xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

EHIA “ปลวก”เอ๊ย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปรากฏการณ์ที่ผู้คนกว่า 20,000 คนรวมตัวกัน ณ บริเวณ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา เพื่อหยุดยั้งการสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนำโดย “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นปรากฏการณ์ที่จำต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

เนื่องเพราะนี่คือเสียงคัดค้านที่ดำเนินไปอย่างสงบ สันติ อหิงสาและเต็มไปด้วยเหตุด้วยผลของประชาชนคนไทยซึ่งไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่นอกจากจะไม่ตอบโจทย์ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อผืนป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และธรรมชาติอย่างยิ่ง

แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเห็นเสียงของประชาชนไม่ต่างอะไรจากเสียงนกเสียงกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ที่ประกาศเดินหน้าก่อสร้างชนิดหัวชนฝา

แน่นอน คงไม่ต้องถามแล้วว่า ถ้าเขื่อนแม่วงก์ถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ ใครคือตัวการที่ผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และใครคือตัวการทำลายผืนป่าที่สำคัญยิ่งของภาคตะวันตกอย่างป่าแม่วงก์

เพราะคำตอบที่ชัดเจนยิ่งก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เพราะคำตอบที่ชัดเจนยิ่งก็คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี

และคำตอบที่ชัดเจนยิ่งยังรวมถึง “นายวีระกร คำประกอบ” อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จังหวัดนครสวรรค์และอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาที่ให้การสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์เต็มที่อีกด้วย

**ยิ่งลักษณ์-ปลอดประสพ ตัวการทำลายป่าแม่วงก์

เหตุที่กล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรคือตัวการที่สำคัญในการทำลายป่าแม่วงก์ด้วยการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า ในวันที่10 เมษายน 2555โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ถูกแช่แข็งเอาไว้นานร่วม 20 ปีได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท และใช้เวลาในการก่อสร้าง 8 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโมดูล A1 ใน “โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล”

ที่สำคัญคือเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเป็นประธานในการประชุมอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นดีเห็นงามกับการทำลายป่าแม่วงก์อันเป็นหัวใจหรือไข่แดงของผืนป่าตะวันตก เพราะเที่ยวนี้มิได้แอ่นระแน้หนีความรับผิดชอบไปต่างประเทศเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ การเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ดังกล่าวยังเป็นการเห็นชอบทั้งๆ ที่ “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์” ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานรับผิดชอบและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ดังนั้นมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วง อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์จึงเป็นมติที่ไม่ชอบต่อกฎหมาย

ขณะที่ “นายปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรี ก็คือหัวเรี่ยวหัวแรงที่มีสำคัญในการผลักดันให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะสวมหัวโขนเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ซึ่งมีอำนาจเต็มในเม็ดเงิน 3.5แสนบาทในโครงการกู้เงินเพื่อนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำของ รัฐบาล

ยิ่งเมื่อย้อนหลังลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ EHIAโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์” ซึ่งจัดทำโดย บริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ก็ยิ่งเห็นร่องรอยของความผิดปกติที่เกิดขึ้นชัดเจน เพราะรายงาน EHIA ของเขื่อนแม่วงก์เคยถูก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการด้านแหล่งน้ำ (คชก.) ตีกลับไปศึกษาใหม่ 19 ประเด็น เมื่อปลายปี 2555 แต่หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2556 มี รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ได้แก่ การโยกย้ายตำแหน่งของเลขาธิการ สผ.อย่าง ดร.วิจารณ์ สิมะฉายา ซึ่งมีชื่อเสียงการยอมรับในการทำงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี มาเป็นนายสันติ บุญประคับ ซึ่งมีภูมิหลังทำงานด้านพัฒนาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ขณะเดียวกันก็ปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จาก ดร.สันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่ง แวดล้อม มาเป็นข้าราชการประจำอย่างตัวเลขาธิการ สผ.เอง คือ นายสันติ บุญประคับ ซึ่งอาจจะสงสัยได้ว่าต้องเร่งรัดทำงานตามนโยบายที่ได้รับมาจากโครงการจัดการ น้ำ 3.5 แสนล้านเนื่องจากในขณะนั้น รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้คือ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการน้ำเช่นกัน

นอกจากนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเห็นทางวิชาการต่อความบกพร่องของรายงาน อาทิ ดร.อุทิศ กุฏอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าไม้ นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านธรณีวิทยา รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์ประกอบให้ไม่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่ง แวดล้อม และผู้แทนประจำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ขณะนั้นมีการคุยกันว่าเที่ยวนี้คงจะหยุดไม่อยู่ นั่นเพราะได้ใช้ทุกช่องทางแล้ว ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีก็แล้ว ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกไม่ต่ำกว่า 4 ฉบับ โดยได้อธิบายว่าผืนป่าตะวันตกมีความสำคัญต่อคนไทย มีระบบนิเวศ ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น สร้างขึ้นอีกไม่ได้ แต่โครงการก็ยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆแม้กระทั่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นกลไกที่น่าจะฝากความหวังไว้ได้ กลับยังบอกว่ามีหน้าที่เพียงรวบรวมความเห็นจากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติ แต่รัฐมนตรีเคยอนุมัติไปแล้ว ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 ดังนั้นเท่ากับว่ากลไกนี้ชำรุด ไม่มีประโยชน์ ใช้อะไรไม่ได้”

เช่นเดียวกับ “สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา” ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำ ภาคเหนือได้แถลงการณ์โดยระบุชัดเจนว่า รัฐบาลใช้อำนาจในการแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพ่อให้การพิจารณาผ่าน EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ จึงเป็นการอัปยศอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับการเล่นละครตบตาหลอกลวงคนไทยทั้งชาติ ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับกดดันให้การศึกษาที่เป็นวิชาการการเสื่อมเสียหมด

และนั่นเป็นหลักฐานว่า ใครคือผู้กระสันอยากตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

และนั่นคือคำตอบของเหตุผลสำคัญที่หลายคนอาจยังคงสงสัยว่า ทำไมศศิน เฉลิมลาภถึงตัดสินใจเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์เมื่อวันอังคารที่ 10 กันยายน ด้วยระยะทาง 388 กิโลเมตรมายังจุดหมายปลายทางในวันที่ 22 กันยายน 2556 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วยแคมเปญ “STOP EHIA Maewong” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะพลังของประชาชนทำให้กำหนดการประชุมพิจารณา EHIA ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนได้เลื่อนออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

**วีระกร-บรรหาร2 แรงหนุนสร้างเขื่อนคนสำคัญ

กระนั้นก็ดี นอกจากรัฐบาลและนายปลอดประสพจะปวารณาตัวสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างกระวีกระวาดแล้ว ยังมีอีก 2 บุคคลสำคัญซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มขาใหญ่ที่ประกาศตัวหนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ นายวีระกร คำประกอบ และ นายบรรหาร ศิลปอาชา

กล่าวสำหรับนายวีระกรนั้น ต้องไม่ลืมว่าเขาคือนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์

เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดนครสรรค์ สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีกลายเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค เพราะรั้งตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคด้วย

วันนี้ แม้นายวีระกรจะไม่ได้เล่นการเมือง ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ไม่ใช่ Nobody แถมยังเคยทำงานใกล้ชิดกับนายปลอดประสพ สุรัสวดีขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกต่างหาก

ที่สำคัญคือเขายังคงเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่ และถ้ารัฐบาลต้องการเสียงสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้ว ก็ย่อมต้องพึ่งพานายวีระกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแน่นอนว่า การใช้บริการของนายวีระกรย่อมไม่ได้ดำเนินไปแบบร่วมด้วยช่วยกัน นี่ไม่นับรวมผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาถ้าหากข้อมูลเรื่องชาวบ้านนครสวรรค์สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์มากกว่าเสียงคัดค้านไม่ผิดเพี้ยนดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2556 ซึ่งมีการระดมชาวบ้านในท้องที่โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ทั้งนี้ นายวีระกรได้ประกาศกลางเวทีสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้อนุมัติสร้างเขื่อนแม่วงก์ของชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกส่งถึงสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลจะส่งนายปลอดประสพเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อน

ขณะที่นายบรรหารก็คือผู้มีบารมีแห่งพรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่า มีความรักและผูกพันกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พรรคชาติไทยพัฒนาของปลาไหลเมืองสุพรรณประกาศจับจองเป็นเจ้าของและพร้อมท้ารบกับทุกคนที่บังอาจเข้ามาหยิบชิ้นปลามันในกระทรวงเกษตรฯ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี

โดยเฉพาะความผูกพันที่มีต่อกรมชลประทาน ซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ยิ่งกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

“ต้องทำเขื่อนแม่วงก์ แต่ก็ต้องมาดูว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นตรงไหน เช่น พื้นที่ป่าไม้ ก็ต้องมาดูกันว่าจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คิดว่าต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน เพราะความเสียหายจะเกิดขึ้นซ้ำซาก โดย มีตัวเลขความเสียหายเป็นพันล้านบาท ในความเห็นจากที่ได้ไปดูพื้นที่มาแล้ว-ก็น่าจะทำ เพราะถ้าไม่ทำคงมีปัญหา เพราะน้ำมีจำนวนมาก จะให้ไปลงที่ไหน ประชาชนที่เดือดร้อนมีปัญหามากกว่า”นายบรรหารประกาศสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องความไม่ลงรอยของนายบรรหารกับนายปลอดประสพอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องเพราะการขัดกันในเรื่องของอำนาจ กล่าวคือแม้ว่า กรมชลประทานจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่อำนาจทางการเงินกับตกอยู่กับนายปลอดประสพในฐานะประธาน กบอ. แต่ดูเหมือนว่า จะมีการเจรจาต้าอ่วยตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัญหาดังกล่าวจงหมดไป

ดังนั้น จงอย่างแปลกใจว่า ทำไมนายบรรหารถึงสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์

**แม่วงก์ การปักธงผืนแรก ในโครงการ 3.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดก็จะยิ่งเห็นว่า EHIA ฉบับนี้มีความบกพร่องอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะรายงานฉบับนี้ไม่ได้ให้ความจริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่นๆ หรือ เทคนิคกำหนดตัวแปรที่เบี่ยงเบนน้ำหนักของการเลือกที่ตั้ง ให้มาก่อสร้างในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

นอกจากนั้นยังละเลยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไม่มีการรบกวนระบบนิเวศสัตว์ป่าโดยที่ตั้งของชุมชน ดังมีรายงานข้อมูลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการกระจายตัวของเสือโคร่ง และพื้นที่อยู่อาศัยของนกยูง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน “แม่วงก์” ป่าสมบูรณ์ เสือชุก นกยูงชุม ไม่ใช่เขต“ปลอดสัตว์”!!!)

ที่สำคัญคือการสร้างเขื่อนแม่วงก์สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ไม่มากนัก

แล้วถามว่า แล้วทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์และนายปลอดประสพถึงได้กระสันอยากสร้างเขื่อนแม่วงก์นักหนา คำตอบที่ถูกต้องที่สุดโดยไม่ต้องใช้สมองคิดให้สิ้นเปลืองก็คือ เงิน

เพราะต้องไม่ลืมว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลนั้น จะมีการสร้างเขื่อนขึ้นเพื่อการนี้ถึง 21 เขื่อน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ภาครัฐสามารถผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ การสร้างเขื่อนอื่นๆ ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยาก

“ถึงแม้ว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะเก็บกักน้ำได้เพียงร้อยละ 1 ของจำนวนเขื่อนทั้งหมด แต่ก็จำเป็นต้องทำ เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวจะช่วยควบคุมระดับน้ำ ในแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้าไปเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำ เจ้าพระยาส่วนผู้คัดค้านถึงคราวต้องเสียสละ เราก็ควรเสียสละและทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ซึ่งรัฐบาลมีแผนสู้กับน้ำท่วม 9 เรื่อง และการสร้างเขื่อนเป็นหนึ่งในนั้น ประกอบด้วยเขื่อนเล็กและใหญ่รวม 21 เขื่อน เมื่อรวมพลังกันทั้งหมดแล้ว จะเป็นพลังขนาดใหญ่ในการสู้กับน้ำท่วมได้”

นั่นคือคำยืนยันจากนายปลอดประสพว่า ทำไมรัฐบาลและกบอ.ถึงดึงดันที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างหัวชนฝา เพราะถ้าไม่สร้าง การดำเนินงานตามโมดูล A1 ก็จะไม่บรรลุผล

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมนายปลอดประสพเมื่อรั้งตำแหน่งเป็นประธาน กบอ.จึงมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้โดยสิ้นเชิง เพราะเวลาเปลี่ยน ตำแหน่งเปลี่ยน คนก็ย่อมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

ปี 2542 นายปลอดประสพกล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า “การตัดสินใจไม่อนุญาตให้เข้าไปสร้างเขื่อนในป่าแม่วงก์นั้น เป็นการตัดสินใจของผมเพียงคนเดียวในฐานะอธิบดีกรมป่าไม้หลังจากพิจารณาข้อมูลรอบคอบแล้ว ทั้งนี้ เพื่อต้องการรักษาผืนป่าไว้ หากปล่อยให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือยไปเรื่อย ต่อไปคงไม่มีป่าเหลืออย่างแน่นอน”

ขณะที่ในปี 2556 นายปลอดประสพได้ประกาศหนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์สุดตัวว่า “ผมพยายามทำความเข้าใจว่าผู้คัดค้านจะค้านทำไม เหตุใดจึงเชื่อแบบนั้น แต่ขอขอบใจที่พวกเขาเป็นคนรักป่า รักสัตว์ป่า แต่ผมรักคนไทยมากกว่า ผมเลือกเอาชีวิตของคนไทยมากกว่า ผมต้องทำให้คนไทยปลอดภัยให้ได้ ป่าสร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้ แต่ถ้าน้ำท่วมไม่มีคนไทย ประเทศก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลตัดสินใจแล้ว คือสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่มีเปลี่ยนใจ”

และเมื่อเห็นท่าไม่ดี รัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายปลอดประสพจึงพลิกเกมครั้งใหม่ด้วยยุทธศาสตร์แบบเดิมๆ นั่นคือการเกณฑ์ชาวบ้านจากนครสวรรค์ กำแพงเพชรและอุทัยธานีให้มารวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 2,000-3,000 คนเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 เพื่อแสดงพลังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมขับไล่องค์กรพัฒนาเอกชนไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ ขณะที่กลุ่มแกนนำได้ส่งรถติดเครื่องขยายเสียงตระเวรประกาศขับไล่ชาวบ้านในตัวอำเภอที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ออกนอกพื้นที่ด้วย โดยฉวยโอกาสสถานการณ์น้ำท่วมเป็นตัว ปลุกเร้ากระแส

ที่สำคัญคือ ในการปลุกม็อบครั้งนี้ นายวีระกร คำประกอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย รวมถึง นายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ ได้ปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยด้วย

นอกจากนี้ การแก้เกมที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งก็คือ กรณีที่นายปลอดประสพพยายามอ้างว่า EHIA เขื่อนแม่วงก์ ที่มีผู้คัดค้านนั้น เป็นผลงานของนายปราโมทย์ ไม้กลัด และนายกิจจา ผลภาษี อดีตอธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ มิใช่ EHIA ของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามเร่งรัดให้มีการรับรอง EHIA โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการด้านแหล่งน้ำ (คชก.)

ทว่า นั่นเป็นการแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ เพราะตัว นายปราโมทย์ ไม้กลัด ซึ่งนายปลอดประสพอ้างถึงทุกครั้งว่าเป็นคนผลักดันให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ประกาศชัดเจนว่า “อยากให้รัฐบาลถอย อย่าคิดทำรูปแบบแบบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งการสร้างเขื่อน, ฟลัดเวย์, แก้มลิง จะต้องพิสูจน์และศึกษามาให้เห็นก่อน หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็เกิดการตีกันตั้งแต่เริ่มแรก การคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ยังเป็นเพียงจุดเดียว แต่ยังมีอีกหลายเขื่อน”

จุดยืนของนายปราโมทย์ทำให้นายปลอดประสพถึงกับไปไม่เป็นเลยทีเดียว

จากนั้นวันดีคืนดีเมื่อเห็นว่า ไม่ได้ผล เพราะกระแสต่อต้านจากทุกภาคส่วนของสังคมเป็นไปอย่างมีพลัง จะโบ้ยว่าเป็น EHIA ของนายปราโมทย์ก็ไม่ได้ผล นายปลอดประสพจึงเปิดปฏิบัติการครั้งใหม่ด้วยการประกาศอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า กบอ.มีแผนที่จะจัดทำรายงานอีเอชไอเอฉบับใหม่ของโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยจะเน้นการระบายน้ำท่วม เพราะฉบับของกรมชลประทานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้จะเน้นเรื่องของการชลประทานเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มทำรายงานอีเอชไอเอฉบับใหม่ได้ทันที ที่การทำประชาพิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมนี้ และมีการเซ็นสัญญากับเอกชนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557

คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า แล้ว EHIA ฉบับใหม่ของนายปลอดประสพจะมีความแตกต่างอะไรกับ EHIA ฉบับเดิม เพราะข้อมูลก็ชี้ชัดอยู่แล้วว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น ได้ไม่คุ้มเสีย

และเมื่อถึงตรงนี้ สังคมไทยคงได้บทสรุปกันแล้วว่า ถ้าจะหยุดเขื่อนแม่วงก์ให้สำเร็จต้องทำอย่างไร เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถหยุดนักการเมืองผู้เป็นสาเหตุของการทำลายป่าแม่วงก์ได้ ก็ไม่มีทางที่จะหยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ เพราะพวกเขาจะต้องใช้ทุกวิถีทางที่ทำให้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนี้เกิดให้จงได้

หมายเหตุ-EHIA เป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน

‘ลวงจริง-จริงลวง’
(ละครการเมืองเรื่องแม่วงก์)

เริงละครน้ำเน่า นองสมัย
ฟุ้งโฉ่เหม็นฉาวไป ฉาบป้าย
บาปตรา บาปตรึงใจ ประจานจริต
วิปริต วิปลาสร้าย ละคร...

ตอน ‘แม่วงก์’ วิปลาสร้าย เริงแสดง
ซ่อนเท็จ ซ่อนจริง แฝง ฝากได้
ระทมระทึกคนแหนง ดูหน่าย
ขันขื่นขมเข้าไส้ เสพสาร

ประชดประจานฉะนี้ จบไฉน
ต้มเปื่อยคนดูไง โง่แท้!
หลาบจำและหลอนใจ เจ็บปวด
หมดจด หมดข้อแม้ ตลอดมา!

บาปตราตรึงตลกร้าย แฝงละคร
เรื่องใหม่ เรื่องเก่าสอน เรื่องเศร้า
บทใหม่ บทเก่า สลอน หน้าสลับ
แสลงบท สลดเบ้า แบบหวัง...

หวังลม ลมหว่านแล้ง หลอกหลอน
เรื่องเก่า เรื่องใหม่สอน ผิดซ้ำ
บทเก่า บทใหม่ จร บทจบ
ยิ่งทบน้ำเน่าน้ำ ท่วมนอง

ดองคนติด เปื่อยต้ม คนตาม
ดีซุกลงหว่างทราม ซ่อนเร้น
ทุรังทุเรศนาม รูปเน่า
ฟอนเฟะแต่งงามเต้น ตลกเหลือ

เนื้อในนัยแก่นเนื้อ ปลักหนอง
‘จริงลวง’ แม่วงก์หมอง อกไหม้
‘ลวงจริง’ละครฉลอง เรื่องสลด
ประโลมโลกวิปลาสไว้ ดับหวัง...

อังคาร จันทาทิพย์

หมายเหตุ-อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์ปี 2556 ได้ร่ายบทกวีถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มอบให้กองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์นำมาเผยแพร่และเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งการทำลายผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย


ประชาชนที่รวมตัวกันคัดค้าน EHIA ร่วมกับศศิน เฉลิมลาภ



จดหมายจากนายวชิระ แรงกสิกร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วและประธานชมรมอปท.อำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอชุมตาบงและอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ถึงนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อเรียกระดมชาวบ้านมารวมตัวกันสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ป้ายประกาศนัดรวมพลคนต้องการเขื่อนแม่วงก์ในวันที่ 25 เมษายน 2556 เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
วีระกร คำประกอบ บนเวทีสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์


กำลังโหลดความคิดเห็น