นายกฯ ส.ต้านโลกร้อน ยื่น ศาลปกครองสูงสุด ไต่สวนฉุกเฉินหรือคุ้มครองชั่วคราว เบรก กบอ.จัดเวทีฟังความเห็นจัดการน้ำ 36 จว.ชี้ไม่ได้ทำตาม รธน.แค่จัดฉากโฆษณาชวนเชื่อ หวั่นคดีอยู่ในศาลหากพิพากษายืนจะเสียฟรีงบกว่า 184 ล้าน ยันไม่ได้ขวางแต่การกระทำรัฐส่อขัดคำวินิจฉัยเอง จวกอย่าเอาชาวบ้านเป็นตัวประกัน แฉตั้งแต่ปี 54 ละเลงไปแล้ว 1.2 แสนล้านไม่ช่วยป้องท่วม
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครองสูงสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน หรือกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในพื้นที่ 36 จังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ต.ค.-6 ธ.ค.2556
โดย นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การดำเนินของ กบอ.ไม่ได้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ระบุว่า กบอ.ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรการ 67 วรรคสอง แต่ กบอ.กลับดำเนินการโดยการนำเอาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 9 แผนงาน (โมดูล) 10 โครงการ ที่ไม่มีรายละเอียดใดๆตามที่กฎหมายกำหนด และผ่านการเปิดซองประมูลได้ผู้ชนะการประมูลไปรับฟังความคิดเห็นแทน จึงทำให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้น เป็นเพียงแค่การจัดฉาก โฆษณาชวนเชื่อ แสร้งตบตาสาธารณะชนและศาลฯเท่านั้น อีกทั้ง การเปิดเวทีใน 36 จังหวัด ยังเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยจะมีการเชิญประชาชนให้เข้ามารับฟังเพียงจังหวัดละ 800-2,000 คน ซึ่งในข้อเท็จจริงมีประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมกว่าล้านคน ดังนั้นจึงไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้คดีนี้อยู่ในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หากศาลไม่มีคำสั่งระงับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แล้วต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ว่าการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำไม่ชอบ ก็จะเท่ากับว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำมาเป็นโมฆะ งบประมาณที่ใช้ดำเนินการกว่า 184 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนก็จะสูญเปล่าทันที อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่าศาลจะเรียกคู่กรณีมาไต่สวนเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงบ่ายของวันนี้ หรือช้าสุดไม่น่าจะเกินวันจันทร์ที่ 14 ต.ค.ก่อนที่จะมีการเปิดเวที่ในวันที่ 15 ต.ค.นี้
“ทางสมาคมไม่ได้ต้องการขัดขวาง แต่เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นที่กำลังดำเนินการนั้น ไม่ถูกต้อง อาจขัดต่อแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง และการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ควรเน้นเฉพาะพื้นที่ 36 จังหวัด เนื่องจากในคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 มีพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมกว่า 65 จังหวัด ซึ่งรัฐควรมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วทุกพื้นที่” นายศรีสุวรรณ กล่าว
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ขณะนี้มีการโจมตีศาลปกครองและสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ว่าเป็นตันเหตุที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า อย่าเอาประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นตัวประกัน เพราะน้ำไม่ได้ท่วมทุกปี ส่วนพื้นที่ 20 จังหวัดลุ่มภาคกลางที่ท่วม โดยปกติก็ท่วมทุกปีอยู่แล้ว และแม้รัฐบาลเดินหน้าโดยไม่มีใครฟ้อง ก็ไม่ได้หมายความว่า น้ำที่ท่วมอยู่ในขณะนี้จะไม่ท่วม เพราะแผนงานที่จะต้องดำเนินการ กว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลากว่า 5 ปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม รัฐบาลได้ใช้เงินในโครงการไปแล้ว 1.2 แสนล้านไปแล้ว แต่ก็ไม่เห็นจะเกิดผลอะไร นอกจากเอาเงินไปละเลงกันโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งทางสมาคมก็กำลังติดตาม ว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในด้านใดบ้าง จะไม่ปล่อยให้มีการใช้เงินของประชาชนไปอย่างไม่ถูกต้อง