมืองที่มารับใช้บ้านเมืองอย่างใสสะอาด เพื่อนพี่บอกว่าไม่เป็นไรหรอก ถ้าเขาจะโกงนิดโกงหน่อยบ้าง พี่เลยบอกว่าหยุดความคิดของเธอเดี๋ยวนี้นะ เรายอมไม่ได้ เพราะประเทศไทยเรายอมแบบนี้มันถึงได้เจ๊งอย่างนี้ไง เปรียบเทียบว่าเหมือนประเทศไทยเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบแต่งตัว ชอบใช้เงินแต่ไม่มีวิธีหาเงิน ต้องไปกู้เงินคนอื่น ถึงเวลาไม่มีเงินใช้หนี้ ก็ต้องถูกฟ้องล่มละลาย ดังนั้นถ้าประเทศไทยเป็นแบบนี้คือไปกู้เงินต่างประเทศจนกลายเป็นหนี้ ต้องถูก IMF ตามทวงเงินหรือมาทำอะไรกับประเทศไทยก็ได้ ประเทศเราจะไม่ล่มจมเหรอ ฟังอย่างนี้ เพื่อนพี่ถึงเข้าใจ ดังนั้นอยากให้ทุกคนเข้าใจอย่างนี้ด้วย พี่อยากเห็นผู้นำที่เสียสละและทำเพื่อประชาชนจริงๆ อยากเห็นประเทศเข้ารูปเข้ารอย เพราะประเทศบอบช้ำมาเยอะแล้ว”

4.ยุทธศาสตร์อารยะปฏิรูป

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้คือยุทธศาสตร์ในการทวงคืนอำนาจรัฐที่ใช้วิธีสันติ อารยะ อหิงสา ด้วยยุทธศาสตร์ดาวกระจายที่พุ่งเป้าการชุมนุมไปที่หน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการ และกระทรวงมหาดไทย โดยการเข้ายึดพื้นที่ของผู้ชุมนุมก็เป็นไปด้วยวิธีสันติ อารยะ อหิงสา ทั้งการใช้สัญลักษณ์ในการเป่านกหวีด และการนำดอกไม้ไปให้เพื่อพูดคุยและชักชวนมาเป็นแนวร่วมต่อสู้ทางการเมือง

นำมาซึ่งภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อเหล่าราชการที่ทำงานให้รัฐบาลกลับตัดสินใจร่วมกับผู้ชุมนุม รับดอกไม้พร้อมเป่านกหวีดต่อต้านรัฐบาลเสียเอง ทำให้การบุกยึดหน่วยงานราชการเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีการใช้ความรุนแรง

5.อาชีวะร่วมปฏิรูป

ที่ผ่านมานักเรียนอาชีวะมักถูกมองในแง่ลบจากข่าวยกพวกตีกันอยู่บ่อยครั้ง ทว่าหลังจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นักศึกษาสถาบันอาชีวะจากทั่วประเทศจากกลุ่มอาชีวะ 14 สถาบันต่อมาขยายเป็น 46 สถาบัน จากความขัดแย้งหันมาจับมือกันเดินหน้าร่วมขบวนขับไล่ระบอบทักษิณ

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนอาชีวะสวมเสื้อชอปลุกขึ้นโบกธงชาติ พร้อมใจพักรบกับสถาบันคู่อริร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศ ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนอาชีวะหลายคนก็เป็นกลุ่มแนวหน้าในการเคลื่อนไหวปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย

“ต้องชี้แจงกันตลอดว่าสิ่งที่เราจะเผชิญมันไม่เหมือนกับการวิ่งตีกันของเด็กช่าง นี่ถ้าพลาดมวลชนจะเจ็บ เราก็ถึงขั้นติดคุก ต้องเอาคลิปมาเปิดให้น้องดูว่าแก๊สน้ำตามันเป็นอย่างไร มันสงคราม มันรุนแรง มันไม่ใช่วิ่งใส่กันเฉยๆ” วิศรุต ปิติดา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มพลังอาชีวะปกป้องชาติและราชบัลลังก์เผยถึงการร่วมชุมนุม “เมื่อก่อนผมเคยเป็นอริกับสถาบันอื่น พอเข้ากลุ่มนี้ก็เป็นเพื่อนกัน พวกเราจึงออกมาเรียกร้องความยุติธรรม เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้มันผิดกฎหมาย”

6.ฟรีทีวียิ่งเน่า

สิ่งที่น่าแปลกท่ามกลางวิกฤติการเมืองระลอกนี้คือ การนำเสนอข่าวของสื่อหลักอย่างฟรีทีวีที่ไม่มีการตามติดสถานการณ์การชุมนุมเท่าที่ควร ทั้งเนื้อหา ความเคลื่อนไหวจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่กระทบถึงทุกคนในประเทศ ฟรีทีวีกลับยังคงนำเสนอข่าวสารและความบันเทิงในรูปแบบอื่นโดยไม่จัดลำดับความสำคัญ จนเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “ฟรีทีวีตายแล้ว”

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมานั้นสื่อรองอย่างเคเบิลทีวีกลับทำหน้าที่เหล่านั้นแทนได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนตารางเวลาเกาะติดการชุมนุม เป็นทางเลือกในการบริโภคข่าวสารให้แก่ประชาชนที่ทดแทนฟรีทีวีได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่บกพร่องของสื่อนั้นถูกตั้งคำถามมาตลอด แต่ครั้งนี้ประชาชนกลับเลือกที่จะเดินหน้าถามถึงบทบาทสื่ออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเลือกที่จะเข้าพูดคุยเจรจาแก่สื่อฟรีทีวีให้มีการนำเสนอข่าวการชุมนุมมากขึ้นอย่างสันติอหิงสา

7.การตื่นตัวของนักศึกษา

กระบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมืองแทบจะหายไปหลังเหตุ 14 ตุลา หลายคนในสังคมมองถึงขั้นว่านักศึกษาในยุคนี้คงไม่มีความคิดเห็นและสนใจเรื่องการบ้านการเมืองอีกต่อไปแล้ว ยุคนี้นักศึกษาคงสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ทว่ากับความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ นักศึกษาเริ่มรวมตัวและกลับมาแสดงพลังอีกครั้ง

โดยความเคลื่อนไหวตั้งแต่การคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันต่างร่วมแสดงจุดยืน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศที่มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นกลุ่มหลักในการต่อสู้ครั้งนี้อีกด้วย

8.วีรบุรุษกางเกงใน

จากเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชุมนุมระหว่างการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ได้เกิดภาพหนุ่มใหญ่ใจถึงวิ่งเข้าปะทะเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมถือถังดับเพลิงทั้งที่ใส่กางเกงในเพียงตัวเดียว ภาพดังกล่าวถูกแชร์ส่งต่อชื่นชมและโด่งดังในโซเชียลมีเดียจนขนานนามเขาว่า “วีรบุรุษกางเกงใน”

โดยชื่อจริงของเขาคือ วีรชาติ เปรมกมล ทำงานเป็นพนักงานขับรถสังกัดกรมสรรพากร ใช้เวลาว่างในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเป็นเสื้อแดงกลับใจที่เคยชื่นชอบทักษิณ ชินวัตรจนเห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นและลงมือต่อสู้อยู่ในแนวหน้าของการชุมนุม

“อยากฝากบอกคนอื่นๆ ด้วยว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็ทำเถอะครับ ประเทศไทยเหมือนบ้านเราที่กำลังจะถูกคนอื่นยึดแล้วคุณจะมองดูคนอื่นเอาบ้านตัวเองไปขายเหรอ คุณจะแค่ยืนมองเฉยๆ เหรอ แต่ถ้าคุณอยากรักษาบ้านตัวเองไว้ คุณก็ต้องออกมาสู้ ผมมองว่ารัฐบาลไม่ดี ผมก็จะสู้ต่อไป แม้ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะ แต่ผมก็จะอยู่เคียงข้างประชาชนต่อไปครับ”

9.ส.ส.ลาออกยกพรรค

การต่อสู้นอกสภาที่ดุเดือดส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากระบบสภาที่มอบความสิ้นหวังให้แก่ประชาชน ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ระบบสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น การชุมนุมที่ยกระดับมากขึ้น นานวันก็ยิ่งจะส่งผลกระทบถึงการเมืองในสภา กลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การชุมนุมนอกสภาสามารถกดดันให้ ส.ส.ประกาศลาออกยกพรรคการเมืองได้สำเร็จ กลายเป็นชัยชนะอีกครั้งของพลังประชาชน

โดยผลการลาออกครั้งนี้ยิ่งส่งผลให้มวลชนมีพลังมากขึ้น เพราะหลังส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประกาศลาออก ปลุกให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำโดย สนธิ ลิ้มทองกุลลุกขึ้นร่วมขบวนการปฏิรูปประเทศทันที

“เราต้องแสดงน้ำใจให้เห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้อภัยได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ลืม” สนธิกล่าวนำการชุมนุมครั้งแรกในรอบหลายปี “ถ้าเขาทำงานเพื่อชาติแล้วจริงใจจริงเราให้อภัยได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่ได้สู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มึงเจอกูอีกแน่”

10.ล้านคนร่วมปฏิรูป!

หลังจากการชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมยกระดับสู่การโค่นล้มระบอบทักษิณ เกิดปรากฏการณ์ที่คนไทยออกมาแสดงพลังร่วมชุมนุมเกิดเป็น “มวลมหาประชาชน” ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาโดยมีการประมาณไว้ว่ามีผู้ร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนินเกินกว่า 1 ล้านคน!!!

จากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานผ่านการบุกยึดกระทรวงทวงคืนอำนาจรัฐ ท้ายที่สุดก็ถึงวันตัดสินแม้จะมีช่วงหยุดพักไปบ้าง แต่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เวลา 9.39น. ก็กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้เพื่อตัดสินชะตากรรมของประเทศอย่างแท้จริง เมื่อถนนแทบทุกสายทั่วในกรุงเทพฯ คลาคล่ำไปด้วยผู้ชุมนุมแสดงจุดยืนต่อสู้เพื่อโค้นล้มระบอบทักษิณ หลายโรงเรียน - มหาวิทยาลัยประกาศหยุดเรียนแสดงจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้

….

นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของจุดเปลี่ยนทางการเมืองในระดับประเทศ ทิศทางที่ประเทศกำลังก้าวต่อไปไม่ว่าจะเป็นหนทางแบบไหน ตอนนี้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการก้าวเดินครั้งนี้อย่างเกาะติดชนิดไม่คลาดสายตา บทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมาได้สั่งสมให้มวลชนครั้งนี้แข็งแกร่งพอ จนถึงตอนนี้ความหวังในการปฏิรูปประเทศที่แท้จริงไม่ใช่สิ่งเกินเลยจากความเป็นจริงอีกต่อไปแล้ว

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


โลโก้ ไทยอดทน

ดาราตบเท้าขึ้นเวที
วีรบุรุษกางเกงใน
นักศึกษาแสดงพลังอีกครั้ง
ส.ส.ลาออกยกพรรค
มวลมหาประชาชนเมื่อวันที่ 24 พ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น