xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกหกเตะถ่วงเงินกู้ อำมหิตปล่อยนาข้าว-นิคมฯจมน้ำ??!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ชวนหวาดเสียวส่งท้ายปลายฝนต้นหนาว เมื่อมวลน้ำล้นทะลักเข้าท่วมนิคม อุตสาหกรรมอมตะนคร และนาข้าวจมบาดาลของชาวนาลุ่มภาคกลางก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลง ขณะที่จังหวัดหัวเมืองภาคตะวันออก อย่างเช่น ปราจีนบุรี สระแก้ว ก็ยังอยู่ในสภาพสาหัส ฉีกหน้านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธานกบอ. ในโค้งสุดท้าย ที่คุยโม้ว่าเอาอยู่ จัดการได้ ไม่มีปัญหา
 
แต่ในมุมหนึ่งก็ชวนสงสัยว่า วิกฤตน้ำท่วมที่ดูเหมือนจะโอเวอร์เกินเหตุเมื่อเทียบ กับปริมาณฝนฟ้า และการเตรียมรับมือที่น่าจะทำได้ดีกว่า พร้อมกว่าเมื่อปี 54 นี้ เป็นความอำมหิต จงใจปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน พืชผลเสียหาย เพราะรัฐบาลมีอะไรเคลือบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ 
 
โดยเฉพาะนาข้าวลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก พื้นที่ปลูกข้าวหลักที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น เห็นได้ชัดว่า ถูกท่วมแล้วท่วมอีก และท่วมนานผิดปกติ ถึงขนาดบางจังหวัดน้ำท่วมสูงกว่าปี 54 เสียอีกนั้น เป็นแผนทำลายข้าวชาวนาที่จะเข้าโครงการรับจำนำหรือไม่ 
 
ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ก็เพราะว่า ฤดูกาลผลิตปีนี้ รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าโครงการรับจำนำ ประมาณ 16.5 ล้านตัน หากเจอน้ำท่วมเข้าไป ปริมาณคงลดลงฮวบฮาบ เหลือไม่เท่าไหร่ เพราะไม่เพียงแค่ลุ่มเจ้าพระยาภาคกลางเท่านั้น ทั้งภาคอีสาน ตะวันออก ก็ท่วมกันถ้วนหน้า
 
แต่กระนั้นก็ยังชวนฉงนว่า รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมารับจำนำตามวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตัวเลขลมๆ แล้งๆ มาให้แล้วถึง 2.7 แสนล้านบาท จะไปควักเอากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทางแบงก์ก็โบ้ยตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะไม่มีการเอาเงินของแบงก์มารับจำนำแล้ว รอเงินใช้หนี้จากกระทรวงพาณิชย์ที่ไปขายข้าวเอามาให้ก่อน ไม่งั้นรัฐบาลก็ไปกู้มาให้แบงก์แทน
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออปชั่นไหนก็ยังไม่เห็นเม็ดเงินที่จะเอามาจำนำข้าวอย่างที่ว่า การปล่อยให้น้ำท่วมนาข้าวจนเสียหายพินาศหมด คนเดือดร้อนคือชาวนา แต่ สำหรับ รัฐบาลก็แปรวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสไม่ต้องวิ่งหาเงินมาโป๊ะโครงการ ประชานิยมจำนำข้าวทุกเมล็ดในฤดูกาลนี้ เพราะที่ทำๆ กันอยู่ขาดทุนบานเบอะปีละกว่า 2 แสนล้าน ซึ่งเงินมหาศาลที่เสียไปก็ไม่ได้ช่วยกระจายรายได้ให้กับชาวนาสักเท่าไหร่ มีแต่แก๊ง เจ๊ ด. ผู้มีอิทธิพลในพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้นที่ร่ำรวยขึ้น
 
เรื่องจำนำข้าวที่มีปัญหานี้ เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน เตรียมตั้งโต๊ะแฉปัญหาการขาดทุน การทุจริต รั่วไหลในกระบวนการจำนำข้าวทั้งหมดจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันที่ 15 ต.ค.56 นี้ ใครสนใจก็เตรียมล้างหูล้างตามารอฟังกัน 
 
ไม่ใช่แค่แผนอำมหิตปล่อยน้ำท่วมนาข้าวเท่านั้นที่น่าสงสัย กรณีน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี และจังหวัดโซนภาคตะวันออก ที่ท่วมซ้ำซากตลอดฤดู ฝน นี้ ก็น่าสงสัยเป็นหนึ่งในแผนของรัฐบาลที่กำลังสร้างเรื่องหาว่า เหตุที่น้ำท่วมคราวนี้เป็นเพราะมีพวกคอยดึงแข้งดึงขารัฐบาลไม่ให้เอาเงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ออกมาใช้เพื่อทำแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม และเป็นแผนหาเรื่องสร้างเขื่อนให้ ได้
 
เช่นกรณีที่รองเจ้ากรมสร้างเขื่อน ฉวยจังหวะออกมาเรียกร้องให้มีการลงทุนสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น หลังจากน้ำล้นทะลักเข้าท่วมนิคมฯอมตะนคร จ.ชลบุรี และท่วมพื้นที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออก เรียกว่าประสานเสียงกันเป็นลูกคู่กับ "ขี้ข้าทักษิณ"
 
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า  การวางแผนในเรื่องของการะบายน้ำภาคตะวันออกยังไม่มี ทำให้เครื่องมือในการะบายน้ำต้องพึ่งพาการ ระบายจากแม่น้ำต่างๆในพื้นที่ ส่วนอ่างเก็บน้ำอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ยังไม่ แล้วเสร็จ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จะเสร็จในปี 2560 ขณะที่อ่างเก็บน้ำที่ห้วยสทึงจะเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า ขณะที่เครื่องมือการระบายน้ำอื่นไม่มีสถานนะระบายน้ำมีเพียงแม่น้ำบางประกงที่มีเขื่อนทดน้ำเพื่อเอาไว้ใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
 
“ตอนนี้ในส่วนของกรมชลประทานเองพยายามใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อช่วยภาคตะวันออก ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เราไม่มีแผนระบายน้ำเลยและส่วนเครื่องมืออื่นๆ อ่างเก็บน้ำอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด ทำให้ภาคตะวันออก ทั้งสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ต้องมีการลงทุนในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น” นายสุเทพ ถางทางหาโอกาสสร้างเขื่อนในภาวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตน้ำท่วม
 
ส่วน “ขี้ข้าทักษิณ”  นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาพูดชัดว่า  ปัญหาน้ำท่วมเกือบ 30 กว่าจังหวัดขณะนี้ สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชนเกือบล้านครอบครัว ทั้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่อยู่อาศัย นำ ความเสียหายทางเศรษฐกิจมามากมาย และควรมีการแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลปัจจุบันมีแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก แต่ก็มีทั้งฝ่ายการเมืองและบางฝ่ายพยายามถ่วงรั้งทำให้ล่าช้า
 
นายนพดล ยังคุยโม้ว่า หากโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ได้เริ่มต้นดำเนินไปโดยไม่มีการขัดขวาง ก็จะช่วยไม่ให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักขนาดนี้ และหากโครงการสำเร็จทุกโมดูล ก็จะช่วยปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากได้ ไม่เข้าใจว่านักการเมืองบางกลุ่ม รวมถึงบางกลไกของประเทศ จึงได้รั้งหน่วงให้โครงการช้าลง ทั้งที่โครงการนี้ควรเดินหน้าไปได้นานแล้ว และจะเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ได้โดยไม่เลือกสี เลือกภาคและความชื่นชอบทางการเมือง
      
“ขี้ข้าทักษิณ” แถข้างๆ คูๆ จับประชาชนในเขตน้ำท่วมเป็นตัวประกัน อีกทั้งยัง กล่าวหาบางกลไกซึ่งไม่ใช่หน่วยงานไหนแต่เป็นศาลปกครอง ที่สั่งให้รัฐบาลไปดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการศึกษาความเหมาะสมโครงการ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้ครบถ้วนกระบวนความเสียก่อนค่อยลงมือดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้วงเงินลงทุน 3.5 แสนล้าน โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งฟลัดเวย์ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิตของประชาชน กระทั่งเป็นที่มาของการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ 36 จังหวัด ที่รัฐบาลกำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ต.ค. - 6 ธ.ค. 56 นี้ 
 
เมื่อรัฐบาลดันทุรังจัดมหกรรมลวงโลก เป็นเหตุให้นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน หรือกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า กบอ.  ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรการ 67 วรรคสอง แต่ กบอ.กลับดำเนินการโดยการนำเอาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 9 แผนงาน (โมดูล) 10 โครงการ ที่ไม่มีรายละเอียดใดๆตามที่กฎหมายกำหนด และผ่านการเปิดซองประมูลได้ผู้ชนะการประมูลไปรับฟังความคิดเห็นแทน 
 
“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้น เป็นเพียงแค่การจัดฉาก โฆษณาชวนเชื่อ แสร้งตบตาสาธารณะชนและศาลฯเท่านั้น อีกทั้ง การเปิดเวทีใน 36 จังหวัด ยังเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยเชิญประชาชนให้เข้ามารับฟังเพียงจังหวัดละ 800-2,000 คน ซึ่งในข้อเท็จจริงมีประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมกว่าล้านคน ดังนั้นจึงไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง”
      
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ทางสมาคมไม่ได้ต้องการขัดขวาง แต่เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นที่กำลังดำเนินการนั้น ไม่ถูกต้อง อาจขัดต่อแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง และการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ควรเน้นเฉพาะพื้นที่ 36 จังหวัด เนื่องจากในคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 มีพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมกว่า 65 จังหวัด ซึ่งรัฐควรมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วทุกพื้นที่

“ตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม รัฐบาลได้ใช้เงินในโครงการไปแล้ว 1.2 แสนล้านไปแล้ว แต่ก็ไม่เห็นจะเกิดผลอะไร นอกจากเอาเงินไปละเลงกันโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งทางสมาคมกำลังติดตามว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในด้านใดบ้าง จะไม่ปล่อยให้มีการใช้เงินของประชาชนไปอย่างไม่ถูกต้อง” นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงเป้าหมายในการเดินหน้าตรวจสอบโครงการดังกล่าวอย่างชนิดกัดไม่ปล่อย      

ลมปากที่ว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่เบื้องหลังชวนสยดสยองกับแผนอำมหิต ปล้นเงินภาษีประชาชนผ่านโครงการรับจำนำข้าว ปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากน้ำท่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมเร่งรีบเอาเงินกู้ 3.5 แสนล้านมาผลาญเข้ากระเป๋า จะมีใครสักกี่คนที่อยู่ในข่ายมีความคิดอำมหิตเช่นนี้ จะใช่แผนของ "นช.ทักษิณ" ผู้กุมอำนาจตัวจริง หรือไม่? น่าสงสัย ?
 



กำลังโหลดความคิดเห็น