เด็กรัฐศาสตร์โผล่เสนอทางออกประเทศ เน้นเจรจาโดยสาธารณะหาข้อตกลงร่วม และปฏิรูปโครงสร้างการเมืองแก้ไข รธน.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อนลงประชามติ ด้าน “พงศ์เทพ” ชี้ฉบับ 50 มีเงื่อนไขที่มานายกฯ ชัด ไล่ “สุเทพ” อ่านพระราชดำรัสปี 49 เผยไต๋เวทีทางออกประเทศสุดท้ายต้องถามเสียงส่วนใหญ่
วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. ตัวแทนเครือข่ายนักเรียนรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย จาก 14 สถาบัน เดินทางเข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอทางเลือก 2 ข้อ ให้นำไปสู่ทางออกของประเทศ คือ 1. ในระยะเฉพาะหน้า มีการเจรจาโดยเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันและยอมรับผลที่เป็นไปได้ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ 2. ในระยะยาว การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อการกระจายอำนาจให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ สามารถมีพื้นที่ในการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยจัดให้มีการลงประชามติภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้ง
นายพงศ์เทพกล่าวถึงการตั้งสภาประชาชนว่า หากทำตามรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องไว้มีความเป็นไปได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ หากจะต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาต้องไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนสภาประชาชนต้องดูว่าจะมีอำนาจหน้าที่อะไร อย่างไรก็ตาม เวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการแก้บทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 291 เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ดำเนินการได้ทันที แต่หากคิดว่าจะต้องมีกลไกในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องไปแก้หรือเพิ่มเติมมาตรา 291 ก่อน ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.อ้างว่านายกฯ ตามมาตรา 7 เคยมีหลัง 14 ตุลา 2516นั้น ตอนนั้นใช้ธรรมนูญการปกครองที่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ออกไว้เมื่อปี 2515 โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ธรรมนูญปกครองฉบับ 2515 ยังบังคับใช้อยู่ จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ถึงยกเลิกธรรมนูญการปกครองฉบับดังกล่าว และธรรมนูญการปกครองปี 2515 ไม่ได้กำหนดว่านายกฯต้องมีเงื่อนไขหรือมาจากอะไร เพียงแต่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำชื่อใครขึ้นทูลเกล้าฯ คนนั้นจะเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องมาตรา 7 ความจริงอยากจะให้ไปดูพระราชดำรัสเมื่อเดือน เม.ย. 2549 ว่าเป็นอย่างไร และรัฐธรรมนูญเขียนไว้โดยมีบทบัญญัติต่างๆในการรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้หลากหลาย ซึ่งมาตรา 7 จะใช้ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้คาดไว้ ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก
รองนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ สำหรับเวทีระดมนักวิชาการนั้นจะแตกต่างกับเวทีปฏิรูป เพราะเวทีนี้เป็นการหาทางออกให้ประเทศไทยเฉพาะหน้า เป็นการจำกัดเฉพาะประเด็นนี้ ซึ่งจะใช้เวลากระชับ โดยจะรวบรวมข้อเสนอที่รับฟังแล้วอย่างสมบูรณ์มานำเสนอสังคมให้วิพากษ์ จากนั้นสังคมจะเห็นว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง และคนส่วนใหญ่จะบอกได้ว่าทางไหนจะเป็นทางออกให้กับประเทศไทย เราไม่สามารถให้ทุกคนเห็นด้วยกับทางออกประเทศไทย แต่ถามว่าหากคนส่วนใหญ่เป็นทางออกที่ดี ประเทศไทยเราควรจะเดินไป หรือควรจะหยุดเฉยๆ ส่วนกรอบเวลาจะพยายามเร่งให้เร็วที่สุด