แพร่ - คนสะเอียบขนเสบียงส่งคณะเดินเท้าต้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ พร้อมร่อนแถลงการณ์เรียกร้องรัฐหยุด 4 เขื่อน-หยุดกู้ จี้ผู้บริหารในแพร่หันกลับมาร่วมมือชุมชนพัฒนาลุ่มน้ำร่วมกันแทน
วานนี้ (16 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ยมบน ยมล่าง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ นำโดยนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ได้เดินทางไปร่วมสนับสนุนการเดินต่อต้านการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ (EHIA) เขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ระหว่างทางเข้ากรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบข้าวสาร อาหารแห้ง และผักพื้นบ้านให้เป็นเสบียงแก่คณะเดินเท้าแล้ว ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุด EHIA อัปยศ หยุดเขื่อนแม่วงก์ ยกเลิกการศึกษาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง คืนงบประมาณให้แผ่นดิน
โดยระบุว่ารัฐบาลได้อนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ทั้งที่การศึกษา EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อีกทั้งยังเคยสอบไม่ผ่านมาแล้วถึง 4 ครั้งในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้อำนาจแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผ่านการพิจารณา EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ การดำเนินการเช่นนี้เป็นเรื่องที่อัปยศอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับการเล่นละครปาหี่ตบตาหลอกลวงคนไทยทั้งชาติ อีกทั้งยังเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับ กดดันให้การศึกษาที่เป็นวิชาการหมดความน่าเชื่อถือ
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ฉบับอัปยศ ที่เป็นตรายางให้ทำลายป่าและระบบนิเวศอย่างชอบธรรม และขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่วงก์โดยเด็ดขาด
สำหรับโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่ ซึ่งอยู่ในแผนงานโมดูล A1 งบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้มีการศึกษาทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และ EHIA คงไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปแล้ว เพราะเราไม่สามารถยอมรับความอัปยศดังกล่าวได้ และเราจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ขอให้เอางบประมาณไปพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นจะดีกว่า
อนึ่ง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนยันคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินแนวทางการจัดการน้ำชุมชนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ อันเป็นแนวทางที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังใช้งบประมาณน้อยกว่าอีกด้วย
นายสมมิ่งกล่าวว่า ความจริงแล้วการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ผิดขั้นตอน อยากเรียกร้องให้ผู้บริหารในจังหวัดแพร่ไตร่ตรองเพื่อจะได้พัฒนาลุ่มน้ำร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม