ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การตัดสินใจทูลเกล้าฯการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ล่วงหน้าแค่วันเดียวก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ยื่นเรื่องต่อศาลฯให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กลายเป็นแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตามจารีตประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติไม่มีผู้นำประเทศไทยคนไหนเขาทำกัน แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับดันทุรังทำโดยไม่ฟังเสียงใครเพื่อที่จะเอาให้ได้
กระทั่งกลายมาเป็นข้อสงสัยของสังคมว่า การกระทำของเธอที่มีพี่ชายจากดูไบเป็นผู้ไขลาน สร้างแรงกดดันจนส่งผลต่อการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในวันถัดมาหลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ นำเรื่องยื่นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรธน. เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 56 ว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรธน. มีคำสั่งยกคำร้องกรณีที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก และนายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับพวก ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่ของ ส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาวาระ 3 เป็นโมฆะ และกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินสั่งห้ามนายกรัฐมนตรีไม่ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ
เหตุผลก็คือ เนื่องจากศาลฯ เห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ศาลฯ เคยพิจารณาและมีคำสั่งยกคำขอแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลฯ จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใดๆ ไปยังนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งให้รับคำร้องของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงมติแทนกันของสมาชิกรัฐสภา ที่นายพีระพันธุ์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง โดยให้รวมเข้าไปในสำนวน และให้นายพีระพันธุ์ ทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและผู้เกี่ยวข้องได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
หมายความว่า ถึงแม้ศาลรธน.จะยกคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว. และไม่ห้ามนายกรัฐมนตรียื่นทูลเกล้าฯ แต่ศาลก็รับคำร้องของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงมติแทนกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเมื่อศาลรธน.รับวินิจฉัยแล้วก็ต้องรอติดตามดูผลที่ออกมาว่าจะเป็นเช่นใด และหัวใจสำคัญในการวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จะเป็นโมฆะหรือไม่ ก็อยู่ที่คำร้องนี้
“ท่านนายกรัฐมนตรีคิดอย่างไรถึงได้เอาเรื่องที่ยังมีปัญหาอยู่ ไปทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ทำอย่างนี้มันกดดันศาลนะ ทางด้านศาลก็มีความรู้สึกว่า ในเมื่อเขาทูลเกล้าฯ ไปแล้ว เราจะทำอย่างไรดี ขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันทางสถาบันด้วย เพราะเรื่องยังอยู่ที่ศาล แล้วจะทำอย่างไรดี มันเป็นปัญหาทั้งนั้น” นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกต
การกระทำเช่นนี้ถึงจะมีข้อท้วงติงและสงสัยกันต่างๆ นาๆ แต่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่า ขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบและยืนยันว่าถูกต้องตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ยิ่งมีลิ่วล้อสอพลออยู่ข้างๆ สร้างความมั่นใจให้ด้วยแล้ว นายกรัฐมนตรี จึงไม่ลังเลที่จะเดินหน้าทูลเกล้าฯ โดยไม่รีรอ
“....คณะกรรมการกฤษฎีกามีความชัดเจนว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ อีกทั้งนายกฯ ไม่มีทางเลือก เพราะเมื่อรัฐสภาได้พิจารณาเสร็จสิ้น นายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน....” “.... ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นที่แตกต่าง เราก็ต้องมาพิจารณากันว่า คำวินิจฉัยนั้นเป็นอย่างไร เพราะการตีความกฎหมายนั้นมีหลากหลาย แต่ผมคิดว่าไม่ว่าใครจะตีความกฎหมายอย่างไร ก็ต้องทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ อย่าให้ประเทศถึงทางตัน” นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ด้วยท่วงทำนองขู่สำทับศาลอยู่ในที
นั่นเป็นภาพสะท้อนชัดว่า นายกรัฐมนตรีของไทย ชื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ สะกดคำว่า “เหมาะสม” ไม่เป็น เพราะแม้จะยืนยันว่าถูกกฎหมาย แต่สมควรดูด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่จะนำเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ไปทูลเกล้าฯ เป็นการดึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาตัดสินพระราชหฤทัยว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะออกมาทางไหนก็มีปัญหา
อาการทำทีไร้เดียงสาเหมือนไม่รู้ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาเกิดการเผชิญหน้ากันขึ้น หรือความจริงแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ เธออาจไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามขอให้เป้าหมายการเข้าครอบงำสองสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภาอยู่ในมือเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะสั่งซ้ายหันขวาหันก็ได้ดั่งใจนึกสมใจพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำตัวเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไทยตัวจริง ก็เป็นพอ
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามต่อว่า หลังจากยื่นทูลเกล้าฯ แล้วหากยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 151 กำหนดไว้ว่า หลังจากพ้น 90 วัน หากไม่พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องนำร่างกฎหมายนั้นมาปรึกษากันใหม่ หากมีมติยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง เมื่อพระมหากษัตริย์ มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยใน 30 วัน ให้นายกฯประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งหากต้องเดินจนสุดทางเช่นนี้ จะเท่ากับเป็นการท้าชนสถาบันหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ และพี่ชายย่อมรู้อยู่แก่ใจ
เรื่องนี้ พี่น้องชินวัตร ก็อาจจะคิดว่านี่เป็นการลงทุนที่คุ้มเกินคุ้ม เพราะถ้าแก้ที่มาของส.ว.ได้ ก็เท่ากับยึดกุม “สภาขี้ข้า” เปรียบได้กับเหมือนมี “มาสเตอร์คีย์” เป็นกุญแจปลดล็อก ทำอะไรได้ตามต้องการ การอ้างว่านี่เป็นเรื่องของสภา นี่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แยกออกจากกันและไม่ก้าวก่ายกันเป็นแต่เพียงทฤษฎีเท่านั้น เพราะอย่างที่รู้กันว่าตอนนี้สองเสาหลักประชาธิปไตย คือ บริหารและนิติบัญญัติ ตกอยู่ใต้อำนาจของใคร เหลือแต่เพียงเสาหลักตุลาการหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่สามารถเข้ามาครอบงำได้เบ็ดเสร็จ
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาโดยตรงทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์อาจฟังดูดี มีประชาธิปไตยเต็มร้อย ปวงชนชาวไทยมีสิทธิมีเสียงเลือกตัวแทนทั้งสภาสูงและสภาล่าง แต่ระบบการเลือกตั้งที่ยังตกอยู่ภายใต้วังวนอุบาทว์สามานย์เต็มไปด้วยการทุจริต ซื้อเสียง ข่มขู่คุกคามอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ เป็นการยากที่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะพัฒนาไปได้
ยิ่งถ้าหากพี่น้องชินวัตร ประสบความสำเร็จในการแก้ไขที่มาของส.ว. ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ส.ว.จากการเลือกตั้งกลายมาเป็น “ขี้ข้า” เป็นสภาฝักถั่ว เพราะมีโอกาสสูงที่พรรคการเมืองใหญ่จะส่งคนไปเลือกตั้ง และเข้าควบคุมเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและเสียงวุฒิสภา การยึดกุมอำนาจของพรรคการเมืองใหญ่ก็จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น อำนาจของวุฒิสภาในการตรวจสอบ ถอดถอน แต่งตั้ง ก็จะไม่หลงเหลือ
เพราะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าอำนาจของวุฒิสภานั้นกว้างขวางเพียงใด นอกจากทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลรธน., ตุลาการศาลปกครอง, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.), อัยการสูงสุด, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการสิทธิมนุษยชน, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ และเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ ไม่นับอำนาจในการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานศาลทุกศาล ผู้พิพากษา อัยการ ฯลฯ
นั่นหมายความว่าหากแก้ไขรธน.ว่าด้วยที่มาของส.ว.สำเร็จ วุฒิสภาซึ่งมีอำนาจกว้างขวางก็จะไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร สภาพของ "สภาทาส" หรือสภาขี้ข้า ที่เคยเป็นในยุคที่นายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธานวุฒิสภา ก็จะกลับมาอีกครั้ง หรือปัจจุบันที่นายนิคม ไวรัชพานิช เป็นประธานวุฒิสภา ก็กำลังเห็นภาพชัดเจนขึ้น และมีแนวโน้มหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ถึงวันนั้น ประชาชนชาวไทย (เฉย) ก็จะได้เห็นพี่น้องชินวัตรยึดครองประเทศไทย ยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งกว่าที่เห็นและเป็นอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ไม่รู้อีกกี่ร้อยกี่พันเท่า