WWF เผยภาพสัตว์ป่านานาชนิดจากกล้องดักถ่ายในป่าแม่วงก์ ทั้งเสือโคร่ง เสือดาว กระทิง สมเสร็จ ชี้การปรากฏของเสือโคร่งเป็นหลักฐานแสดงถึงความสมบูรณ์ของป่า เพราะเสือต้องการอาหารมาก โดยเฉพาะเสือแม่ลูกอ่อน พร้อมรณรงค์ร่วมกันแชร์ภาพผ่านแฟนเพจเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
WWF ประเทศไทย (https://www.facebook.com/wwfthailand) เผยภาพสัตว์ป่านานาชนิดที่บันทึกได้จากกล้องดักถ่ายที่ติดตั้งภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม แม้ว่าข้อมูลจากนักวิชาการระบุว่า ปริมาณน้ำที่เขื่อนแม่วงก์รับได้นั้นเทียบเท่าเพียง 1% ของปริมาณน้ำทั้งหมดที่ท่วมเมื่อปี 2554 โดยองค์กรอนุรักษ์ได้เชิญชวนให้ร่วมแชร์ภาพของสัตว์นานาชนิดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ในจำนวนภาพสัตว์ที่เผยแพร่นั้นมีทั้งภาพเสือโคร่ง กระทิง เสือลายเมฆ สมเสร็จ เสือดาวและเลียงผา และเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมาทางองค์กรอนุรักษ์นี้ก็ได้เผยแพร่วิดีโอจากกล้องดักถ่ายเผยภาพเสือโคร่งและลูกอีก 2 ตัว ซึ่ง ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน WWF ประเทศไทย กล่าวว่าภาพของเสือโค่งแม่ลูกเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันถึงความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์และป่าคลองลาน เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการเหยื่อมาก โดยเฉพาะช่วงมีลูกอ่อนยิ่งต้องการอาหารมากกว่าเดิม หากประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อไม่เพียงพอ
"ภาพเสือโคร่งแม่ลูกเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยัน ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์–คลองลาน เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการเหยื่อเป็นอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีลูกอ่อนยิ่งต้องการอาหารมากกว่าเดิมหลายเท่า ดังนั้น หากในพื้นที่อาศัยมีประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อไม่เพียงพอ แม่เสือโคร่งย่อมไม่สามารถเลี้ยงลูกให้อยู่รอดได้” ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน WWF ประเทศไทยให้ข้อมูลประกอบการเผยแพร่วิดีโอเสือโคร่งแม่ลูกเมื่อปีที่ผ่านมา
สำหรับทางออกนั้น WWF และองค์กรอื่นๆ ที่คัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการในการจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งด้วยวิธีอื่น เช่น เลือกสร้างเขื่อนนอกพื้นที่อนุรักษ์ เพราะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า จัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ และปรับปรุงระบบชลประทานและการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์กรอนุรักษ์หลายองค์กรได้ร่วมกันแถลงคัดค้าน การอนุมัติรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเหตุผลหลัก 8 ข้อ สรุปคร่าวๆ ดังนี้
1.รายงานดังกล่าวไม่จริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำโดยวิธีอื่นๆ โดยใช้วิธีทำให้ทางเลือกอื่นๆ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ 2.รายงานละเลยความสำคัญของป่าแม่วงก์ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และข้อมูลการสำรวจของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะข้อมูลการกระจายตัวของเสือโคร่งของ WWF, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทย 3.ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่ทั่วถึง 23 ตำบลตามที่ระบุในรายงาน และน้อยกว่าที่เข้าใจเมื่อพิจารณาถึงการสูญเสียป่าและงบประมาณในการก่อสร้าง 4.รายงานระบุชัดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด และสามารถรับน้ำจากน้ำท่วมเมื่อเทียบกับปี 2554 ได้เพียง 1%
5.ไม่มีมาตรการลดผลกระทบใดที่แน่ใจได้ว่าได้ผล เช่น การสร้างป่าทดแทนที่ไม่ระบุพื้นที่แน่ชัด หรือมาตรการป้องกันลักลอบตัดและล่าก็เป็นเพียงมาตรการให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเคร่งครัด 6.มีมติให้แก้ไขรายงานหลังการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อปลายปี 2555 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาข้อมุลผละผลกระทบเพิ่มเติมให้เสร็จภายในหนึ่งปี โดยเฉพาะการศึกษาระบบนิเวศของสัตว์ป่า 7.พื้นที่ชลประทานเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับคลองผันน้ำในโมดูล A5 ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและการจัดการน้ำที่ศึกษาไว้ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปจาก โครงการชลประทานเขื่อนแม่วงก์ และ 8.ปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างน่าสงสัย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: 8 เหตุผลคนอนุรักษ์ไม่เอา EHIA “เขื่อนแม่วงก์” )
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/wwfthailand