xs
xsm
sm
md
lg

“หาญณรงค์” ย้ำเขื่อนแม่วงก์ไม่แก้น้ำท่วม - “ศรีสุวรรณ” เตือนนายกฯ โดนหลายคดีหากยังเดินหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หาญณรงค์” ย้ำเขื่อนแม่วงก์ไม่ช่วยแก้น้ำท่วม เก็บป่าไว้ซับน้ำยังมีประโยชน์มากกว่า ชี้น้ำท่วมปี 54 ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ไม่เกี่ยวกับแม่วงก์เลย ส่วนปัญหาพื้นที่เกษตรขาดน้ำแนะให้สร้างฝายขนาดเล็กแทน ด้าน “ศรีสุวรรณ” หากหยุดเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ก็ไม่สามารถยับยั้งอีก 16 เขื่อนที่จะตามมาได้ เตือนนายกฯ หากยังเดินหน้าระวังเจอฟ้องอีกหลายคดี



วันที่ 23 ก.ย. นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ และนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี

โดยนายหาญณรงค์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า เป็นการแสดงออกที่บริสุทธิ์ ถ้ารัฐบาลไม่ฟังก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ในอดีตการสร้างเขื่อนขุนด่าน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเมื่อปี 2534 แต่กว่าจะได้สร้างเมื่อปี 2537 ใช้เวลา 3 ปีกว่าจะได้สร้าง เพราะมีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด แต่เขื่อนแม่วงก์นี้มีการรวบรัด ไม่ฟังใครเลย แล้วยังสร้างในอุทยานแห่งชาติอีก

รายงาน EHIA นี้ คณะผู้ศึกษาเข้าไปวันครึ่ง ไปถามเจ้าหน้าที่ว่ามีสัตว์อะไรบ้าง ทางเราก็ได้ถามกับทางอุทยานว่ามีผู้เชี่ยวชาญศึกษาเรื่องสัตว์โดยเฉพาะหรือเปล่า ทางอุทธยานบอกว่าแค่จ้างชาวบ้านมาลาดตระเวนเท่านั้น ฉะนั้นไปเดินถามเจ้าหน้าที่จะได้อะไร ส่วนการศึกษาเสือโคร่งทางกรมอุทยานฯ ก็ร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ WWF, WCS ศึกษามา 2 ปี มีรูปชัดเจนว่าเสือมีลายแบบไหน และเจอสัตว์อื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ด้วย มันมีการย้ายถิ่นของเสือผ่านบริเวณที่จะสร้างเขื่อน ฉะนั้นจะตอบสังคมโลกได้อย่างไร ในเมื่อรัฐมนตรีไทยเคยไปทำข้อตกลงร่วมกันในการทำการศึกษาการแพร่กระจายของเสือโคร่ง ประกาศเขื่อนแม่วงก์กับห้วยขาแข้งและป่าตะวันตกทั้งหมดเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของเสือตามธรรมาติ แล้ววันนี้ก็ประกาศสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติ

นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นบัฟเฟอร์โซนของห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นมรดกโลก ในนั้นมีป่าที่ราบที่อยู่ติดกับริมน้ำ ความสำคัญคือสัตว์จะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าป่าภูเขา แล้วป่านี้อุดมสมบูรณ์มาก เก็บไว้เป็นพื้นที่ซับน้ำจะมีประโยชน์มากกว่าสร้างเขื่อน

อย่าอ้างว่าช่วยป้องกันน้ำท่วม เพราะน้ำต้นเขื่อนมีประมาณ 250 ล้าน ลบ.ม. พอน้ำผ่านแม่วงก์มาต้องลงที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา การควบคุมน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องดูที่แม่น้ำปิงกับน่าน คือ เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ ควบคุมเขื่อนข้างบนให้ดีจะช่วยได้ ส่วนเขื่อนแม่วงก์นั้นการศึกษาบอกชัดเลยว่าไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเลย แล้วนายปลอดประสพบอกคนจะตายหมด มันไม่ใช่ มันมีทางเลือก ช่วยน้ำท่วมก็ควรเก็บป่าไว้ซับน้ำ หากต้องการน้ำทำการเกษตรตนแนะนำให้สร้างฝายขนาดเล็ก เลิกเถอะการสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติ ครั้งนี้อาศัยน้ำท่วมปี 54 เอามาอ้างให้ประชาชนยอม แต่เราอยู่กับข้อูลมา 10-20 ปี ทราบดีว่าแม้สร้างเขื่อนหมดน้ำก็ท่วม น้ำท่วมหรือไม่ขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำต่างหาก

ด้านนายศรีสุวรรณกล่าวว่า รายงาน EHAI ปัจจุบันไม่ได้ทำการศึกษาโดยตรง คือไม่ได้เข้าไปนับจำนวนสัตว์ในพื้นที่ แต่เอาข้อมูลเก่า 20 ปีก่อน สมัยยังไม่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติมาใส่ แล้วบางข้อมูลก็ไม่ปรากฏเลย เช่น จำนวนของเสือโคร่ง การขออนุญาตเข้าพื้นที่อุทยาน ต้องทำการขออนุญาต ทางสมาคมต้านสภาวะโลกร้อนก็ถามไปพบว่าอุทยานไม่เคยอนุญาตให้ใครเข้าไป ฉะนั้นเอาข้อมูลมาได้อย่างไร

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าวต่อว่า นายปลอดประสพบอกว่าจะปลูกป่าทดแทน 3 เท่า เป็นการโกหกมดเท็จ เพราะไม่มีพื้นที่ให้ปลูกแน่ เป็นแค่ข้ออ้างโฆษณาชวนเชื่อ แล้วที่ต้องหยิบเรื่องเสือขึ้นมา เพราะเสือเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ ถ้ามีเสือเยอะแสดงว่ามีสัตว์อื่นที่เป็นอาหารของเสือจำนวนมากด้วยเช่นกัน เสือจึงแพร่กระจายได้ อย่างที่ WWF และ WCS พบว่ามีเสือ 8-9 ตัว และมีเสือแม่ลูกอ่อนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งนายบรรหาร ศิลปอาชา ออกมาเห็นด้วยเพื่อแก้น้ำท่วม แต่นายบรรหารลืมคิดหรือเปล่าว่าปี 54 สุพรรณฯ ไม่ท่วมเพราะอะไร ทำให้อยุธยาและปทุมธานีน้ำตาตก ที่สำคัญป่าอนุรักษ์ประเทศไทยเหลือไม่ถึง 100 ล้านไร่ จากพื้นที่ 321 ล้านไร่ แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นป่าปลูก ป่าอนุรักษ์เหลือน้อยลงทุกที เขื่อนแม่วงก์นี้จะเป็นตัวแทนของการสร้างอีก 16 เขื่อนทั่วประเทศ ถ้าหยุดแม่วงก์ไม่ได้ก็จะไม่สามารถหยุดยั้งโครงการอื่นได้

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า รัฐบาลเอาน้ำท่วมปี 54 มาเป็นตัวประกัน แต่อย่าลืมตอนนั้นน้ำที่ไหลมาจากปิง วัง ยม น่าน ประมาณ 45,000 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับแม่วงก์เก็บน้ำได้เต็มที่ 250 ล้านลบ.ม. ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วมีข้อมูลสถิติว่าตรงนั้นมีแม่น้ำหลักๆ ทำเขื่อนอยู่แล้ว คือเขื่อนทับเสลา และคลองโพธิ์ เขื่อนทับเสลาในแผนบอกว่าเก็บน้ำได้ 160 ล้าน ลบ.ม. แต่เอาเข้าจริงเก็บได้แค่ 29 ล้าน ลบ.ม. ตรงนั้นเป็นเงาฝนไม่ได้ตกชุกมากมาย ส่วนแม่วงก์เอาเข้าจริงคงเก็บได้ประมาณ 100 กว่าล้าน ลบ.ม.เอง จะเทียบอะไรกับน้ำท่วมปี 54 เพียงแต่งบในการสร้างเขื่อน 1.3 หมื่นล้าน มันหอมหวลมากกว่า แล้วยังต้องสูญเสียพื้นที่ป่า 1.3 หมื่นไร่ เทียบเชิงเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ไม่คุ้ม

นอกจากนี้ ศาลปกครองได้สั่งให้การจัดรับฟังความคิดเห็น ต้องเอาแผนบริหารจัดการน้ำไปรับฟังแต่นี่เอาโมดูลทั้ง 9 โมดูล ที่ประมูลแล้วไปรับฟัง ซึ่งผิดจากคำพิพากษาศาล ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว หากรัฐบาลยังไม่ยอมทบทวนคงเป็นอีกหลายคดีที่จะตามมา

แล้ววันนี้สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ทบทวนและเพิกถอนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์เสีย หากยังเดินหน้า สมาคมฯ เตรียมอีกหลายคดีเพื่อฟ้องร้อง ไม่ได้ขู่ แต่เอาจริง เพราะเรื่องเหล่านี้ยอมไม่ได้



กำลังโหลดความคิดเห็น