ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในบรรดาป่าในเมืองไทยที่เคยไปตะลุยมา ผมยกให้การไปพิชิตยอดเขา“โมโกจู”แห่งผืนป่าแม่วงก์ เป็นทริปที่โหดหินที่สุด
แต่เมื่อขึ้นไปแล้วบอกได้เลยว่าบนนั้นสวยงามคุ้มค่าน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญเหนือไปกว่าการพิชิตยอดเขาก็คือการได้“พิชิตใจ”ตัวเองที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคขึ้นไปยืนบนนั้นได้
ทะเลบล็อกโคลี่
ยอดเขาโมโกจูมี“หินเรือใบ”เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของป่าแม่วงก์ ตั้งอยู่บนความสูง 1,964 เมตร จากระดับน้ำทะเล สามารถชมวิวได้ 360 องศารอบทิศทาง บนนี้นอกจากจะเป็นจุดชมทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกแล้ว ยังมี“ทะเลบล็อกโคลี่”ให้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน
ทะเลบล็อกโคลี่เป็นคำที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ใช้เรียกขานทิวทัศน์ของผืนป่ายามเมื่อมองลงมาจากยอดโมโกจู เพราะมันดูเขียวขจีมองไกลๆคล้ายแปลงบล็อกโคลี่ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่เต็มผืนป่าเบื้องล่าง แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์
ทะเลบล็อกโคลี่นับเป็นความภูมิใจของชาวพิทักษ์ป่าอช.แม่วงก์ที่สามารถดูแลรักษาป่าใหญ่ผืนนี้ให้คงความสมบูรณ์เอาไว้ให้ลูกหลาน
แต่ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นอย่างเลือดเย็น นอกจากความภาคภูมิใจของเหล่าพิทักษ์ป่าในอช.แม่วงก์จะถูกทำลายลงโดยอดีตเจ้านายเก่าของเขาแล้ว
นี่ยังถือเป็นโครงการการทำลายป่าครั้งมโหฬารอีกครั้งหนึ่งของเมืองไทย
เสือชุก
ตลอดเวลา 5 วัน 4 คืนในเส้นทางพิชิตยอดโมโกจู(เดินขึ้น 3 วัน ลง 2 วัน) ระหว่างทางขึ้น-ลง ผมได้พบกับร่องรอยของสัตว์ป่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เก้ง กวาง หมูป่า หมาใน เม่น กระทิง สมเสร็จ ช้าง โดยเฉพาะร่องรอยของเสือโคร่งที่ปรากฏให้เห็นกันชุกทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น “รอยตีน”ที่มีให้เห็นเป็นระยะๆและเยอะเป็นพิเศษที่โป่งสัตว์ “ขี้เสือ”ที่มีทั้งกองใหม่-เก่า ขี้กองใหม่บางกองสดถึงขนาดยังเปียกชื้นแถมยังมีขนและกีบของเหยื่อที่มันกินติดปนมาด้วย “รอยข่วน”ที่ทิ้งไว้ตามต้นไม้เพื่อประการศักดาและลับเล็บไปในตัว “สเปรย์”(กลิ่นพิเศษของเสือปล่อยออกมาคล้ายฉี่)ที่ปล่อยทิ้งไว้เพื่อแสดงอาณาเขต
อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่เรื่องชวนแปลกใจแต่อย่างใด เพราะป่าแม่วงก์ปัจจุบันถือเป็น “ดงเสือ”ที่สำคัญของเมืองไทย เนื่องจากที่นี่มีป่าดิบผืนใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า“อุ้มผาง”และป่ามรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า“ห้วยขาแข้ง” ซึ่งต่างชุกชุมไปด้วยสิงสาราสัตว์
โดยป่าแม่วงก์ปัจจุบัน จากการสำรวจของกรมอุทยานฯที่จับมือกับ WWF พบว่ามีเสือโคร่งมากถึง 11 ตัว นับเป็นเรื่องที่ชวนทึ่งไม่น้อยสำหรับป่าผืนนี้ เพราะในอดีตย้อนไปช่วงปี พ.ศ. 2543-2545 ผลการสำรวจไม่พบร่องรอยของเสือโคร่งเลย แต่กว่า 10 ปีผ่านมาที่นี่กลับมาเสือชุกอย่างไม่น่าเชื่อ นับเป็นผืนป่าที่หาไม่ได้ง่ายๆในโลกที่มีการเติบโตของประชากรเสือโคร่งอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
สำหรับเสือโคร่งถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะในระบบนิเวศของผืนป่า เสือเป็นสัตว์นักล่าที่ที่อยู่บนยอดพีรามิด เมื่อมีเสือชุกก็แสดงว่ามีสัตว์อาหารของเสือ อย่างเช่น เก้ง กวาง กระทิง มาก นั่นหมายความว่าป่าแห่งนั้นต้องมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ให้สัตว์ในห่วงโซ่อาหารดำรงคงอยู่ไปตามวิถีของมัน ดังคำกล่าวที่ว่า
“เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง”
นกยูงชุม
สำหรับจุดที่คาดว่าจะถูกใช้สร้างเป็นสันเขื่อนแม่วงก์นั้นอยู่ที่ “แก่งลานนกยูง” แห่งป่า“แม่เรวา” ที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าแม่วงก์ ซึ่งนักการเมืองผู้ต้องการสร้างเขื่อนบางคนอ้างว่า บริเวณนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ความจริงที่นี่ยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่มากหลาย โดยเฉพาะต้นกระบากยักษ์ อายุกว่า 200 ปี วัดรอบลำต้นได้กว่า 600 เซนติเมตร
นอกจากนี้ที่แก่งลานนกยูงยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยอันสำคัญของ“นกยูง” อีกหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ซึ่งบริเวณนี้คือถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของนกยูง ดังจะเห็นได้จากชื่อแก่งลานนกยูงที่เรียกขานมาแต่ช้านาน แต่หลังจากที่ป่าแห่งถูกผู้คนบุกรุก มีการฆ่า ทำร้าย และทำลายแห่งอาหารนกยูง ทำให้นกยูงตามธรรมชาติสูญหายไปเป็นจำนวนมาก
กระทั่งเมื่อมีการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผืนป่าค่อยๆฟื้นคืนมา นกยูงก็เริ่มกลับมา กอปรกับมีการนำนกยูง(ป่า)ที่คนซื้อไปเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่ป่า ก็ทำให้นกยูงปล่อยไปรวมกับนกยูงป่ากลายเป็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ออกหากินตามธรรมชาติ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะป่าด้านนอกแม้เพิ่งฟื้นตัวแต่ป่าด้านในนั้นสมบูรณ์มาก
นกยูงที่แม่เรวาส่วนใหญ่เป็นนกยูงไทย อีกหนึ่งพันธุ์สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ของโลกพบในไม่กี่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันที่ป่าแม่เรวามีการสำรวจพบนกยูงอาศัยอยู่ประมาณ 20 ตัว แบ่งเป็น 2 ฝูง ฝูงละประมาณ 10 ตัว แต่ละฝูงมีตัวผู้ 1 ตัวเป็นหัวหน้าฝูง
เหตุที่บริเวณนี้เป็นถิ่นอาศัย แหล่งหากินของนกยูงมานับแต่อดีต เพราะมีลำน้ำแม่เรวาใสสะอาด มีลานหิน หาดทรายเป็นแหล่งลงมาหากิน และมีต้นไม้ใหญ่ให้พวกมันได้อาศัยหลับนอน
ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนขึ้นนกยูงเหล่านี้ไม่รอดแน่ เพราะพวกมันไม่สามารถบินสูงพอที่จะหนีมวลน้ำมหาศาลที่ท่วมสูงนับสิบเมตรได้ อีกทั้งแหล่งหากินของพวกมันยังถูกทำลายลงไปอีกด้วย
ป่าสมบูรณ์
ป่าแม่วงก์มีเนื้อที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ กำแพงเพชร 279,050 ไร่ และนครสวรรค์ 279,700 ไร่ ป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งถ้าเชื่อมรวมกับผืนป่าในพม่าที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ป่าใหญ่ผืนนี้คือป่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นป่าใหญ่ในอันดับต้นๆของเอเชีย
ป่าแม่วงก์มีสภาพของผืนป่าอันหลากหลาย อาทิ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขาสูง หรือป่าเมฆ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง อีกทั้งยังมีป่าสักธรรมชาติผืนใหญ่ มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 549 ชนิด นอกจากเสือโคร่ง นกยูงแล้ว แม่วงก์ยังมีสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์อย่าง สมเสร็จ เลียงผา และเก้งหม้อ และสัตว์หายากอย่าง ช้าง กระทิง วัวแดง เสือดาวเสือดำ หมีหมา หมีควาย เป็นต้น
ขณะที่ปลามี 64 ชนิด ส่วนนกที่นี่ก็มีมากถึง 305 ชนิด 53 วงศ์ นับเป็นแหล่งดูนกชั้นดีในอันดับต้นๆของเมืองไทย มีนกสำคัญหายากใกล้สูญพันธุ์ อย่าง นกเงือกคอแดง นกกก นกเงือกสีน้ำตาล นกลุมพูแดง นกกระทุง นกกระเต็นขาวใหญ่ เป็นต้น สำหรับนกในตระกูลนกเงือกนั้นคืออีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะนกเงือกต้องอาศัยต้นไม้ใหญ่เป็นบ้านอยู่อาศัย
นับเป็นความหลากหลายทางชีวภาพของป่าแม่วงก์ ที่ในรายงาน EHIA กลับบอกว่าเป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีแต่สัตว์เลื้อยคลาน ที่สำคัญคือสำรวจมาได้ว่าป่าแม่วงก์ไม่มีเสือ งานนี้สงสัยจะต้องให้ทีมสำรวจไปนอนในป่าสัก 3-4 คืน ณ บริเวณทางเสือผ่าน ที่ทางอุทยานฯตั้งกล้องอินฟาเรดบันทึกภาพเสือไว้ เผื่อจะได้เจอเสือตัวเป็นให้เผ่นกันป่าราบบ้าง
ทำลายป่า สร้างเขื่อน
จะเห็นได้ว่าป่าแม่วงก์เป็นป่าที่มีความหลากหายทางชีวภาพ มีทั้ง ป่าสมบูรณ์ สัตว์อุดม ไม่ใช่พื้นที่ปลอดสัตว์ที่จะให้ใครบางคนมาหาผลประโยชน์สร้างเขื่อนแล้วโกงกินกันสะดือปลิ้น ซึ่งโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่ได้มีเพิ่งไอเดียบรรเจิดมาในปีนี้ หากแต่มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2528
แต่หลังจากการศึกษาผลดีผลเสียนับ 10 ปี ในปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น ทำให้โครงการนี้ต้องพับไว้
จนกระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับจับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นมาเป็นตัวประกันปลุกผีโครงการ ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาใหม่ โดยมีมติ ครม.ในวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม
สำหรับโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในช่วงปี 2528 กรมชลประทานเสนอใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 3,187 ล้านบาท มีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พอมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 2555 กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างไปถึง 13,000 ล้านบาท และมีการผลักดันอย่างสุดลิ่มอันเนื่องมาจากรัฐบาลมีอภิมหาโปรเจคเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดีจากข้อมูลเชิงวิชาการและเชิงคุณภาพนั้นชี้ชัดว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นได้ไม่คุ้มเสีย
ถ้ามีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้าน เราจะได้พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวที่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 2% แต่เราจะต้องสูญเสียพื้นที่กักเก็บน้ำถาวรคือป่าแม่วงก์ไป 13,000 ไร่ เป็นต้นไม้ใหญ่ราว 500,000 ต้น และเป็นไม้สักราว 50,000 ต้น(แม่วงก์มีป่าสักธรรมชาติผืนใหญ่เป็นอันดับสองรองจากแก่งเสือเต้น) ที่ก็ไม่รู้ว่าไม้สักนี้จะถูกแปรเป็นเงินเข้ากระเป๋าใคร
สูญเสียพื้นที่ที่สามารถดูดซับคาร์บอนประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน ซึ่งหากคิดจะปลูกป่าทดแทนต้องใช้เวลาหลายสิบปี และจะเอาพื้นที่ตรงไหนมาปลูก นอกจากนี้สัตว์ป่าจำนวนมากคงต้องสูญหาย ล้มตาย ปลาจำนวนมากต้องตายลง เพราะมีปลาเพียง 8 ชนิด จาก 64 ชนิดที่สามารถผสมพันธุ์ในน้ำนิ่งเหนือเขื่อนได้
สู้นำเงินนับหมื่นล้านที่จะใช้สร้างเขื่อนไปพัฒนาลุ่มน้ำ พัฒนาแก้มลิง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายชุมชน และมาใช้ลงทุนในการบริหารจัดการน้ำตามที่มีผู้เชี่ยวชาญได้สำรวจ วิจัย นำเสนอข้อมูลไว้แล้วเป็นอย่างดี
นอกจากนี้การที่โครงการเขื่อนแม่วงก์ยังไม่ผ่านความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และมีปัญหาไม่โปร่งใสในเรื่องการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)นั้น ได้นำให้ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กับแนวร่วมออกมาคัดค้านต้าน EHIA และการสร้างเขื่อนแม่วงก์ด้วยการเดินเท้า 388 กิโลเมตร จากแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ
งานนี้แม้สื่อกระแสหลัก สื่อฟรีทีวี จะตายด้านต่อปรากฏการดังกล่าว แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ค่อยๆบ่มเพาะก่อตัวจากในโลกออนไลน์ และสื่อกระแสรอง ทำให้กระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ถูกขยายแนวร่วม สังคมเริ่มรับรู้กันในวงกว้าง
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะออกมาคัดค้านไม่เอาเขื่อนแม่วงก์
“หยุดเขื่อน No Dam!!!” คือเสียงที่ผู้ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ส่งสารให้สังคมรับรู้
ส่วน “Damn It !!!” คือถ้อยคำที่ใครหลายๆคน ฝากส่งไปให้กับนักการเมืองชั้นเลวบางคนที่กระเหี้ยนกระหือรือ จ้องจะทำลายผืนป่าแม่วงก์