xs
xsm
sm
md
lg

อธิการบดี 14 สถาบัน ผนึกกำลังต้านนิรโทษกรรม ผู้บริหารจุฬาฯ จี้วุฒิสภาคว่ำกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิการบดี 14 สถาบัน ออกแถลงการณ์ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคนทุจริต ระบุเป็นกฎหมายที่สร้างมาตรฐานไม่ถูกต้องให้สังคมไทย เช่นเดียวกับคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์ฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องวุฒิสภา คว่ำกฎหมายยกผิดเหมาเข่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมอธิการบดี 14 สถาบัน ได้ออกแถลงการณ์ วันนี้ (4 พ.ย.) คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยมีเนื้อหาว่า

“ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ที่มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้น ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษให้แก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำในลักษณะการทุจริตคอรัปชั่นด้วย

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเห็นว่า การที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชันมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรม การกระทำความผิด ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จและจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการ “บัณฑิตไทยไม่โกง” ขึ้น ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ. 2556 การรณรงค์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ดีต่อเมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังมีรายนามต่อไปนี้ จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ร่วมกัน

- ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

- รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- รศ.ดร.สุวิทย์ เลากศิริวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม

- ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
- ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
- รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ลงวันที่ 4 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วันเดียวกัน คณะผู้บริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 1 เรื่อง “ข้อขัดแย้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม” ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ว่า

“ตามที่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ...... อย่างที่เร่งรีบ รวบรัด และมีเนื้อหาแตกต่างไปจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการเอาไว้ในวาระที่ 1 ส่งผลให้มีผู้ได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ขยายไปครอบคลุมถึงผู้สั่งการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย ทั้งยังมีการขยายระยะเวลาของการนิรโทษกรรมออกไป จนทำให้นักการเมืองที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย การพิจารณาร่างกฎหมายด้วยวิธีการดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า การจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เป็นไปตามแนวทาง ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ซึ่ง คอป.ได้ให้แนวทางเรื่องการออกกฏหมายนิรโทษกรรมว่า “...ไม่สามารถดำเนินการโดยปราศจากขอบเขต ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และมาตรฐานสากล โดยจะต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมตนเอง และไม่เป็นการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป หรือครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่ต้องมีการจำกัดความผิดที่จะนิรโทษกรรม และเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นได้ในปัจจุบัน คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้ง กฎหมายนิรโทษกรรมไว้ก่อน และส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฏร เพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ทั้งนี้คณะผู้บริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด”




กำลังโหลดความคิดเห็น