xs
xsm
sm
md
lg

หยุด EHIA อัปยศ! สร้างเขื่อนแม่วงก์..ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนปนดรามา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นการตะโกนแทนป่าที่มีทั้งความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนปนดรามา สำหรับการใช้ "เท้า" และ "เฟซบุ๊ก" ทำให้เกิดเสียงเพื่อแสดงพลังคัดค้านของศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และพวกพ้อง เกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ (EHIA) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หนึ่งในโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเปล่งเสียงก้องกังวานไปได้มากพอสมควร โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาคัดค้านความไม่ชอบมาพากลของเอกสารฉบับนี้เป็นจำนวนมาก

ทำไมต้องค้านป่าแลกเขื่อน

เป็นคำถามที่เชื่อว่าใครหลายคนอาจมีข้อมูลบ้างแล้ว แต่หนึ่งในจำนวนใครหลายคน เชื่อว่ายังเกิดข้อสงสัย และต้องการคำตอบในคำถามนี้ นี่คือข้อเท็จจริงว่าทำไม ศศิน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และพวกพ้องถึงลุกขึ้นมาใช้อวัยวะที่เรียกว่า "เท้า" เดินต่อสู้รวมระยะทาง 388 กิโลเมตรจากป่าแม่วงก์สู่เมือง (หอศิลป์กรุงเทพฯ) เพื่อคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ที่ จ.นครสวรรค์ โดยเฉพาะการคัดค้านสรุปผลรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA : Environment and Health Impact Assessment) ที่ยังละเลยข้อมูลสำคัญทางธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างมาก

เมื่อพูดถึงโครงการสร้างเขื่อนในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เกิดขึ้นมานานแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน กระทั่งแนวคิดการสร้างเขื่อนถูกพูดอีกครั้งหลังเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เขื่อนหลายเขื่อนถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกรอบ เช่นเดียวกับ "เขื่อนแม่วงก์" รวมไปถึง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ด้วย โดยเขื่อนแม่วงก์นั้นรัฐบาลอนุมัติสร้างเขื่อนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562

แต่การศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ หรือ EHIA กลับยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผน (สผ.) สิ่งแวดล้อม และไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และส่งมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่ผ่าน

นี่จึงเป็นที่มาของกระแสการคัดค้านอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มเครือข่ายนักอนุรักษ์หลายๆ กลุ่มว่า รัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาผ่าน EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ

ส่งผลให้ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร พร้อมเครือข่ายนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้เดินรณรงค์คัดค้านสรุปผลรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ร่วมกันเดินทางจากเขื่อนแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯ ระยะทาง 388 กม. คัดค้าน EHIA ฉบับนี้ โดยได้สิ้นสุดการเดินทางเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ

ในประเด็นเดียวกัน สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือก็ได้ออกมาแถลงการณ์ หยุด EHIA อัปยศ หยุดเขื่อนแม่วงก์ เพื่อคืนงบประมาณให้แผ่นดิน โดยเปิดเผยพร้อมกับให้ความเห็นว่า รัฐบาลใช้อำนาจในการแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาผ่าน EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ จึงเป็นการอัปยศอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับการเล่นละครตบตาหลอกลวงคนไทยทั้งชาติ ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับ กดดันให้การศึกษาที่เป็นวิชาการเสื่อมเสียหมดความน่าเชื่อถือ

ทางฟาก ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้พูดไว้อย่างน่าคิดในงานเสวนา EHIA เขื่อนแม่วงก์: ซับซ้อนซ่อนเงื่อน หรือดราม่า ที่มหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ก่อนที่จะสร้างได้นั้นต้องผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบ ซึ่งบริษัทที่รับทำจะศึกษาผลกระทบและทำรายงานตามเวลาที่ถูกกำหนด และตัวรายงานฉบับนี้ต้องส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งในขั้นตอนของการทำรายงานจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปด้วย แต่รายงานฉบับนี้ก็เป็นการจัดทำแบบชนิดรวบรัดเพื่อที่จะนำมาเขียนรายงานที่นำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

"เราไม่ได้เป็นพวกต่อต้านความเจริญ แต่เราคัดค้าน EHIA นี้ที่นำเสนอไม่ครบถ้วนทุกประเด็น ในแง่ของกระบวนการจัดทำและขั้นตอนการพิจารณา การไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณชนได้รับทราบ และเงื่อนงำในการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการพิจารณาตั้งแต่ต้นปี และหากมองรายงานฉบับนี้ในมุมมองที่ผมเป็นนักวิชาการ รายงานฉบับนี้ยังเป็นรายงานที่ต้องได้รับการแก้ไขอีกมาก" ดร.สมิทธ์กล่าว

ป่าแลกเขื่อน..ทำให้แย่มากกว่าดี?

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นเรื่องความไม่ชอบมาพากลเรื่อง EHIA หรือผลสรุปรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว แกนนำภารกิจใช้เท้าให้เกิดเสียง ค้านป่าแลกเขื่อนอย่าง ศศิน ในฐานะนักอนุรักษ์ป่า และสิ่งแวดล้อมตัวยง เขาบอกว่า การมาของเขื่อน นำมาสู่ปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดกับผืนป่า รวมไปถึงสัตว์ป่าน้อยใหญ่จำนวนมาก

นอกจากนี้ การออกมาให้ข้อมูลของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม ยังทำให้เห็นผลกระทบที่ไม่สามารถป้องกันในช่วงเวลาก่อสร้างเขื่อนตลอด 8 ปี ได้แก่ การตัดไม้เกินพื้นที่ที่กำหนด การลักลอบล่าสัตว์ป่า เสียงที่ดังรบกวนสัตว์ป่า การยึดพื้นที่ริมอ่างและการเก็บหาของป่า

ที่สำคัญ การสร้างเขื่อนแม่วงก์ หากมองในมุม ดร.สมิทธ์ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เขาบอกถึงความน่าเป็นห่วงตามมาว่า ถ้าเมื่อไรที่ป่าแม่วงก์ถูกบุกรุก ก็จะกลายเป็นการ "เปิดแผล" ให้ผืนป่าตะวันตก

แต่เสียงคัดค้านจาก ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เคยเป็นถึงอดีตอธิบดีกรมป่าไม้มาก่อน กลับออกมายืนยันเดินหน้าสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยให้เหตุผลว่า แม้การสร้างเขื่อนจะทำให้ป่าเสียหาย แต่ก็มีการสั่งให้ปลูกทดแทน 3 เท่า และจะเชิญให้ผู้คัดค้านมาช่วยกันปลูกป่าด้วย ส่วนตัวจะให้เงินและหาที่ให้เอง

"...ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ แต่ถ้าน้ำท่วมไม่มีคนไทย ประเทศก็อยู่ไม่ได้" นี่คือคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อหลายวันก่อน

อย่างไรก็ดี การออกมาให้สัมภาษณ์ของ นายปลอดประสพ ไม่เพียงแต่จะเป็นประเด็นให้พูดถึงในวงกว้างแล้ว ยังถูกโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะปฏิกิริยาของคนในโลกออนไลน์ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอื้อ และจุดชนวนให้คนเริ่มออกมาคัดค้านกันมากขึ้น

ต่อกรณีนี้ ศศิน ผู้นำฝ่ายคัดค้าน ชี้แจงว่า แม้จะมีการระบุให้ปลูกต้นไม้ทดแทน 3 เท่า แต่กลับไม่ระบุพื้นที่ดำเนินการให้ทราบ ส่วนตัวต้องการประท้วงสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ที่เป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลแก่ฝ่ายการเมือง ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าในการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำหรือ กบอ. ก็ได้กล่าวถึงการเดินขบวนทวงคืนผืนป่า เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่า ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่อยากให้ผู้ชุมนุมคำนึงถึงภาพรวมของประเทศเป็นหลัก มองคนที่จะได้รับผลกระทบ ที่มีการระบุว่า การสร้างเขื่อนขนาดเล็กๆ ฝายเล็กๆ ในพื้นที่ จะป้องกันปัญหาน้ำท่วมบริเวณดังกล่าวได้นั้น ตนไม่เถียง แต่การสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อรวมกับหลายเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ จะสามารถรองรับน้ำปริมาณได้มาก แม้แต่ละเขื่อนจะมีบทบาทไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถป้องกันน้ำท่วมได้

ทั้งนี้ นายปลอดประสพ ยังระบุด้วยว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้คนที่เห็นต่าง หรือไม่เห็นด้วย โดยเสนอความคิดเห็นมาได้

ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาน้ำท่วม

อีกประเด็นที่ยังคงมีหลายฝ่ายยืนยันหนักแน่น และอยากให้ข้อมูลแก่รัฐบาลไว้พิจารณากันอีกครั้งเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง เรื่องนี้ "ศศิน" แกนนำต่อสู้ด้วยการเดินเท้า เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ประกาศไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์มาโดยตลอด เนื่องจากพบว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับไปทำลายพื้นที่ป่าธรรมชาติกว่า 1.3 หมื่นไร่ โดยเปล่าประโยชน์ ซ้ำยังกระทบต่อระบบนิเวศในป่าอย่างมหาศาล

ส่วนในการเดินประท้วงในครั้งนี้ เขายังย้ำกับผู้คนที่เขาพบเจอด้วยว่า เขื่อนแม่วงก์ จะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ให้กับชาวอยุธยาได้ พร้อมเผยว่า ควรไปบริหารจัดการเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้ดี ปรับจากเขื่อนชลประทานให้เป็นเขื่อนที่ป้องกันน้ำท่วมด้วย ดีกว่าการสร้างเขื่อนเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลของเว็บไซต์มูลนิธิสืบฯ ระบุชัดเจนด้วยว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยานฯ

ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ มีน้ำเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้นที่มาจากแม่วงก์ที่เขาสบกก ส่วนอีกร้อยละ 80 ที่เหลือคือน้ำที่มาจากลำน้ำสาขาอีก 16 สายใต้เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งปัญหาที่น้ำท่วมก็เพราะถนนขวางทางระบายน้ำ รวมถึงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนเขา ซึ่งทำให้น้ำหลากมาถึงบ้านที่อยู่ในที่ราบอย่างรวดเร็ว และถึงแม้จะสร้างเขื่อนได้แล้ว ปริมาณน้ำนองที่ อ.ลาดยาวก็ลดลงไม่ถึงร้อยละ 30

ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยได้มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554

นอกจากความไม่คุ้มทุนในเรื่องดังกล่าวแล้ว การสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 300,000 ไร่ แต่เอาเข้าจริงแล้ว การสร้างเขื่อนฯ ขึ้นมา จะสามารถแจกจ่ายน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้เพียง 100,000 ไร่เท่านั้น

ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ ศศิน อยากให้ทุกคนได้ "ฟัง" โดยเฉพาะ "รัฐบาล" เพราะยังมีคำตอบ และทางเลือกอื่นอยู่อีกมาก เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำ ไม่ได้จบที่เขื่อนเท่านั้น เช่น ปรับปรุงการระบายน้ำอ.ลาดยาว พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กสำหรับสาขาที่ไหลลงแม่วงก์ อันเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำน้ำมาท่วมลาดยาว ทำฝ่ายชะลอน้ำที่ห้วยแม่วงก์ ปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำผ่านเขื่อนวังรอ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำก่อนลงแม่น้ำสะแกกรัง

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำระดับตำบล หมู่บ้าน และครอบครัวอย่างจริงจัง หากสนับสนุนแหล่งน้ำระดับตำบลใช้เงิน 4,600 ล้านบาท หนุนรูปแบบพัฒนาจัดการน้ำระดับหมู่บ้าน 3,520 ล้านบาท ส่วนพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของบุคคลอยู่ที่ 2,140 ล้าน

อย่างไรก็ตาม ควรส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน หากยังขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำดังเช่นที่ผ่านมา เช่น การปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และการปลูกข้าวนาปรังบ่อยครั้งหรือถี่เกินไปใน 1 ปี เชื่อได้ว่าแม้จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอ

หยุดวัฒนธรรม "ไทยเฉย" กันเถอะ

คงต้องยอมรับว่า สังคมไทยทุกวันนี้ น้อยมากที่จะใส่ใจ และคอยช่วยกันดูแลโครงการใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นให้สามารถก้าวไปในขั้นตอนทีถูกต้องถูกจังหวะ เกิดเป็นวัฒนธรรมไทยเฉยที่ต่างคนต่างไม่สนใจจนนำไปสู่ปัญหาตามมา

แต่สำหรับกรณีนี้ ศศิน และพวกพ้องยอมเอาชีวิตเพื่อปกป้องป่า และสัตว์ป่า เพราะเขาเชื่อว่า "ไม่มีอะไรมากกว่าไปสองเท้า และเฟซบุ๊ก" อีกแล้ว

พวกเขาเริ่มต้นภารกิจใช้ "เท้า" ทำให้เกิดเสียงเพื่อแสดงพลังคัดค้านเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา-แก่งเกาะใหญ่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ผ่าน จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และเข้าสู่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 ก.ย. รวมระยะเวลา 13 วัน โดยระหว่างทาง มีประชาชนกลุ่มต่างๆ ทยอยเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมเดินเท้าด้วยเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่เฉยอีกต่อไปแล้ว

"แน่นอนว่า ภารกิจการเดินเท้าเพื่อประท้วงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ตั้งใจเอาไว้ไม่ได้สิ้นสุดแค่ตรงนี้ เพราะงานคัดค้าน EHIA เพื่อจะหยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ มันเพิ่งเริ่มต้นต่างหาก ผมยังมีงานเรื่องนี้อีกมากเพื่อที่จะหยุดมันให้ได้" เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเผยด้วยความมุ่งมั่น

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การใช้เท้าเพื่อให้เกิดเสียงไปถึงรัฐบาลครั้งนี้ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่มาแสดงพลังคัดค้านกันอย่างล้นหลาม

ทั้งหมดนี้ การใช้ "เท้า" ทำให้เกิดเสียงไปถึงรัฐบาลของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง คงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การโค่นล้มหรือบอกว่าอย่าสร้าง แต่สิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุดก็คือ การรับฟัง "เสียงของประชาชน" เพื่อชะลอ และหาทางออกอันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่พอจะยอมรับได้ในทุกฝ่าย

เพราะสุดท้ายแล้ว การบริหารจัดการน้ำคงไม่ได้จบลงที่เขื่อนเท่านั้น แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ "ศศิน" เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเสนอเอาไว้มากมาย หากลองนำไปพิจารณาและพูดคุยกันดู ก็ไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน

เว้นเสียแต่ว่า ท่าน ๆ ทั้งหลาย ไม่เคยสนใจที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว...

//////////////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

รู้หรือไม่?

ป่าแม่วงก์ ถือเป็น "หัวใจ" ของผืนป่าตะวันตก ผืนป่าแห่งนี้มีพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง ต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ถึง 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นผืนป่าแห่งนี้จึงเป็นความหวังแห่งสุดท้ายที่จะเป็นป่าขนาดใหญ่พอที่จะเป็นบ้านของสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า เป็นต้น แม้จะต้องเสียผืนป่าเพียง 18 ตร.กม. ก็ตาม แต่ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่น้อยมากจึงไม่สามารถที่จะเสียผืนป่าได้อีก

*** ติดตามความเคลื่อนไหวกรณีคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ทั้งหมดได้ที่ ---> www.flipboard.com

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
 


ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบเดินคัดค้่าน EHIA สร้างเขื่อนแม่วงก์
ม็อบเดินเท้าจากป่าแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ


เดินเท้าเข้าเมือง แสดงพลังคัดค้่าน EHIA หยุดเขื่อนแม่วงก์
นิสิต มศว ไม่เอาเขื่อน!











ขบวนเดินเท้าประท้วงเขื่อนแม่วงก์ถึงที่หมาย (หออศิลป์กรุงเทพฯ) คนแห่ร่วมเพียบ

กำลังโหลดความคิดเห็น